ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เทคโนโลยีปืนใหญ่เสถียร เป็นของใครก็ของมัน และ นี่เป็นของญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนาอย่างยากลำบากโดย มิตซูบิชิเฮฟวีอิสดัสตรีเจ้าเก่า ที่เคยเป็นหัวหอกผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ป้อนกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิเมื่อครั้งสงครามแปซิฟิก เว็บไซต์ข่าวกลาโหมบางแห่งชมว่า ปืนใหญ่ของ Type-10 เสถียรที่สุดในโลก เป็นขีดความสามารถที่น่าทึ่งทีเดียว. |
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- คลิปรถถัง T-10 >"ฮิโตมารุ" (Hitomaru) โชว์ปืนใหญ่เสถียร ที่มีความแน่วนิ่งถาวร จนสามารถตั้งแก้วไวน์ได้ โดยไม่หกเรี่ยราด ได้รับความสนใจจากเว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่งทั่วโลกในช่วงข้ามสัปดาห์มานี้ บางแห่งชี้ว่าสิ่งที่เห็นในคลิป นับเป็นเทคโนโลยีปืนใหญ่ขั้นสุดยอด ที่พัฒนาโดยมิตซูบิชิเฮฟวี่อินดัสตรี (Mitsubishi Heavy Industry) แห่งประเทศญี่ปุ่น สำหรับรถถังยุคที่ 4 ที่เป็นกำลังหลัก ของกำลังป้องกันตนเองทางบกในปัจจุบัน
คลิปที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์วันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นการถ่ายทำเหตุการณ์สาธิต เพื่อให้แขกเหรื่อได้รับชม เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบปีที่ 63 การก่อตั้งโรงเรียนคลังแสง ภายในที่ตั้งกองพันทหารราบแห่งหนึ่ง ที่เมืองสึชิอูระ (Tsuchiura) จ.อิบารากิ (Ibaraki) บนเกาะฮอนชู (Honshu) ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว
นายทหารผู้หนึ่งได้รินไวน์จากขวด ใส่ลงในแก้วไวน์จำนวน 2 ใบ ที่วางบนแท่นเหล็กด้านข้างปากกระบอกปืนใหญ่ 120 มม. ของรถถัง ก่อนที่พลขับจะบังคับให้ Type-10 เงย ก้ม และ หมุนรถไปรอบๆ โดยไม่ได้หมุนป้อมปืนตามไปด้วย เพื่อแสดงให้เห็นกระบอกปืนที่ชี้ตรงไปข้างหน้าอย่างมั่นคง โดยรักษาระดับตั้งฉากกับพื้นดินคงที่ และ อย่างน่าทึ่ง
นี่คือรถถังยุคที่ 4 ที่ได้รับคำชมว่าดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกโดยกลุ่มมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสตรี ที่ใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษ พยายามผลิตรถถังคุณภาพ เพื่อรับมือรถถังโซเวียตในยุคสงครามเย็น ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางด้านกลาโหมของประเทศ ที่ไม่เอื้ออำนวย
เทคโนโลยี "ปืนเสถียร" หรือ Stabilized Gun สำหรับรถถังไม่ใช่สิ่งใหม่ หากมีความพยายามทำ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เพิ่งจะเป็นจริงขึ้นมาในช่วงท้ายศตวรรษที่ 20 คือ เมื่อ M1A2 เอบรามส์ ของกองทัพบกสหรัฐ ติดตั้งปืนใหญ่เสถียร 120 มม. ที่กลุ่มไครส์เลอร์พัฒนาจากปืนใหญ่ของบริษัทไรน์เมทาลดีเฟ้นส์ (Rheinmetall Defense) แห่งเยอรมนี ซึ่งเวลาต่อมา ก็ได้นำไปติดตั้งบนรถถังเลโอพาร์ด 2A5 (Leopard/เล็พเพิร์ด)
(โปรดชมในคลิปสุดท้ายข้างล่าง)
ปัจจุบันรถถังหลักที่มีชื่อเสียงของโลก ต่างก็มีระบบปืนใหญ่เสถียรของตนเอง แม้แต่ใน T-90 ซึ่งก็คือ T-72 ที่รัสเซียนำมาปรับปรุง และตั้งชื่อใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะยังเป็นรถถังยุคที่ 3 ก็ยังติดตั้งระบบ "ปืนใหญ่ชี้ไปข้างหน้า" หรือ Point Foward Tank Cannon ของรัสเซียเอง ไม่ต่างกับ T-84 รุ่นใหม่ของยูเครน รวมทั้ง T-84 โอปล็อต-M (Oplot-M) ที่ขายให้กองทัพบกไทยด้วย
.
.
.
เทคโนโลยีปืนใหญ่เสถียรสำหรับรถถัง ก็ไม่ต่างกันมากมายกับเทคโนโลยีเดียวกัน ที่ใช้ในปืนใหญ่สำหรับเรือรบรุ่นใหม่ๆ รวมทั้งระบบปืน "ซีวิซ" (CIWS) หรือ ปืนกลยิงเร็วระยะประชิด (Close-In Weapons System) อย่างเช่นระบบปืนฟาลังซ์ (Phalanx CIWS) ของสหรัฐ ที่ออกแบบมาสำหรับยิงทำลายจรวด/ขีปนาวุธ หรือ วัตถุระเบิดใด ที่ยิงเข้าใส่ในระยะใกล้ ระบบปืนพวกนี้ติดตั้งอิสระบนเรือ ซึ่งจะไม่โคลง หรือ โยกโอนเอนไปตามลำเรือ แต่จะชี้ตรงจับเป้าหมายแน่วแน่ตลอดเวลา ขณะปฏิบัติการ
เพื่อช่วยให้เห็นเรื่องนี้ เป็นรูปธรรมง่ายๆ ขอให้นึกถึงระบบ "สเตบิไลเซอร์" หรือ ระบบป้องกันการสั่นไหว ของเลนส์ถ่ายภาพในกล้องดิจิตอลทั่วไป ซึ่งใช้หลักการทำงานเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม "สเตบิไลเซอร์" สำหรับรถถัง เป็นระบบที่ใหญ่กว่า และซับซ้อนกว่ากันมาก และ ต่างค่ายก็ต่างประกาศคุณสมบัติอันดีเลศของสินค้าที่ผลิต แต่จะล้ำเลิศเพียงใดจะต้องพิสูจน์กันในภาคสนาม ดังเช่นรถถังของมิตซูบิชิคันนี้ ที่เว็บข่าวกลาโหมบางแห่งชมว่า เป็นระบบปืนใหญ่ที่ "เสถียรเป็นเลิศ" (Excellent Stability) และ ยังถือเป็นการพัฒนาก้าวสำคัญของ "กองทัพบก" ญี่ปุ่นด้วย
ญี่ปุ่นได้พยายามพัฒนารถถังของตนเอง มาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ กองทัพพระจักรพรรดิ ไม่เคยมีรถถังขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพน่าเกรงขาม และ ในประวัติศาสตร์กองทัพ ประเทศนี้ไม่เคยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาหน่วยรบยานเกราะ หากมุ่งเน้นไปพัฒนากองทัพเรือ และ กองทัพอากาศเป็นหลักมาตลอด และ มิตซูบิชิฯ เอง ก็เคยผลิตทั้งเรือประจัญบาน เรือพิฆาต รวมทั้ง เครื่องบินขับไล่ดีที่สุด สร้างความเสียหายให้กองทัพสหรัฐมากที่สุดรุ่นหนึ่ง
แต่หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามแปซิฟิก โรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรปิดตาย หมดโอกาสพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ต้องไม่ลืมว่าในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ญี่ปุ่นอยู่ใน "ฝ่ายอักษะ" ที่นำโดยนาซีเยอรมนี และ กองทัพบกแห่งพระจักรพรรดิเคยพ่ายแพ้หมดรูป สูญเสียอย่างหนัก เมื่อครั้งสงครามกับรัสเซีย ในดินแดนยึดครองแมนจูเรียเมื่อก่อน ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปว่า รถถังตระกูลอาทิตย์อุทัยนั้น เล็กเกินไป และ บอบบางเกินไป ไม่สามารถต่อกรกับรถถังรัสเซีย ที่ใหญ่กว่า มีระบบอาวุธ-ระบบป้องกันดีกว่า ปืนใหญ่ยิงได้แม่นยำกว่า ฯลฯ
.
"เลโอพาร์ด 2A5" กองทัพเนเธอร์แลนด์ซื้อจากเยอรมนี ใช้เทคโนโลยี Stabilized Cannon สุดยอดเช่นกัน กล้องที่ติดบนปลายกระบอกปืนใหญ่ 120 มม.ของไรน์เมทาล (Rheinmetall) ทำให้เห็นความเสถียรเป็นเลิศ บ่งบอกความแม่นยำของอำนาจการยิง. |
.
เวลาต่อมากองทัพรถถังของพระจักรพรรดิ ยังผิดพลาดซ้ำอีก โดยพ่ายแพ้แก่กองกำลังของจีนคณะชาติ ที่นำโดยนายพลเจียงไคเช็กในแผ่นดินใหญ่จีน ทั้งๆ ที่ประเทศจีนในขณะนั้น มีรถถังไม่กี่คัน
ในช่วงสงครามคาบสมุทรเกาหลี สหรัฐได้บังคับให้ให้ญี่ปุ่นต้องพัฒนาและผลิตรถถังอีกครั้งหนึ่ง หรือ ไม่ก็ต้องซื้อจากสหรัฐ เช่นเดียวกันกับกองกำลังทางเรือ และ ทางอากาศ เพื่อมีไว้ป้องกันตนเอง จากภัยคุกคาม คือจีนทางหนึ่ง กับโซเวียตอีกทางหนึ่ง แต่การผลิตในรถถังประเทศ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย
ญี่ปุ่นเพิ่งจะผลิตรถถังต้นแบบรุ่นใหม่ๆ ของตัวเองออกมาได้ ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตอาวุธหลักสำหรับกองทัพพระจักรพรรดิ ในช่วงสงครามเอเชียแปซิฟิก และ ในยุคสมัยเดียวกัน ก็ยังเป็นผู้นำหน้าในการพัฒนาเรือรบอีกด้วย ซึ่งแต่นั้นมารถถังทุกรุ่นของญี่ปุ่น จะยึดถือเอารถถังโซเวียตเป็นคู่เปรียบเทียบ อันเป็นผลต่อเนื่องจาก ความพ่ายแพ้สงครามในแมนจูเรียในครั้งอดีต
ญี่ปุ่นมีระบบตั้งชื่อรถถัง ที่ทำให้โลกภายนอกปวดเศียรเวียนเกล้าไม่น้อย เพราะไม่เหมือนใครและไม่มีผู้ใดเหมือน โดยหลักๆ แล้วจะใช้ตัวเลข 2 หลักสุดท้ายของปีที่ผลิตในการตั้งชื่อ แต่เป็นการนับปีแบบ "ศกญี่ปุ่น" ซึ่งเริ่มเมื่อ 660 BC หรือ 660 ปีก่อนคริสต์กาลนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าหากมีรถถังรุ่นหนึ่ง ตั้งชื่อเป็น Type-70 ก็เป็นการบ่งบอกว่า รถถังรุ่นนั้น ผลิตเมื่อปี ค.ศ.1910 หรือ ศกที่ 2570 ตามระบบปีแบบญี่ปุ่น
แต่ต่อมาเมื่อมีระบบอาวุธต่างๆ ตั้งชื่อตามปีที่ผลิตมากขึ้น อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งรถถัง จะมีรหัสกำกับอีก 2 หลัก นำหน้าหรือต่อท้าย เพื่อบ่งบอกชนิดหรือรุ่น
Type-10 ผลิตออกมาครั้งแรกในปี 2554 กองกำลังป้องกันตนเองทางบก นำเข้าประจำการล็อตแรกในเดือน พ.ย.2555 จนถึงปัจจุบันก็ยังผลิตออกมาไม่ถึง 100 คัน และ มีราคาต้นทุนมหาศาล เกือบเท่าๆ กับรถถังชั้นนำของโลกตะวันตก
.
2
3
ตามสเป็กคร่าวๆ ที่รายงานในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมแห่งต่างๆ Type-10 เป็นรถถังหลักขนาด 44 ตัน หรือ 48 ตัน เมื่อบรรทุกเต็มพิกัด โครงเป็นเกราะเหล็กกล้านาโนคริสตัล หุ้มเกราะป้องกันชั้นนอกได้หลายชนิด ใช้ระบบปืน 120 มม.มาตรฐานนาโตที่ผลิตเอง และ ใช้ระบบป้อนกระสุนอัตโนมัติที่พัฒนาโดยกลุ่มมิตซูบิชิ เป็นการยุติบทบาทปืนใหญ่ 120 มม. ของไรน์เมทาล ที่ซื้่อสิทธิบัตรไปผลิตในประเทศ และ ติดตั้งบนรถถัง Type-90 ก่อนหน้านั้น
Type-10 ติดเครื่องยนต์ดีเซล V8 สี่จังหวะ ให้แรงบิดสูง 1,200 แรงม้าที่ 2,300 รอบ ติดชุดเกียร์ CVT (Continuously Variable Transmission) ของมิตซูบิชิ ทำให้รถวิ่งห้อบนท้องถนนได้ด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ ทำความเร็วได้เท่าๆ กัน เมื่อแล่นถอยหลัง จัดเป็นรถถังที่เดินหน้าและถอยหลังเร็วที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกเลยทีเดียว
*เดินหน้าถอยหลังรวดเร็ว-ระบบปืนใหญ่เสถียร สำคัญอย่างไรในสมรภูมิรบ?*
นี่คือคำถามที่มีคนถามอยู่บ่อยๆ
รถถังฮิโตมารุคงขับไม่ยากไปกว่า ขับมิตซูบิชิปาเจโร 4x4 ที่มีชื่อเสียงของค่ายเดียวกันนี้มากนัก แต่ต่างไปจากปาเจโร่ สเปซ วากอน ไทรทัน แลนเซอร์ มิราจ หรือ แอ็ททราจ .. ในยามสู้รบนั้น รถถังจะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะทันทีที่ยิงปืนใหญ่ออกไป ฝ่ายตรงข้ามก็จะค้นหาพิกัดอย่างรวดเร็ว และ ยิงสวนกลับ การหยุดอยู่กับที่จะเป็นเป้านิ่่ง ให้ทั้งปืนใหญ่ จรวด หรือ ปืนรถถังจากอีกฝ่ายหนึ่งยิงถล่มตามอำเภอใจ
ในสงครามยุคก่อน รถถังรุ่นเก่าๆ มักจอดตายเป็นแถว ก็เพราะตกเป็นเหยื่อกระสุนวิถีโค้งจากระยะไกล ทั้งนี้ก็เนื่องจากจะต้องหยุดรถให้นิ่งเสียก่อน จึงจะเล็งเป้าหมาย และ บรรจงกดปุ่มยิงออกไปทีละนัดๆ ซึ่งแต่ละนัดจะใช้เวลานานนับนาที ทำให้รถถังกลายเป็นเป้า ในขณะพยายามยิงซ้ำนัดที่สอง หรือ นัดที่สามเพราะฉะนั้นในการศึกยุคใหม่ การขับรถถังไปด้วย ยิงข้าศึกไปด้วย และ ต้องยิงให้ถูกเป้าหมาย จึงเป็นสิ่งท้าทายมาก ระบบ "ปืนใหญ่ชี้เด่ไปข้างหน้า" หรือ "ปืนใหญ่เสถียร" กับระบบเซ็นเซอร์ ตรวจหาและเล็งเป้าหมายที่ทันสมัย ก็จึงเข้ามามีความสำคัญด้วยประการฉะนี้
หากยังข้องใจก็ขอให้นึกถึงภาพยนตร์ตะวันตกที่เคยดูเมื่อครั้งเยาว์วัย อาจจะมีบางฉากที่ยังติดตามาจนถึงวันนี้ เช่น ฉากพระเอกที่นำแสดงโดยจอห์น เวนย์ (John Wayne) ควบม้าไป มือหนึ่งคุมบังเหียนม้า มืออีกข้างถือปืนรีวอลโว่ซิงเกิ้ลแอ็กชั่น.. ขึ้นนก ..ใช้สายตาเล็ง เป้าหมาย ซึ่งเป็นนักรบชนเผ่าอาปาเช่ ที่ควบม้าไล่ติดตาม .. เหนี่ยวไกยิง .. ขึ้นนก.. เหนี่ยวไกยิง.. พระเอกจะหยุดควบม้าไม่ได้ เพราะว่าทันทีที่หยุด ลูกธนูหรือหอกของนักรบชนพื้นเมืองก็จะพุ่งเข้าปักบนแผ่นหลัง.. ศึกรถถังก็มีภาพจำลองคล้ายๆ กัน
กลับไปยังญี่ปุ่น .. ไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดความขัดแย้งกับจีน เกี่ยวกับสิทธิการครอบครองเกาะเซนกากุ (เรือเกาะเตี่ยวอวี้ที่จีนเรียก) ประเทศนี้่ได้ทุ่มพัฒนาขีดความสามารถ ในการป้องกันตนเองอย่างรวดเร็ว แม้จะติดขัดทางการเมืองด้วยประการทั้งปวง เนื่องจากรัฐธรรมนูญแนวสันติ ที่ใช้มาตั้งแต่หลังสงครามเอเชียแปซิฟิก กำหนดให้รัฐบาลผลิตได้เฉพาะ อาวุธสำหรับป้องกันตนเองเท่านั้น ห้ามผลิตอาวุธโจมตีใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งห้ามส่งออก
เพราะฉะนั้นจะผลิตอาวุธชิ้นใดก็ตาม จะต้องตีความ หรือ หาเหตุผลอ้างอิงให้เป็น "อาวุธป้องกัน" ให้ได้
.
4
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ "แจแปนไทม์ส" เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลตุรกี ได้เซ็นบันทึกช่วยความจำฉบับหนึ่งกับญี่ปุ่น เพื่อร่วมผลิตเครื่องยนต์ดีเซล V8 ของมิตซูบิชิ ในตุรกี เพื่อใช้ขับเคลื่อนรถถังรุ่นหนึ่งที่ตุรกีผลิตขึ้นเอง แต่ไม่นานต่อมาบันทึกช่วยจำดังกล่าวต้องถูกยกเลิกไป เนื่องจากได้พบความจริงว่า ตุรกีมีแผนการจะขายรถถังที่ติดเครื่องยนต์จากญี่ปุ่น ให้แก่ลูกค้าอย่างไม่จำกัด ซึ่งกฎหมายของญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ทำได้
อินเดีย อินโดนีเซีย รวมทั้งกองทัพไทยเอง ได้แสดงความสนใจเครื่องบินทะเล สะเทินน้ำสะเทินบก ที่ผลิตโดยชินเมวะ อินดัสตรี (ShinMaywa Industry) ที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ ตั้งแต่งานลำเลียงพล ยกพลขึ้นบก จนถึงการช่วยเหลือกู้ภัย ในเหตุภัยพิบัติรุนแรงต่างๆ ออสเตรเลียเองขับเคี่ยวมาหลายปี เพื่อฃื้อและผลิตเรือดำน้ำของญี่ปุ่นรุ่นหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล การตัดสินใจทางการเมืองก็อาจจะเปลี่ยนไป ส่วนเวียดนามก็อาจจะต้องหันเข้าหาเครื่องบิน ตรวจการณ์/ปราบเรือดำน้ำรุ่นหนึ่ง ที่ผลิตโดยกลุ่มคาวาซากิหลังจาก การเจรจาซื้อ P-3 "โอไรออน" (Orion) จากสหรัฐ ไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะซื้อได้เฉพาะเครื่องบินเก่า แต่สหรัฐขายระบบอาวุธให้ไม่ได้
นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า อาวุธยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีสูงของญี่ปุ่น ได้กลายเป็นความหวังของหลายประเทศในย่านเอเชีย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ไกลออกไป ซึ่งหลายประเทศต่างมองหาอาวุธทางเลือก จึงทำให้เชื่่อกันว่าอีกไม่นาน จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถขายอาวุธยุทโธปกรณ์ ให้แก่มิตรประเทศได้ ไม่ต่างกับการแก้ไขกฏหมายฉบับหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทำให้สามารถส่งทหารออกปฏิบัติการ (ป้องกันตนเอง) ในต่างแดนได้
ปัจจุบันมิตซูบิชิฯ ยังคงนำหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ผลิตทั้งเรือดำน้ำ เรือรบ ญี่ปุ่นกำลังทดสอบเครื่องบินรบยุคที่ 5 อีกรุ่นหนึ่ง ที่มีเทคโนโลยี "สเตลธ์" คล้ายกับ F-35 ของสหรัฐอย่างมาก ทำให้เชื่อกันว่าด้วยต้นทุน ที่้ใช้ในการวิจัยและพัฒนาที่สูงลิ่ว ก็อาจจะต้องมีการแก้กฎหมาย เพื่อให้สามารถส่งออกเครื่องบินรบรุ่นนี้ได้ในอนาคต เช่นเดียวกันกับเรือดำน้ำ เรือรบ และ รถถัง รวมทั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ที่ก้าวหน้าต่างๆ ด้วย.