ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่งทั้งในย่านเอเชีย และสหรัฐฯ ตีแผ่ข่าวที่น่าสนใจข่าวหนึ่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับแผนการของสิงคโปร์ที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดย่อมๆ สักลำหนึ่ง เป็นการเตรียมการล่วงหน้าสำหรับฝูงบิน F-38B สุดยอด “สเตลธ์” ของโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้มีที่มาที่ไป และสมเหตุสมผลทีเดียว
ไม่ใช่ข่าวโคมลอย แต่เป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากงานสิงคโปร์แอร์โชว์เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งบูทจัดงานของบริษัทเอสที เอ็นจิเนียริ่ง มารีน (ST Engineering - Marine) นำเอาแบบจำลองเรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่งออกอวด แต่เนื่องจากเป็นงานนิทรรศการแสดงเครื่องบิน ผู้คนส่วนใหญ่จึงพลาดโอกาสที่จะได้เห็น หรือไม่ก็ไม่ได้ใส่ใจโมเดลของเรือ Endurance-160
เรื่องนี้ผ่านเลยไปจนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้านการรบนาวีได้เห็นภาพโมเดลเรือ Endurance-160 ในเว็บไซต์ 2-3 แห่ง ก็จึงเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเว็บไซต์ดีเฟนซ์นิวส์ด็อทคอมของกลุ่มแกนเน็ต ยักษ์ใหญ่สื่อแห่งสหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตี และข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว
ถึงแม้ว่าเรือจะเป็นเพียงโมเดลก็ยังได้รับความสนใจจากวงการกลาโหม เนื่องจากไปสอดคล้องเข้ากับเหตุการณ์ในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เมื่อ ดร.อึงเอ็นเฮง (Ng Eng Heng) รัฐมนตรีกลาโหมสิงคโปร์นำทีมเดินทางไปชมการสาธิตเครื่องบิน F-35B ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ถึงรัฐแอริโซนา
เหตุการณ์ดังกล่าวติดตามด้วยการให้สัมภาษณ์ของนายทหารสหรัฐฯ ผู้หนึ่งที่ระบุว่า สิงคโปร์ได้ “ตัดสินใจซื้อ” F-35 แล้ว เพียงแต่ยังไม่ทราบว่าจะมีการบรรจุเรื่องนี้เข้าในงบประมาณของปีไหน
ตามรายงานของดีเฟ้นซ์นิวส์ด็อทคอม ST Engineering Marine ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือในเครือสิงคโปร์เทคโนโลยี (Singapore Technology) ได้เริ่มมาหลายปีแล้วในการออกแบบเรือบรรทุกเครื่องบินสักลำหนึ่งที่สามารถบรรทุกได้ทั้งเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินขับไล่ไอพ่นขึ้นลงแนวดิ่ง หรือวิ่งขึ้นลงในระยะทางสั้นได้แบบ “จัมพ์เจ็ต” ซึ่งก็คือ F-35B ที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาล
บริษัท ST Engineering (Marine) มีผลงานที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ เป็นผู้ต่อเรือยกพลขึ้นบกขนาด 7,000-8,500 ตัน ชั้นเอ็นดิวรันซ์ (Endurance-class) ซึ่งในปัจจุบันประจำการในราชนาวีสิงคโปร์ จำนวน 4 ลำ กับลำที่ 5 ต่อให้แก่ราชนาวีไทย ซึ่งก็คือ เรือหลวงอ่างทอง (719) ที่ขึ้นระวางประจำในเดือน เม.ย.2555
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้หากบริษัทนี้จะต่อเรือลำใหม่อีกสักลำที่มีขนาดใหญ่โตขึ้น เพื่อภารกิจที่ใหญ่โตขึ้น เป็นสนามบินลอยน้ำสำหรับเครื่องบินรบล้ำหน้าที่สุดของโลกซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศเกาะเล็กๆ ที่อยู่ตรงปลายสุดคาบสมุทรอินโดจีน ไม่มีเนื้อที่เหลือสำหรับฐานทัพอากาศแห่งที่ใหม่
การทดลองนำ F-35B ลำหนึ่งลงจอดบนเรือโจมตียกพลขึ้นบกวอสป์ (Wasp, LHD-1) ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ได้สำเร็จในเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่หลายประเทศที่ประสงค์จะมีเครื่องบินรบล้ำหน้าประจำการ
เรือชั้นวอสป์ (Wasp-class) ลำใหญ่มหึมาขนาดระวางกว่า 40,000 ตัน และความยาวตลอดกว่า 250 เมตร แต่เรือบรรทุกเครื่องบินของสิงคโปร์ไม่จำเป็นจะต้องใหญ่โตขนาดนั้น เพราะว่า F-35B ต้องการทางวิ่งขึ้นลงปกติเพียง 170-180 เมตร หากไม่ประสงค์จะให้ขึ้นลงในแนวดิ่ง
ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ก็จึงมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า เกาหลีได้ดัดแปลงชั้นดาดฟ้าเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ยกพลขึ้นบกด็อกโด (LPH-6111) ขนาด 18,000 ตันเอาไว้เพื่อรองรับ F-35B ส่วนทางญี่ปุ่น ก็ได้ดัดแปลงเรือฮีวกะ (JDS Hyuga, DDH181) ซึ่งเป็นเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ขนาด 19,000 ตัน เอาไว้เพื่อการนี้เช่นกัน
เรือชั้นด็อกโด ของเกาหลีมีความยาว 199 เมตร และเรือพิฆาตฮิวกะ ของญี่ปุ่น ก็มีขนาดใกล้เคียงกันคือ ยาว 197 เมตร มากจนเกินพอสำหรับ F-35B
.
2
ผู้เเชี่ยวชาญด้านการป้องกันประเทศให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า สิงคโปร์มีความจำเป็นที่จะต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็กสักลำ ไม่เพียงความจำเป็นทางภูมิศาสตร์เท่านั้น หากยังมีภารกิจสำคัญอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การคุ้มครองป้องกันเส้นทางเดินเรือที่ผ่านช่องแคบมะละกา-ช่องแคบสิงคโปร์ รวมทั้งปัญหากระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้านที่ใหญ่โตกว่าคือ อินโดนีเซีย กับมาเลเซียที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ
ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้กำลังจะรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจใหญ่โตในปีหน้านี้ แต่เมื่อเดือนที่แล้ว สิงคโปร์ได้ห้ามเรือ KRI Usman Harun ซึ่งเป็นเรือคอร์แว็ตชั้นนาโคดารากัม (Nakohada Ragam-Class) ของกองทัพเรืออินโดนีเซีย ไปร่วมงาน Singapore Air Show 2014 หลังจากฝ่ายอินโดนีเซีย ได้ตั้งชื่อเรือลำหนึ่งตามชื่อของอดีตนาวิกโยธิน 2 คน ที่เคยวางระเบิดในสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ.2508 โดยไม่ฟังเสียงทัดทาน
นั่นคือเหตุการณ์ในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โนที่ใช้ “นโยบายเผชิญหน้า” กับประเทศเกาะแห่งนี้ในช่วงปีที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์สิงคโปร์” อินโดนีเซ่ย ส่งหน่วยกล้าตายไปวางระเบิดสถานที่สำคัญๆ ในสิงคโปร์กว่า 30 ครั้ง นาวิกโยธินทั้ง 2 คนนั้นถูกจับได้ และถูกศาลสิงคโปร์ตัดสินประหารชีวิต แต่ทั้ง 2 คนเป็นวีรบุรุษของชาวอินโดนีเซีย
ในความเห็นของ ศ.ดร.คาร์ล เธเยอร์ แห่งสถาบันกลาโหมออสเตรเลีย (Australian Defence Force Academy) สิงคโปร์กำลังอยู่ในขั้นตอนรวมสนามบินทหารบนเกาะที่มีอยู่ 3 แห่งเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันแต่ละแห่งไม่สามารถขยายได้อีกแล้ว การซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่แต่ละครั้งหมายถึงจะต้องสร้างสนามบินแห่งใหม่ และเรือบรรทุกเครื่องบิน กับ F-35B ช่วยแก้ปัญหานี้ได้
อย่างไรก็ตาม ศ.เธเยอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันสิงคโปร์ได้จัดความาเร่งด่วนให้แก่การอัปเกรด F-16 ทั้งฝูง ขณะเดียวกัน ก็อาจจะต้องการให้สหรัฐฯ พัฒนาเครื่องบินรบยุคที่ 5 ไปจนถึงขั้นสมบูรณ์สูงสุด เพราะฉะนั้น เรื่องเรือบรรทุกเครื่องบิน กับฝูงบิน F-35B นั้นอาจจะเป็นเรื่องในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้า
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญท่านนี้สอดคล้องกับท่าทีของสิงคโปร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมผู้หนึ่งเคยแถลงก่อนส่งทีมไปดูการทดสอบ F-35B ในสหรัฐฯ ว่า “สิงคโปร์ไม่รีบร้อน”.
.
เตรียมวันนี้เพื่อ 4-5 ปีข้างหน้า
3
4
5
6