ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วันนี้อาจจะยังไม่มีรถถังยี่ห้อฮอนด้าออกมาแล่น แต่ญี่ปุ่นก็มีรถถังหลักอย่างน้อย 2 รุ่น ที่ติดอันดับ “ท็อปเท็น” ของโลก และอย่างน้อยที่สุดเมื่อไม่นานมานี้บริษัทฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่น ก็ผลิตเครื่องบินเล็กออกมาเป็นรุ่นแรก แต่ประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดแห่งเอเชีย มีมากมายยิ่งกว่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย ปัจจุบันดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัยได้กลายเป็นแหล่งผลิตอาวุธชั้นนำอย่างไม่รู้เนื้้อรู้ตัว และเรื่องที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าก็คือ ญี่ปุ่นอาจจะส่งออกอาวุธได้เป็นครั้งแรกในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในภูมิภาคแบบกู่ไม่กลับ
เว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงนี้ และจับตาการพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมของญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น หลายคนเชื่่อว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ “เมดอินแจแปน” สามารถที่จะกลายเป็น “เกมเชนเจอร์” ได้ในที่สุด กลายเป็นทางเลือกของบรรดาประเทศที่กำลังแสวงหาอาวุธในภูมิภาคนี้ ต่อหน้าสิ่งที่เรียกว่า “ภัยคุกคามจากจีน”
หลายสำนักกำลังเฝ้าติดตามความคืบหน้าการเจรจาความตกลงระหว่างออสเตรเลียกับญี่ปุ่น เกี่ยวกับการซื้อ/ร่วมสร้างเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล-มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 4,000 ตัน รุ่นหนึ่ง ที่เป็นกำลังหลักของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นในปัจจุบัน และว่ากันว่าเป็นเรือดำน้ำทันสมัยที่สุดชั้นหนึ่งของโลกในระดับเดียวกัน
.
.
.
.
.
สองฝ่ายเจรจาติดพันกันมาตั้งแต่ปี 2556 และถ้าหากบรรลุผลก็อาจจะหมายความว่า ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไปจนถึงอินเดีย กับใครต่อใครทีเป็นมิตรประเทศก็สามารถซื้อมัจจุราชใต้น้ำชั้นโซรียู (Soryu) “มังกรเขียว” ได้เช่นเดียวกัน ไม่ต่างกับเครื่องบินตรวจการณ์-ปราบเรือดำน้ำ รถถัง รวมทั้งเรือพิฆาต และระบบจรวดนำวิถี “เมดอินแจแปน” อีกหลากหลายยี่ห้อ
.
“ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็คือ ราชนาวีไทยเคยมีกองเรือดำน้ำก่อนใครๆ ในภูมิภาคนี้ เคยมีถึง 4 ลำ เป็นเรือชั้น “มัจฉานุ” และเรื่องราวที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบันอย่างบังเอิญก็คือ เรือทั้ง 4 ลำต่อโดยมิตซูบิชิ แห่งญี่ปุ่น ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1930” |
.
2
วันศุกร์ 27 ก.พ. ที่เพิ่งจะผ่านมาหยกๆ เรือพิฆาตของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น 2 ลำ เพิ่งถอนสมอจากจากท่าเรือคลองเตยของไทย หลังจอดที่นั่นเป็นเวลาหลายวัน ให้เจ้าหน้าที่ราชนาวีไทย และประชาชนทั่วไปสามารถขึ้นชมได้
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งไม่ได้มองแต่เพียงผิวเผินว่า การเยือนสันถวไมตรีไทยของเรือชั้นฮัตสุยุกิ (Hatsuyugi) กับเรือชั้นอาซากิริ (Asagiri) เป็นแค่กำหนดการที่เตรียมกันมาล่วงหน้าปราศจากวาระซ่อนเร้น แต่มองว่า เรือพิฆาตทั้ง 2 ลำแล่นเข้ามาโบกธงในทะเลอ่าวไทย และภูมิภาคนี้ ในขณะที่หลายประเทศรวมทั้งไทย อยู่ระหว่างจัดหาเรือฟริเกตอีก 2-3 ลำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง
ทั้ง 2 ชั้นเป็นเรือพิฆาตติดจรวดนำวิถีรุ่นเล็กที่สุดของนาวีญี่ปุ่น ถ้าหากจะเรียกเป็นเรือฟริเกตก็ไม่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือฮัตสุยูกิ ที่มีระวางขนาด 4,000 ตันเท่านั้น กองกำลังทางเรืออันใหญ่โตของญี่ปุ่น ยังมีเรือพิฆาตอีกหลายชั้นรวมจำนวนกว่า 30 ลำ ตั้งแต่เล็กสุด จนถึงขนาด 5,000-7,000 ตัน และ 9,000-10,000 ตัน นั่นก็คือ ระดับเรือลาดตระเวน (Cruiser) ซึ่งเป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐฯ และยังเป็นเรือรบที่น่าเกรงขามที่สุดของโลกอีกด้วย
แล้วเหตุไฉนญี่ปุ่นจึงไม่เรียกเรือรบขนาดใหญ่ของตัวเองเป็น “เรือลาดตระเวน” อย่างชาวบ้านเขา? คำตอบก็คือ ไม่สามารถจะทำให้เรือเหล่านั้่นเป็นเรือรบที่ติดอาวุธโจมตีระยะไกลได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญแนวสันติที่ใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่อนุญาตให้รัฐบาลสร้าง/ผลิต มีไว้ในครอบครอง รวมทั้งห้ามส่งออกอาวุธเพื่อใช้ในการโจมตีทุกชนิด
.
ปัจจุบัน ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นหลากหลายยี่ห้อ รถปิกอัพจากที่นี่ส่งขายไปทั่วโลก เป็นไปได้หรือไม่ในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกล โรงงานสักแห่งหนึ่งในประเทศไทย จะเป็นศูนย์การประกอบรถถังหลัก Type 90 หรือไม่ก็ Type 10 “ฮิโตมารุ” (Hitomaru) ของกลุ่มมิตซูบิชิ |
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อความขัดแย้งกรณีเกาะเซ็นกากุ (หรือ “เตี่ยว-อวี้” ที่ฝ่ายจีนเรียก) ปะทุขึ้น ก็ทำให้รัฐสภาต้องตีความรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง และยังจะมีการตีความกันอีกหลายครั้งเกี่ยวกับนิยามของ “อาวุธป้องกัน” และ “อาวุธโจมตี”
กองกำลังนาวีญี่ปุ่น ยังมีเรือพิฆาตอีกชั้นหนึ่งที่ติดระบบเรดาร์/ระบบอาวุธเอจิส (AEGIS) สุดทันสมัย ทัดเทียมกับรุ่นที่ติดตั้งบนเรือพิฆาตชั้นอาร์ลีห์เบิร์ก (Arleigh Burke-class) และเรือลาดตระเวนชั้นติคอนดีโรกา (Ticonderoga-class) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และยังติดจรวด SM-3 ที่ยิงทำลายขีปนาวุธโจมตีพิสัยกลาง-ไกลของจีน และเกาหลีเหนือได้ เนื่องจากถือว่าจรวด SM-3A2 ที่ญี่ปุ่นผลิตเองภายใต้สิทธิบัตร เป็นอาวุธป้องกัน
แต่เรือพิฆาตล้ำยุคของญี่ปุ่นยังไม่สามารถติดตั้งจรวดโทมาฮอว์ก (Tomahawk) เหมือนเรือพิฆาตของสหรัฐฯ ได้ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากคณะกรรมาธิการตีความรัฐธรรมนูญกับรัฐสภามองว่า จรวดโทมาฮอว์กเป็นอาวุธเพื่อใช้โจมตีนั่นเอง
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ยกพลขึ้นบกประจำการอยู่หลายลำ เช่นเดียวกันกับกองทัพเรือ และกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ แต่กว่าจะมีสิ่งนี้ได้ก็ผ่านการถกเถียงในรัฐสภา หรือ “ไดเอ็ท” มาหลายปี จนกระทั่งสรุปได้ว่า เรือบรรทุก ฮ. ไม่ใช่เรือเพื่อการโจมตี หากมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ
.
3
4
อุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศนี้มีชื่อเสียง และเจริญรุ่งเรืองมานาน ไม่น้อยกว่าประเทศใดในโลก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังนาวีแห่งองค์พระจักรพรรดิไม่ได้เป็นสองรองใครแม้แต่น้อย กองทัพเรือในยุคโน้นมีเรือประจัญบาน (Battleship) และเรือบรรทุกเครื่องบินหลายลำ
แล้ว.. จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินทันสมัยได้อีกหรือไม่? ผลิตเครื่องบินรบได้หรือไม่?
สำหรับกองกำลังป้องกันทางอากาศ เป็นที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นได้ทำการวิจัยและผลิตต้นแบบเครื่องบินรบยุคที่ 5 “สเตลธ์” ของตัวเองมาไกลแล้ว เคย “รั่ว” ภาพออกมาให้เห็นกันแล้ว และ ในเมื่อปัจจุบันรัฐสภาอนุญาตให้ซื้อ และครอบครองเครื่องบินรบทันสมัยที่สุดของโลก เช่น F-35 “ไลท์นิ่ง” หรือ F-22 “แรปเตอร์” ที่ผลิตในสหรัฐฯ ได้ โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วเหตุไฉนจึงจะไม่สามารถผลิตเครื่องบินรบใช้เอง และส่งออกได้? จะต้องดูกันต่อไปเป็นหนังเรื่องยาว
กลุ่มมิตซูบิชิเฮฟวี่อินดัสตรี ไม่ได้ผลิตเพียงแค่รถอีโคคาร์ รถเอสยูวีสเปซวากอน ปิกอัพไทรตัน หรือพีพีวีปาเจโรสปอร์ต เช่นที่เห็นกันอยู่ในตลาดบ้านเราเท่านั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มิตซูบิชิ เป็นผู้ผลิต “ซีโร่” (A6M “Zero”) เครื่องบินขับไล่โจมตีประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่ร่วมสร้างตำนาน “กามิกาเซ” อันเลื่องลือ รวมทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิด G4M .. ในทันทีที่มีการตีความรัฐธรรมนูญออกมาอย่างชัดเจน กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่นี้คงไม่รีรอที่จะผลิตเครื่องบินรบออกมาอีกครั้งหนึ่ง.. ใหม่และทันสมัยยิ่งกว่า อาจมีทั้งเครื่องบินรบยุคที่ 5 และ 6 ก็เป็นได้
.
“เป็นไปได้ไหมที่อู่ต่อเรือในประเทศไทยแห่งหนึ่ง จะเป็นศูนย์ประกอบเรือดำน้ำยี่ห้อญี่ปุ่น... รวมทั้งเรือโซรียูซึ่งก็เป็นของมิตซูบิชิ กับเรือพิฆาตชั้นฮัตซูยูกิ/อาซาการิ ของกลุ่มฮิตาชิ ฯลฯ เพื่อให้ราชนาวีไทยได้เป็นเจ้าของกองเรือดำน้ำอีกครั้งหนึ่ง และมีเรือพิฆาตประจำการเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ" |
.
เมื่อพูดถึงเครื่องบินญี่ปุ่นก็ต้องมองไปยังเวียดนาม .. ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ได้เริ่มเจรจาอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เกี่ยวกับการซื้อ P-3 “โอไรออน” (Orion) ปลดระวางจากกองทัพอากาศสหรัฐ ซึ่งว่ากันว่าพร้อมจะขายให้ถึง 6 ลำ เป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่งที่กองทัพประชาชนของประเทศคอมมิวนิสต์ จะได้เข้าถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ของโลกตะวันตก กระจายความเสี่ยงจากการ พึ่งพาโซเวียต/รัสเซียมาตลอด
เครื่องบินตรวจการณ์ติดระบบเรดาร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัย ติดอาวุธปราบเรือดำน้ำ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการลาดตระเวน กับการเตือนภัยล่วงหน้าของเวียดนาม โดยไม่ต้องสงสัย ประเทศนี้มีฝั่งทะเลยาวถึง 3,000 กิโลเมตร เหตุพิพาทเกี่ยวกับแท่นขุดเจาะน้ำมันของจีนเมื่อปีที่แล้ว ช่วยย้ำเตือนว่าเวียดนามจำเป็นจะต้องมีเครื่องบินตรวจการณ์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะมีประโยชน์ใช้สอยอีกหลายด้าน รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำชั้นคิโล (Kilo-class) ที่ซื้อจากรัสเซียทั้ง 6 ลำด้วย
แต่ปัญหาก็คือ กฎหมายของสหรัฐฯ อนุญาตให้กระทรวงกลาโหม ขายให้เวียดนามได้เฉพาะ “อาวุธที่ไม่เป็นภัยร้ายแรง” เท่านั้น นั่นก็คือ ขาย P-3C ปลดระวางให้ได้ แต่ไม่สามารถขายระบบตอร์ปิโดกับจรวดยิงเรือดำน้ำให้.. ทำให้เวียดนามกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
.
5
6
7
P-3 “โอไรออน” ผลิตโดยบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน กองทัพสหรัฐฯ ใช้งานมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 คือ ช่วงปีแรกๆ ของสงครามเวียดนาม ติดเครื่องยนต์ใบพัดเทอร์โบพร็อพ ปัจจุบันอยู่ในสภาพเก่าเหลาเหย่ เวียดนามอาจจะใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลที่ดีในการแสวงหาตัวเลือกอื่น ตัวเลือกที่ดีที่สุดเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้ รวมทั้ง “คาวาซากิ พี-1” (Kawasaki P-1) เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำที่ผลิตโดยกลุ่มคาวาซากิเฮฟวี่อินดัสตรี (Kawasaki Heavy Industry) ที่ผลิตรถจักรยานยนต์คาวาซากิออกมาแล่นให้เห็นตามท้องถนนทุกวันนี้
เครื่องบินของคาวาซากิ เป็นไอพ่น 4 เครื่องยนต์ ติดระบบเรดาร์ และระบบอีเล็กทรอนิกส์ทันสมัย มีระยะปฏิบัติการถึง 8,000 กม. ใหม่กว่า ทันสมัยกว่า P-3C “Orion” ไม่ต้องสงสัย และได้ครบเครื่องด้วยราคาลำละประมาณ 140 ล้านดอลลาร์ หรือหากจะซื้อเครื่องบินเปล่า ราคาก็จะถูกลงเกือบครึ่ง ด้วยเครื่องบินของญี่ปุ่นรุ่นนี้ เวียดนามสามารถเลือกระบบเอวิโอนิก กับระบบอาวุธจากโลกตะวันตกได้มากมาย เช่นเดียวกับคราวที่ซื้อเรือคอร์แว็ต 2 ลำ จากเนเธอร์แลนด์ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งนำมาสู่การติดตั้งระบบอาวุธของฝรั่งเศส รวมทั้ง จรวดเอ็กโซเซ่ต์ บล็อกล่าสุดด้วย
ข่าวคราวระหว่างญี่ปุ่น กับออสเตรเลีย ยังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากหลายประเทศ รวมทั้งอินเดียและกลุ่มตะวันออกกลางด้วย อินเดียที่พึ่งพาเรือดำน้ำของโซเวียต/รัสเซีย มานานหลายทศวรรษ ได้แสดงความสนใจเรือดำน้ำชั้นโซรียู ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมกล่าวว่า เหนือกว่าเรือชั้นคิโลทุกทาง แต่อินเดียตั้งเงื่อนไขว่า จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และแบ่งไปผลิตในประเทศด้วย ซึ่งออสเตรเลียก็กำลังต่อรองในเรื่องเดียวกันนี้
สื่อในอินเดีย รายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า กระทรวงกลาโหมยังสนใจเครื่องบินขนส่ง-ยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นอีกรุ่นหนึ่ง
ความเป็นไปทั้งหลายทั้งปวงยังเกิดขึ้นในช่วงที่กองทัพไทยเพิ่งจะได้งบประมาณมาปลายปีที่แล้ว เพื่อจัดหาเรือดำน้ำ 2-3 ลำ ข่าวนี้ทำให้จีนรีบเสนอเรือชั้นหยวน (Yuan-class) รัสเซียยื่นเสนอเรือชั้นคิโลแบบเดียวกันกับเวียดนาม และอินเดีย และเกาหลีส่งเรือ 209 ชังโบโก (Chang Bogo) เข้าประกวด เป็นเรือที่ร่วมออกแบบ และผลิตกับ Howaldtswerke-Deutsche Werft จากเยอรมนี
ชั้น “หยวน” เป็นชื่อในนิยามของกลุ่มนาโต้ ซึ่งก็คือ Type 039C ตามรหัสของจีน สร้างโดยอู่ต่อเรืออู๋ชัง (Wu Chang) เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) เป็นเรือที่จีนพัฒนาต่อจาก Type 039 หรือชั้นซุง/ซ้อง (Song-class) และเมื่อสืบค้นจนถึงที่สุดก็จะพบว่า จีนได้ลอกเลียนเอาลักษณะของเรือชั้นคิโลที่ซื้อจากรัสเซีย ไปใช้ในการออกแบบ Type 039 กับ 039C ในหลายจุด ขนาดก็ 3,600 ตัน ใกล้เคียงกับเรือรัสเซียต้นแบบ
ส่วนเรือชังโบโก ของเกาหลี ออกแบบต่อเนื่องมาหลายรุ่น มีขนาดตั้งแต่ 1,200-1,400 ตัน ผลิตเพื่อใช้ในกองทัพเรือ กับอีก 3 ลำ “รุ่นปรับปรุง” จำหน่ายให้กองทัพเรืออินโดนีเซีย ราชนาวีไทยก็แสดงความสนใจเรือดำน้ำเกาหลี ซึ่งไม่มีอะไรที่จะเทียบชั้นกับเรือ “มังกรเขียว” ของญี่ปุ่นได้เลย
8
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็คือ ราชนาวีไทยเคยมีกองเรือดำน้ำก่อนใครๆ ในภูมิภาคนี้ เคยมีถึง 4 ลำ เป็นเรือชั้น “มัจฉานุ” และเรื่องราวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างบังเอิญก็คือ เรือทั้ง 4 ลำต่อโดยมิตซูบิชิ แห่งญี่ปุ่น ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1930
ปัจจุบัน ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นหลากหลายยี่ห้อ รถปิกอัพจากที่นี่ส่งขายไปทั่วโลก เป็นไปได้หรือไม่ในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกล โรงงานสักแห่งหนึ่งในประเทศไทย จะเป็นศูนย์การประกอบรถถังหลัก Type 90 หรือไม่ก็ Type 10 “ฮิโตมารุ” (Hitomaru) ของกลุ่มมิตซูบิชิ
เป็นไปได้ไหมที่อู่ต่อเรือในประเทศไทยแห่งหนึ่งจะเป็นศูนย์ประกอบเรือดำน้ำยี่ห้อญี่ปุ่น... รวมทั้งเรือโซรียู ซึ่งก็เป็นของมิตซูบิชิ กับเรือพิฆาตชั้นฮัตซูยูกิ/อาซาการิ ของกลุ่มฮิตาชิ ฯลฯ เพื่อให้ราชนาวีไทยได้เป็นเจ้าของกองเรือดำน้ำอีกครั้งหนึ่ง และมีเรือพิฆาตประจำการเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ.