MGRออนไลน์ -- รัฐวิสาหกิจกลาโหมแห่งสาธารณรัฐยูเครน ได้เสนอให้กองทัพบกไทย ซื้อรถถังหลัก T-84 Oplot-M ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ได้แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่า กำลังทดสอบโอปล็อต-เอ็ม 13 คันสุดท้าย จากทั้งหมด 49 คัน ที่ไทยเซ็นซื้อในการจัดหาครั้งแรก และ พร้อมจะส่งมอบได้ปลายปีนี้ การพูดจากันเรื่องนี้ ระหว่างเจ้าหน้าที่ยูเครนกับฝ่ายไทย มีขึ้นในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครน มาเยือนไทยเพื่อร่วมงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ ที่จัดขึ้นในสัปดาห์นี้ และ ได้นำคณะเข้าเยี่ยมคำนับ หารือข้อราชการ กับฝ่ายไทย ที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
กลุ่มยูโครโบรอนพรอม (Ukroboronprom) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรววงกลาโหม ที่กำกับดูแลการผลิต และ การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ได้จัดส่งผลิตภัณฑ์รวมทั้งเทคโนโลยีด้านกลาโหมหลายชนิด มาร่วมงาน Defense & Security 2017 ที่ศูนย์นิทรรศการอิมแพ็กท์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ซึ่งเริ่มวันจันทร์ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา -- สิ่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากฝ่ายไทยไม่แพ้กัน ก็คือ รถลำเลียงพลหุ้มเกราะรุ่นใหม่ BRT-4E ทันสมัยกว่า BRT-3E ที่ไทยจัดหาจากประเทศนี้กว่า 200 คัน เมื่อหลายปีก่อน
สื่อกลาโหมในยูเครนรายงานเรื่องราวเหล่านี้ ในช่วงข้ามวันที่ผ่านมา โดยอ้างเฟซบุ๊กของ นายยูรี เบียร์ยูคอฟ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีกลาโหม
ในโอกาสนี้ พล.อ.สเตฟาน โปลโตราคา (Stepan Poltoraka) รมว.กลาโหม ได้นำคณะนายทหารระดับสูงจากยูเครน เข้าเยี่ยมคำนับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของไทย วันจันทร์ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์แสดงนิทรรศการดังกล่าว -- ฝ่ายยูเครนได้ทราบจากฝ่ายไทยว่า กำลังจะมีการจัดหารถถังหลักครั้งใหม่ และ ได้เสนอให้ไทย ซื้อรถถัง Oplot-M ต่อเนื่อง เพราะได้พิสูจน์ความพึงพอใจให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ในโอกาสนี้เช่นกัน ฝ่ายยูเครนได้แจ้งให้ฝ่ายไทยได้ทราบว่า ในขณะนี้การผลิต รถถังหลักที่โรงงานมาลีเชฟ (Malyshev) แห่งเมืองคาร์คอฟ (Kharkiev/Kharkov) สามารถดำเนินการได้เป็นปรกติทุกอย่าง จะไม่เกิดความล่าช้าในการผลิต และการส่งมอบอีกต่อไป
คณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายยูเครนอีกชุดหนึ่ง ยังได้พบหารือกับคณะเจ้าหน้าที่ของฝายไทย เกี่ยวกับแผนการจัดหารถถังหลักของไทยด้วย โดยยูเครนพร้อมที่จะผลิตและส่งมอบให้แก่ไทย ตามแผนการดั้งเดิม เมื่อกองทัพบกไทยจัดหาครั้งแรกในปี 2544 เว็บไซต์ข่าวกลาโหมแห่งเดียวกัน รายงานโดยไม่ได้ระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย
.
.
อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจยูโครโบรอนพรอม รายงานการพบปะหารือ ระหว่าง พล.อ. โปลโตราคา กับ พล.อ.ประวิตร แต่เพียงว่า สองฝ่ายได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับขอบเขต ความร่วมมือทางเทคนิคระหว่างกัน และ ฝ่ายยูเครนพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยในด้านการป้องกันประเทศ ทั้งได้เชิญ รองนายกฯ ไทย ไปเยือน เพื่อเยี่ยมชมให้เห็นความเปลี่ยนแปลง กับการพัฒนาด้านต่างๆ ในกองทัพสาธารณรัฐยูเครนอีกด้วย
กองทัพบกไทยกำลังทะยอยจัดหา รถถังหลักรุ่นใหม่ราว 200 คัน เพื่อใช้เแทน M41 “วอล์กเกอร์ บุลด็อก” (Walker Bullldog) ที่ใช้มานาน ตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม และ ในการจัดหาครั้งแรก ได้เลือก T-84 โอปล็อต-M ซึ่งชนะรถถัง T-90A รุ่นแรกจากรัสเซีย กับ MBT200 จากจีน ด้วยประสิทธิภาพที่น่าพึงพอใจ กับคุณสมบัติใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การโหลดกระสุนปืนใหญ่แบบอัตโนมัติ กับการแยกห้องเก็บกระสุนไว้ในส่วนท้ายรถ -- ห้องผู้บังคับ พลขับ กับ พลปืน ประจำอยู่ส่วนหน้า โดยมีแผ่นเกราะหนากั้นเป็น "สองห้อง" เพิ่มโอกาสอยู่รอดของกำลังพล เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่นการระเบิดจากภายใน
กองทัพบกไทยเซ็นสัญญาซื้อ Oplot-M จำนวน 49 คัน ในเดือน ก.ย.2554 พร้อมยานยนต์สนับสนุนจำนวนหนึ่ง รวมเป็นมูลค่าราว 240 ล้านดอลลาร์ หรือ 7,200 ล้านบาท กลายเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกของรถถังหลักรุ่นใหม่นี้ -- แต่เนื่องจากโรงงานผลิตขาดวัสดุอุปกรณ์ และ การสนับสนุนชิ้นส่วนต่างๆ ตลอดจนความล้มเหลวในการบริหารจัดการ ทำให้การส่งมอบล่าช้า และ ในการจัดหาล็อตที่ 2 -- เมื่อต้นปี 2559 ฝ่ายไทยได้หันไปซื้อ รถถังหลักแบบ VT-4 จากจีนแทน จำนวน 28 คันเป็นวงเงิน 4,900 ล้านบาท -- และ อาจจะซื้อเพิ่มอีกถึง 10 คัน
จีนส่ง VT4 ให้แก่ไทยครบจำนวน ในสัปดาห์ต้นเดือน ต.ค.ที่ผานมา -- แต่ถึงกระนั้น เมื่อรวมเข้ากับ Oplot-M อีก 49 คัน ก็จะพบว่าจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ในแผนการจัดหา เพื่อนำเข้าประจำการทดแทน M-41 ที่เสื่อมสภาพ ซึ่งได้ทำให้ไทยเป็นนตลาดใหญ่ สำหรับผู้ผลิตรถถังหลักจากทั่วโลก ตลอดหลายปีข้างหน้า
ยูโครโบรอนพรอม ได้ส่ง Oplot-M ให้ไทยเป็นครั้งแรก จำนวน 5 คัน ในปี 2556 -- ส่งให้อีกปีละ 5 คัน ในปี 2557 และ 2558 -- ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 คัน เมื่อปีที่แล้ว และ ปีนี้ไทยได้รับมาอีก 11 คัน -- กับอีก 13 คัน สุดท้าย ที่ผ่านการทดสอบในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งแสดงให้เห็นการผลิตที่กลับมาเป็นปรกติ
.
เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ยูโครโบรอนพรอม ได้นำ T-84 Oplot-M คันหนึ่ง กับอาวุธยุทโธปกรณ์อีกหลายชนิด ไปวางแสดงในงานนิทรรศการและการประชุมสัมมนาประจำปี ของประชาคมกองทัพบกสหรัฐ หรือ AUSA 2017 (Association of US Army 2017) ที่จัดขึ้นในกรุงวอชิงตันดีซี นับเป็นครั้งแรกที่อาวุธชั้นนำของยูเครน มีโอกาสไปปรากฏตัวในอเมริกา ร่วมกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยผู้ผลิตอาวุธและเทคโลโยด้านกลาโหมชั้นนำ นับร้อยบริษัทและองค์การจากโลกตะวันตก ทั้งที่เป็นประเทศสมาชิกนาโต และ ชาติพันธมิตร -- อาวุธของยูเครน ได้รับความสนใจจากคณะผู้แทนของหลายประเทศ
ยูโครโบรอนพรอม รายงานในเดือน ส.ค.ปีนี้ว่า ปากีสถาน ได้ขอเจรจาซื้อ T-84 Oplot-M จำนวน 100 คัน ทั้งๆ ที่ 2 ปีก่อนหน้านี้ ได้เคยตัดรถถังยูเครนออกจากการพิจารณา เนื่องจากผลการทดสอบวิ่งในทะเลทราย ปรากฏว่าเครื่องยนต์ขนาด 1,000 แรงม้าเกิดโอเวอร์ฮีต -- และ ผลการทดสอบ MBT3000 จากจีน ก็ไม่ผ่านเกณฑ์เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ปากีสถานมีประสบการณ์ ในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ผลิตจากสาธารณรัฐยูเครนมาก่อน รวมทั้งเคยจัดหารถถังหลัก T-84UD ถึง 320 คัน ในช่วงทศวรรษที่ 1990 -- เฟซบุ๊กของที่ปรึกษา รมว.กลาโหมยูเครน ยืนยันในสัปดาห์นี้ว่า การเจรจาซื้อขาย Oplot-M กับปากีสถาน ยังคงดำเนินต่อไป และ ถ้าหากประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นลูกค้ารายที่ 2 ถัดจากไทย
โอปล็อต-เอ็ม เป็น MBT ขนาด 51 ตัน ติดเครื่องยนต์ได้หลายขนาด ใช้เชื้อเพลิงได้หลายชนิด มีความคล่องตัวสูง ใช้กำลังพลเพียง 3 นาย อาวุธหลักเป็นปืนใหญ่ลำกล้องเกลี้ยง ขนาด 125 มม. แบบ KBA-3 พร้อมกระสุนจำนวน 46 นัด กับปืนกล 7.62 มม. ติดตั้งบนแชสซี 1 กระบอก กระสุน 1,250 นัด และ ปืนกล 12.7 มม. อีก 1 กระบอก กระสุน 450 นัด -- ปืนใหญ่รถถังสามารถยิงกระสุนเจาะเกราะได้หลายชนิด รวมทั้งใช้ยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังได้อีกด้วย.
.
ปีนี้รัฐวิสาหกิจยูโครโรบอนพรอมจัดมาเต็ม นอกจากจะมาพร้อมข่าวดี กับข้อเสนอล่าสุด สำหรับ T-84 Oplot-M แล้ว ยังนำ BTR-4E ลำเลียงพล หุ้มเกราะล้อยาง 8x8 ติดปืนใหญ่อัตโนมัติ 30 มม.ตัวจริงเสียงจริง มาแนะนำตัวถึงตลาดใหญ่ เป็นครั้งแรกอีกด้วย หลายปีก่อนไทยเคยจัดหา BTR-3E กว่า 200 คัน สำหรับกองทัพบก กับหน่วยนาวิกโยธินของราชนาวี. |