ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- กองทัพเรือที่ 7 ประจำภาคพื้นอินโด-เชียแปซิฟิกของสหรัฐ กับกองทัพเรือกัมพูชาได้ร่วมฝึกซ้อม ความพร้อมทางทะเลที่เรียกว่า "กะรัต" (CARAT) มาตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. และปิดฉากลงในสัปดาห์เดียวกัน สำหรับกัมพูชาปีนี้เป็นปีที่ห้าติดต่อกัน ที่ได้เข้าร่วมการฝึกทวิภาคี ที่ฝ่ายสหรัฐจัดให้มีขึ้นติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นประจำทุกปี ร่วมกับชาติพันธมิตรอื่นๆ ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
การฝึกกะรัตกับกัมพูชาประจำปี 2557 ฝ่ายสหรัฐจัดทหารเรือและเจ้าหน้าที่สนับสนุน เข้าร่วมราว 400 คน ส่วนเจ้าภาพมีจำนวน 600 คน ทั้งทหารเรือและทหารอากาศ แต่ปีนี้เป็นพิเศษอย่างยิ่ง เพราะเป็นปีแรกที่กัมพูชานำเรือชั้นสเตนกา (Stenka-Class) จำนวน 2 ลำ จากทั้งหมด 5 ลำ เข้าร่วมการฝึกซ้อมคู่กับเรือมัสติน (USS Mustin, DDG-89) ซึ่งเป็นเรือพิฆาตชั้นอาร์ลีห์เบิร์ค (Arleigh Burke-Class) ของสหรัฐ โอกาสเช่นนี้คงมีไม่บ่อยครั้ง
อาจจะมีผู้คนอีกมากมาย ที่ไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำว่า กองทัพเรือกัมพูชามีเรือชั้นนี้ใช้งานมา 20 ปีแล้ว อันเป็นความร่วมมือช่วยเหลือที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ให้แก่พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชาในอดีต และเป็นการช่วยเหลือรัฐบาลคอมมิวนิสต์กัมพูชา กลุ่มเจียซิม-เฮงสัมริน-ฮุนเซน ที่กองทัพเวียดนามจัดตั้งขึ้นในกรุงพนมเปญในเดือน ม.ค.2522
แท้จริงแล้วเรือชั้นนี้เป็นแค่เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ยาวเพียง 37.5 เมตร กว้าง 7.64 เมตร มีระวางขับน้ำเพียง 172 ตัน และ อัตราฟูลโหลด หรือการบรรทุกหนักได้สูงสุดก็เพียง 245 ตัน ขนาดเล็กเกินไปที่จะเป็นเรือรบได้ แต่ที่ต้องเรียกว่า "เรือรบ" ก็เนื่องจากภารกิจที่ถูกใช้เป็นเสมือนเรือรบ และยังเป็นเรือติดอาวุธใหญ่ที่สุดในกองทัพเรือเล็กๆ ของกัมพูชา นอกจากนั้นก็ยังติดเรดาร์และโซนาร์ทันสมัย แม้กระทั้งปืนใหญ่ทั้งสองกระบอกก็ควบคุมการยิงด้วยเรดาร์ ซึ่งหาได้ยากในบรรดาเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กทั่วไป
นอกจากนั้นเรือชั้นสเตนกา ก็ยังมีเขี้ยวเล็บที่ไม่อาจจะดูเบาได้
สเตนกาติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 3 เครื่อง กำลัง 12,500 แรงม้า ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 38 น็อต หรือกว่า 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเป็นนักกีฬาก็เรียกได้ว่า ฝีเท้าจัดจ้าน มีอาวุธหลักเป็นปืนใหญ่เรือ AK-230 ขนาด 30 มม.จำนวน 2 กระบอก ติดตั้งที่ส่วนหัวเรือกับส่วนท้ายเรือ ยังมีปืนกลขนาด 12.7 มม. อีก 1 กระบอก และ ที่น่ายำเกรงพอๆ กันก็คือ ตอร์ปิโดขนาด 406 มม. สำหรับภารกิจสงครามใต้น้ำ โดยติดตั้งท่อยิงจำนวน 4 ท่อ
"สเตนกา" เป็นชื่อเรียกโดยกลุ่มนาโต้ ขณะที่โซเวียตเรียกเรือของตนว่า โปรเจ็กท์ 205P "ตารันตุล" (Tarantul) ชื่อนี้ไปพ้องกับเรือชั้นตารันตุล (Tarantul-Class) ซึ่งเป็นเรือคอร์แว็ต เป็นคนละชั้นคนละชนิดกัน โดยสเตนกาต่อขึ้นมาตามแบบของเรือชั้นโอซา (Osa-Class) ซึ่งเป็นเรือคอร์แว็ตติดจรวดนำวิถี (โปรเจ็กท์ 205) ย่อส่วนลงเกือบครึ่ง จนบางคนเรียกว่าเป็น "เรือโอซาเวอร์ชั่นตรวจการณ์"
เมื่อสืบประวัติย้อนหลัง ก็จะพบว่าเรือชั้นสเตนกามีการพัฒนาต่อเนื่องมายาวนาน และ มีใช้กองทัพเรือของชาติหลังม่านเล็กในอดีตหลายประเทศ ในหน่วยตรวจการณ์ชายฝั่ง ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของกองทัพเรือรัสเซียก็ยังมีใช้ตกทอดมาจนถึงวันนี้
กองทัพเรือสหภาพโซเวียตนำเรือชั้นสเตนกาเข้าประจำการระหว่างปี 2510--2533 โดยต่อออกมาราว 114 ลำ ในนั้นหลายสิบลำตกทอดไปยังกองทัพเรือรัฐบริวาร ซึ่งรวมทั้งคิวบาที่อยู่ไกลออกไปอีกด้วย ส่วนของกัมพูชาทั้ง 5 ลำ ขึ้นระวางประจำการระหว่างปี 2528-2530 ได้ชื่อเป็นประเทศนอกค่ายม่านเหล็กเพียงชาติเดียวที่มีเรือเร็วติดปืน-ตอร์ปิโดรุ่นนี้ใช้งาน.
.
2
3
4
5
6