xs
xsm
sm
md
lg

กู้ซากไปจากป่าปาปัวนิวกินี มิตซูบิชิ Zero กำลังจะขึ้นบินอีกครั้งในญี่ปุ่นบ้านเกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<FONT color=#000033>ภาพในเฟซบุ๊กบริษัท Zero Enterprise Inc (Japan) วันที่ 14 ก.ค. .. หมายเลข A1-112 จอดในโรงเก็บ ที่ฐานทัพอากาศคาโนยะ (Kanoya) จ.คาโกชิมา (Kagoshima) หันหน้าออกสู่ภายนอกที่เวิ้งว้าง บริษัทฯ ดำเนินการขออนุญาตต่อทบวงป้องกันตนเองของญี่ปุ่น เพื่้อให้ A6M5 ลำนี้ขึ้นบินในบ้านเกิดเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ถูกยิงตกในปาปัวนิวกินี ในช่วงสงครามเอเชียบูรพา ก่อนนำซากไปซ่อมแซมและฟื้นฟูในสหรัฐ จนกระทั่งบินได้อีกครั้ง มิตซูบิชิซีโร่ลำนี้ถูกแยกชิ้น นำกลับสู่ญี่ปุ่นปลายปี 2557 .. พร้อมแล้วที่จะขึ้นบิน. </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งกำลังเตรียมการยื่นขออนุญาตต่อทางการ เพื่อนำเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด มิตซูบิชิ “ซีโร่” (Zero) แบบใบพัดเครื่องยนต์ลูกสูบ ที่ทำให้ราชนาวีในสมเด็จพระจักรพรรดิโด่งดั่งไปทั่วโลก เมื่อครั้งมหาสงครามในแปซิฟิก ให้ขึ้นบินอีกครั้งหนึ่งในแผ่นดินเกิด ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของเครื่องบินลำนี้ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

บริษัท ซีโร่ เอ็นเตอร์ไพรส์ อินซ์ (Zero Enterprise Inc) กล่าวว่า ผู้ที่ดำเนินการในเรื่องนี้กำลังจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นต่างๆ เพื่อยื่นขออนุญาตต่อทบวงป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ถึงแม้จะมีความเป็นได้เช่นกันที่หน่วยงานดังกล่าว ซึ่งก็คือ กระทรวงกลาโหม อาจจะไม่อนุญาต เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอสมควร

มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ข่าวการบินหลายแห่ง ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซีโร่ ที่ติดหมายเลขหาง A1-112 ส่งจากสหรัฐฯ ถึงญี่ปุ่นเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อภารกิจทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ลำ ที่ซ่อมแซมขึ้นใหม่ จนกระทั่งสามารถบินได้ในขณะนี้

ตามรายงานเว็บไซต์ บริษัท ซีโร่ เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ เครื่องบินขับไล่วิถีไกลของมิตซูบิชิลำนี้ พบซากอยู่ในประเทศปาปัวนิวกินี ในทศวรรษที่ 1970 จากนั้นได้นำไปยังเมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา สหรัฐฯ วิศวกรเครื่องบิน กับช่างเทคนิคใช้เวลาหลายพันชั่วโมงทำทุกอย่างเพื่อให้กลับมาบินได้อีกครั้งหนึ่ง เจ้าของคนปัจจุบันชาวญี่ปุ่น ซื้อ A1-112 ลำนี้ เมื่อปี 2008 แต่ก็ยังเก็บไว้ที่แองเคอเรจ ต่อมา จนกระทั่งนำขึ้นเรือกลับบ้านเกิดในช่วงปลายปี 2557
.
鹿児島二日目

水平尾翼の仮止め

Posted by 零式艦上戦闘機 里帰りプロジェクト on Tuesday, December 9, 2014

.
บริษัท ซีโร่ เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ กำลังรวบรวมเอกสารหลักฐานทุกอย่างจากเจ้าของเพื่อยื่นต่อทบวงป้องกันตนเอง ขออนุญาตนำขึ้นบินในโอกาสที่จะมีการรำลึกครบรอบปีที่ 70 การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกันกับสงครามในแปซิฟิก และสงครามเอเชียบูรพา

ปัจจุบัน มีเครื่องบินซีโร่ ที่ยังบินได้อยู่ทั่วโลกเพียง 6 ลำเท่านั้้น รวมทั้งเจ้า A1-112 ด้วย ก่อนหน้านี้เคยมีซีโร่ 2 ลำ ขึ้นบินในญี่ปุ่นมาก่อน นั่นคือ ในทศวรรษที่ 1970 และทศวรรษที่ 1990 หรือเมื่อสัก 20-30 ปีที่แล้ว ซึ่งดูจะเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินสงครามอันเป็นตำนาณคู่ญี่ปุ่นขึ้นบินในบ้านเกิดในช่วงหลังสงครามโลก

นี่คือเครื่องบินรบที่ก้าวหน้าที่สุดของโลกในยุคหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสังกัดราชนาวีในสมเด็จพระจักรพรรดิ กลุ่มอุตสาหกรรมมิตซูบิชิ เป็นผู้ออกแบบและสร้าง โดยร่วมกับบริษัทนากาจิมะ (Nakajima) ในช่วงแรกๆ ก่อนจะแยกกันเดิน และมิตซูบิชิฉายเดี่ยวผลิตต่อมาจนถึงรุ่นสุดท้าย ซีโร่ A6M5 เพื่อใช้บนเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่นากาจิมา ยังคงทำออกมาอีกในช่วงหลังๆ จนถึงรุ่น A6M8

ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการบินของประเทศนี้ บันทึกเอาไว้ว่า ทั้งมิตซูบิชิฯ และนากาจิมา ทำซีโร่ ออกมาทั้งหมด 10,938 ลำ และถูกใช้ไปเกือบทั้งหมดในสงคราม และใช้สิ้นเปลืองมากในช่วง “สงครามพลีชีพ” หรือ “คามิคาเซ”
.

.

.

.

.
อย่างไรก็ตาม ยังมีซีโร่อีกจำนวนหนึ่งที่ถูกจับยึดเป็นสินสงครามในไต้หวัน ในอินโดนีเซีย และ นักวิชาการชาวตะวันตกบางคนเคยเขียนเอาไว้ว่า ในช่วงหลังสงครามเอเชียบูรพา กองทัพอากาศไทยก็เคยมีเครื่องบินรบรุ่นนี้ใช้ด้วย

ซีโร่ ทุกลำที่ยังบินได้นี้ล้วนเป็นของราชนาวีในสมเด็จพระจักรพรรดิ ที่เคยมีกองเรือใหญ่โต ที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินกว่า 10 ลำ ซีโร่ เปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือน มี.ค. ค.ศ.1939 และนำออกปฏิบัติการเป็นครั้งแรกในเดือน ก.ค.1940 ในการโจมตีเป้าหมายจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นปกครองโดยจีนคณะชาติ และจนถึง ก.ค.ปีนี้ ก็ 75 ปี พอดี

เมื่อญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล ในมลรัฐฮาวาย ซึ่งเป็นฐานทัพเรือใหญ่สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.1941 อันเป็นการจู่โจมแบบสายฟ้าแลบนั้น ญี่ปุ่นระดมซีโร่ทุกรุ่นราว 400 ลำ ออกปฏิบัติการจากเรือบรรทุกเครื่องบินในมหาสมุทรแปซิฟิก และซีโร่ที่ยังบินได้ก็ได้กลายเป็นดารารับเชิญในภาพยนตร์ Pearl Harbour ในยุคใหม่

ตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา ฝ่ายสัมพันธมิตรในแปซิฟิก ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะจับซีโร่แบบ “ตัวเป็นๆ” ให้ได้สักลำ และทำได้สำเร็จในปี 1942 นำกลับไปศึกษาในสหรัฐฯ ซึ่งได้พบจุดอ่อนมากมายที่นำไปสู่จุดจบของซีโร่ในสงครามแปซิฟิก

มิตซูบิชิ กับนากาจิมา ออกแบบซีโร่ให้เป็นเครื่องบินที่มีน้ำหนักเบา โดยยอมแลกกับการติดอาวุธได้น้อยลง เพื่อให้สามารถออกปฏิบัติระยะไกลข้ามมหาสมุทรได้ ให้เป็นเครื่องบินที่มีความเร็วสูง (570 กม./ชม.) คล่องตัวสูง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในยามพันตูกลางอากาศกับฝ่ายตรงข้าม
.
กลับคืนถิ่นกำเนิด Zero Enterprise Inc (Japan)

2

3

4

5
อาวุธประจำกายของซีโร่ก็จึงมีเพียงปืนกลอากาศ ขนาด 7.7 มม. จำนวน 2 กระบอก ที่ติดเอาไว้ข้างๆ กรอบเหล็กรัดเครื่องยนต์ ต่อมา ในซีโร่รุ่นหลังๆ จึงมีการติดปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม. ไว้ที่ปีกทั้งสองข้างอีก 2 กระบอก และติดระเบิดขนาด 130 ปอนด์ใต้ปีก จำนวน 2 ลูก เมื่อต้องปฏิบัติภารกิจโจมตีทิ้งระเบิดเป้าหมายสำคัญทางพื้นดิน

จุดอ่อนสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ฝ่ายสหรัฐฯ ค้นพบก็คือ ซีโร่ไม่มีเกราะหุ้มตามจุดสำคัญต่างๆ แม้แต่แห่งเดียว รวมทั้งห้องนักบินด้วย ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ให้เครื่องบินเบาให้มากที่สุด ในขณะที่นักบินหาได้ไม่ยาก

จุดอ่อนของซีโร่ ทำให้บริษัทกรัมแมน (Grumman) แห่งสหรัฐฯ สร้าง F6F “เฮลแค็ท” (Hellcat) ออกมา โดยติดเครื่องยนต์ R-2800 ขนาด 2,000 แรงม้า ของแพร็ต แอนด์ วิตนีย์ (Pratt & Whitney) ทำความเร็วได้ 621 กม./ชม. แรงกว่า เร็วกว่า และเหนือกว่าซีโร่ ที่ติดเครื่องยนต์นาคาจิมา เพียง 1,130 แรงม้าเท่านั้น

ไอ้ “แมวนรก” ยังติดปืนกลอากาศ 12.7 มม. ถึง 6 กระบอก อัดกระสุนเต็มๆ รวมกันกว่า 2,000 นัด หรือติดปืนใหญ่อากาศ 20 มม. จำนวน 2 กระบอก กับปืนกล 12.7 มม. อีก 4 กระบอก ซ้ำยังอัดระเบิด และจรวดได้อีกกว่า 1.8 ตัน รวมทั้งตอร์ปิโดสำหรับยิงเรือด้วย

เฮลแค็ท ออกปฏิบัติการในปี 1943 เพียงไม่นานก็ทำให้สหรัฐฯ กลับเป็นฝ่ายครองน่านฟ้าเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกอีกครั้ง และเมื่อเข้าสู่ยุคตกต่ำสุดขีด ซีโร่ก็จึงถูกระดมไปปฏิบัติการแบบพลีชีพ โดยติดระเบิดไอ้อ้วนขนาด 550 ปอนด์ พุ่งเข้าชนเรือรบของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ สร้างตำนานใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทางฝั่งแปซิฟิก

แม้ในวาระสุดท้าย.. มิตซูบิชิซีโร่ก็ยังสามารถสร้างความสูญเสียให้ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมากมายสุดคณานับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น