ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อีกไม่ช้าไม่นานพม่าก็จะมีเรือรบ “ล่องหน” ใหม่เอี่ยมอีกลำหนึ่ง แม้จะยังไม่มีใครในประเทศพูดถึงเรื่องนี้ แต่สื่อของทางการจีนได้เผยแพร่ทั้งภาพ และข่าวให้โลกภายนอกได้ทราบว่า การต่อเรือหมายเลข F14 ได้มาถึงขั้นตอนติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุม รวมทั้งระบบอาวุธ คาดว่าจะปล่อยกลับลงน้ำที่อู่ต่อเรือแห่งหนึ่งของกองทัพเรือในนครย่างกุ้งในเดือนหน้านี้ ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน
ตามรายงานเว็บไซต์ไชน่านิวส์เจอร์นัล เรือฟริเกตลำใหม่จะเป็นแบบเดียวกับเรือหมายเลข F12 “เกียนสิตตา” (Kyansittha) ที่ขึ้นระวางประจำการในปลายปี 2555 และเป็นลำแรกของเรือฟริเกตติดจรวดนำวิถีชั้นอองเซยา (Aung Zeya-class) ที่มีรูปลักษณ์หลบเลี่ยงการตรวจจับทางอิเล็กทรอนิกส์ (สเตลธ์) เรือ F14 จะมีคุณลักษณ์ และมีโครงสร้างทุกอย่างเป็นแบบเดียวกัน ใช้เทคโนโลยีเท่าเทียมกัน ด้านท้ายเรือมีโรงเก็บกับลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ เพื่อภารกิจสงครามใต้น้ำ และการลำเลียงขนส่ง
สื่อของทางการจีนไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการซื้อขาย หรือมูลค่าสำหรับ “การช่วยเหลือ” ครั้งนี้ แต่ระบุว่า การช่วยพม่าต่อเรือฟริเกตหมายเลข F-14 แสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ และยังแสดงให้เห็นความตั้งใจอย่างแน่แน่วในการช่วยพม่าพัฒนาการป้องกันชาติให้ทันสมัย
เรือ F12 รวมทั้ง F14 ลำล่าสุดนี้ติดระบบอาวุธเป็นปืนใหญ่เรือยิงเร็วโอโตเมลารา (Oto Melara) ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืน 30 มม.อีก 4 กระบอก ติดระบบจรวดยิงเรือแบบ C-802 ที่ผลิตในจีน แต่ไม่มีการกล่าวถึงหมายเลข F13 ซึ่งเป็นเรือชั้นเดียวกันอีกลำหนึ่ง เว็บไซต์ข่าวกลาโหมปากีสถานดีเฟ็นซ์ด็อทคอมรายงานก่อนหน้านี้ว่า กองทัพเรือพม่าได้จัดพิธีวางกระดูกงูเมื่อปีที่แล้ว
หมายเลข F14 กำลังจะเป็นลำที่ 3 หรือ 4 ของเรือฟริเกตชั้นเดียวกันที่พม่าจะต่อออกมาทั้งหมด 8 ลำ และเป็นอีกซีรีส์หนึ่งที่ต่อเองในประเทศ โดยอาศัยเทคโนโลยีกับความช่วยเหลือจาก 2 ชาติพันธมิตรที่มีความสนิทแนบแน่นคือ จีน กับรัสเซีย จึงไม่แปลกที่เรือของกองทัพพม่าทุกลำจะติดตั้งระบบอาวุธ ระบบเรดาร์ตรวจการณ์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ รวมทั้งระบบควบคุมต่างๆ ผสมผสานกันระหว่างอุปกรณ์ที่ผลิตในรัสเซีย และจีน และยังใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์จากโลกตะวันตกจำนวนหนึ่งเท่าที่จะสามารถจัดซื้อจัดหาได้
ประการสำคัญยิ่งก็คือ จากที่เคยซื้อเรือที่ต่อจากต่างประเทศในปัจจุบันนาวีพม่าได้หันมาพึ่งพาตนเอง โดยต่อเองในประเทศเป็นหลัก
แม้พม่าจะเข้าสู่ยุคใหม่ทางการเมืองมา 3 ปีแล้วก็ตาม แต่ทางด้านการทหารประเทศนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับกองทัพยังถือเป็นความลับสุดยอด ทางการพม่าไม่เคยปริปากพูดถึงแผนการพัฒนาแสนยานุภาพของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นแผนการจัดซื้อจัดหาอาวุธ หรือแผนการเกี่ยวกับการจัดการกำลังพล โดยไม่ต้องพูดถึงอะไรก็ตามที่เป็นความสัมพันธ์ทางด้านการป้องกันกับต่างประเทศ
แต่สำนักข่าวกลาโหมแห่งต่างๆ ก็มีข่าวแพร่งพรายออกสู่โลกภายนอกเป็นระยะๆ รวมทั้งแผนการต่อเรือฟริเกต เรือคอร์แว็ต เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง กับเรือโจมตีเร็วติดจรวดรวมเป็นจำนวน 40-50 ลำ ในระยะไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พม่าที่มีชายฝั่งทะเลยาวหลายพันกิโลเมตรตั้งแต่เหนือจดใต้ และมีน่านน้ำกว้างใหญ่ไพศาลอุดมด้วยทรัพยากรพลังงาน ได้เร่งพัฒนาแสนยานุภาพทางเรืออย่างขนานใหญ่ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย
ข้อมูลที่รวบรวมได้จากแหล่งต่างๆ ในขณะนี้บ่งชี้ว่าภายในปีนี้กองทัพเรือพม่าอาจจะมีเรือฟริเกตติดจรวดนำวิถีถึง 6 ลำ (รวมทั้ง เรือชั้น “เจียงฮู 2” ที่ซื้อจากจีน 2 ลำ) เรือฟริเกตขนาดเบา (Light Frigate) อีกนับสิบลำ เรือคอร์แว็ตติดจรวดชั้นต่างๆ กว่าสิบลำ เรือคอร์แว็ตติดปืนอีกนับจำนวนเท่าๆ กัน เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งหลายสิบลำ เรือเร็วโจมตีทั้งติดจรวด และติดปืนอีกหลายสิบลำ
เว็บไซต์ข่าวกลาโหมปากีสถานดีเฟ็นซ์ด็อทคอมที่เฝ้าติดตามพัฒนาการด้านกลาโหมของประเทศต่างๆ ในย่านเอเชียอย่างใกล้ชิดรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “พม่าได้นำตัวเองขึ้นเป็นพลังอำนาจทางเรือใหม่ในเอเชียตะวันกออกเฉียงใต้”
เรือฟริเกตลำล่าสุดกำลังจะช่วยเติมเต็มให้แก่ฉายาใหม่นี้ โดยสื่อของทางการจีนกล่าวเช่นเดียวกันว่า เมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จ เรือ F14 จะช่วยให้การพัฒนากองทัพเรือพม่าก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง สำหรับการ “เป็นพลังรบทางน้ำที่เข้มแข็งอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”.
.
อำนาจใหม่ทางทะเล ไชน่านิวส์เจอร์นัล
2
3
4
5
6