ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อินโดนีเซียกำลังเจรจาขอซื้อเครื่องบินทะเล (Seaplane) แบบ US-2 ที่ผลิตในญี่ปุ่น ซึ่งสามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ ทั้งในการขนส่งลำเลียงพลทั่วไป การค้นหากู้ภัยทางทะเล และการยกพลขึ้นบก ทำให้อินโดนีเซียเป็นลูกค้ารายที่ 2 ถัดจากอินเดีย ที่แสดงความประสงค์ขอซื้อเครื่องบินชนิดนี้เพื่อใช้ทางการทหาร
หนังสือพิมพ์แจแปนไทม์ส รายงานเรื่องนี้ โดยอ้างการสัมภาษณ์พิเศษรัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย ริอามิซาร์ด รีอาคูดู (Ryamizard Ryacudu) ที่กล่าวว่า อินโดนีเซียกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ก่อนที่กระทรวงฯ จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo)
รัฐบาลญี่ปุ่น ได้แสดงความยินดีที่จะขายเครื่องบิน US-2 ให้แก่มิตรประเทศที่ต้องการ เนื่องจากอากาศยานที่ผลิตโดยกลุ่มชินเมวะอินดัสตรี (ShinMaywa Industry) สามารถบินขึ้นลงในทะเลได้ จึงเหมาะยิ่งสำหรับประเทศที่เป็นหมู่เกาะใหญ่ มีจำนวนหลายพันเกาะเช่นอินโดนีเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างมีลักษณะสภาพภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกัน และเกิดภัยธรรมชาติขึ้นบ่อยๆ ถึงแม้ว่า US-2 จะผลิตออกมาเพื่อใช้ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถใช้ในอินโดนีเซียได้
.
.
.
เครื่องบินทะเลรุ่นนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในกองทัพเรือ ในหน่วยบินลาดตระเวณ และหน่วยค้นหากู้ภัยทางน้ำ ปัจจุบัน กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมีประจำการ จำนวน 3 ลำ ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการเยือนของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย สองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงหลายฉบับ ซึ่งครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านกลาโหมด้วย
เมื่อปี 2556 อินเดีย เป็นประเทศแรกที่แสดงความประสงค์จะขอซื้อเครื่องบิน US-2 ซึ่งอาจจะมีจำนวน 15-18 ลำ แต่ต่อรองให้ญี่ปุ่นต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี และผลิตเครื่องบินจำนวนหนึ่งในอินเดีย
ก่อนที่จะให้ความสนใจเครื่องบินญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เคยตั้งใจจะซื้อ Be-200 เครื่องบินทะเลของรัสเซีย โดยมีแผนจะเจรจาเรื่องนี้ เมื่อรัฐมนตรีกลาโหมนำคณะไปเยือนรัสเซียวันที่ 14 เม.ย.นี้
ในท่ามกลางความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หลายประเทศในอาเซียต่างแสวงหาอาวุธยุทธภัณฑ์ในการป้องกัน และป้องปราม อินโดนีเซียก็เป็นหนึ่งในนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง แต่ก็หวาดวิตกต่อการแผ่แสนยานุภาพลงใต้ของจีน และได้พัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันตนเองมาเป็นระยะ รวมทั้งปรับงปรุงฐานทัพเรือใหญ่แห่งหนึ่งที่อยู่ติดทะเลจีนใต้อีกด้วย
อาวุธยุทธปัจจัยจากญี่ปุ่นที่มีคุณภาพดี ได้กลายเป็นความหวังของหลายประเทศ แทนอาวุธที่ผลิตในรัสเซีย และจีน นอกจากอินโดนีเซียกับอินเดียแล้ว ก็ยังรวมถึงออสเตรเลียที่อยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อเรือดำน้ำชั้นโซรียู (Soryu-class) ของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีทั้งซื้อ และร่วมผลิต
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ถ้าหากญี่ปุ่นสามารถขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ประเทศเหล่านี้ได้ โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากายในภูมิภาค.