MGRออนไลน์ -- รัฐวิสาหกิจยูโครโบรอนพรอม (Ukroboronprom) ผู้กำกับดูแลการผลิตและส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหมยูเครน ได้จัดส่งยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 8 ล้อ BTR-3E1 ให้แก่กองทัพบกไทยอีกล็อตหนึ่ง โดยยังไม่ทราบจำนวน แต่เป็นการส่งมอบครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากสองฝ่ายเซ็นสัญญาซื้อขายกันไป 3 ครั้งก่อนหน้านี้ รวมทั้งครั้งล่าสุดในปี 2556 ที่จะนำมาประกอบในไทยเองด้วย
การผลิตยานเกราะล้อยางสำหรับกองทัพบกไทยล็อตนี้ "ดำเนินไปตามแผนการ" และ พร้อมส่งไปมอบให้แก่ฝ่ายไทย เว็บไซต์ข่าวกลาโหมในยูเครนรายงานวันอังคาร 14 มี.ค.นี้ อ้างแหล่งข่าวในรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ซึ่งระบุว่าในวันที่ 22 ก.พ. โรงงานผลิต BTR-3E1 ในกรุงเคียฟ ได้ส่งรถหุ้มเกราะทั้งหมดไปยังท่าเรือ โดยเชื่อว่าสัปดาห์นี้กำลังเดินทางจากทะเลดำ เพื่อเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผ่านคลองสุเอซ มุ่งหน้าไปยังประเทศไทย
รถหุ้มเกราะ BTR-3E1 ออกแบบโดยบริษัท Morozov Machine-Building Design Bureau ที่เมืองคาร์คิฟ (Kharkiv/คาร์คอฟ) แต่ผลิตที่โรงงานยานเกราะ (Kiev Armour Plant) ที่ตั้งอยู่ในย่านรอบนอกของเมืองหลวง
BTR-3E1 เป็นรุ่นที่ออกแบบและผลิต ตามความต้องการของกองทัพบกไทย เช่นเดียวกันกับอีกรุ่นหนึ่งที่ออกแบบและผลิตตามความต้องการของกองทัพพม่า ซึ่งเซ็นซื้อล็อตใหญ่ราว 1,000 คัน ในช่วงหลายปีมานี้ ในนั้นประมาณ 3 ใน 4 จะนำชิ้นส่วนต่างๆ ไปประกอบที่โรงงานของกองทัพในนครย่างกุ้ง
"ยูโครโบรอนพรอม จะต้องส่งมอบ BTR-3 ติดเครื่องยนต์ในสภาพสมบูรณ์ให้แก่กองทัพไทย เป็นจำนวนรวมกันทั้งหมด 233 คัน ตามสัญญาซื้อขายที่เซ็นกันในปี 2550 และ 2554 (รวมมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์)" ซึ่งไทยได้รับมอบไปจำนวนหนึ่งระหว่างปี 2553-2556
ตัวเลขการส่งมอบโดยฝ่ายยูเครน อยู่ระหว่าง 140-153 คัน แตกต่างกันออกไปในรายงานของแต่ละแหล่ง ซึ่งยังไม่มีฝ่ายใดอธิบายว่าความแตกต่างนี้ ขณะที่บางแหล่งบอกว่า เป็นการนับจำนวนรถหุ้มเกราะทั้งหมดสำหรับกองทัพบก กับอีกจำนวนหนึ่งที่สั่งซื้อโดยกองทัพเรือไทย สำหรับกองกำลังนาวิกโยธิน และ นับรวมจำนวนส่งมอบจากที่เซ็นซื้อสองครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของเว็บไซต์ข่าวกลาโหมยูเครนระบุว่า การส่งมอบรถหุ้มเกราะล้อยาง 8x8 ล็อตแรกจำนวน 96 คัน ที่เซ็นซื้อในปี 2550 ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากฝ่ายไทยต้องการเปลี่ยนเครื่องยนต์และระบบเกียร์สำหรับรถจำนวนหนึ่ง
ทั้งหมดประกอบด้วย BTR-3E1 จำนวน 64 คัน รถเกราะบังคับการ-อำนวยการ BTR-3K อีก 4 คัน รถพยาบาล BTR-3S จำนวน 3 คัน BTR-3M1 ติดเครื่องยิงระเบิด 88 มม. 9 คัน BTR-3M2 ติดเครื่องยิงระเบิด 120 มม. 4 คัน BTR-3RK ติดจรวดนำวิถีต่อสู้รถถัง 6 คัน กับ รถเกราะกู้และซ่อมแซม BTR-3BR อีก 6 คัน
ฝ่ายยูเครนกล่าวว่า ในจำนวนทั้งหมดนั้น เป็นรถที่รัฐบาลในกรุงเคียฟให้เป็น "ของแถม" แก่ฝ่ายไทยจำนวน 6 คัน
.
2
3
ในเดือน มิ.ย.2554 ยูโครโบรอนพรอม ได้รายงานผลการทดสอบ BTR-3E1 ที่ส่งมอบล็อตแรกจำนวน 12 คัน ที่สนามทดสอบ จ.สระแก้วของไทย ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 1 เดือนเดียวกัน ต่อมาในเดือน ส.ค.2554 ยูโครโบรอนพรอมแถลงว่า กองทัพบกไทยซื้อ BTR-3 เพิ่มอีกล็อตจำนวน 121 คัน มูลค่ากว่า 140 ล้านดอลลาร์
อีกสองปีถัดมา ในเดือน ส.ค.2556 รัฐวิสาหากิจดังกล่าว ออกแถลงอีกครั้งหนึ่งว่า เพิ่งจะมีการเซ็นสัญญาจัดหารถหุ้มเกราะกับไทยอีก 21 คัน โดยครั้งนี้ไม่ได้ระบุมูลค่า แต่เป็นการเซ็นซื้อขายกันครั้งที่ 3 ประกอบด้วย BTR-3E1 จำนวน 15 คัน BTR-3RK อีก 6 คัน และ ทั้งหมดจะนำไปประกอบในประเทศไทย
เดือน พ.ย.2558 ฝ่ายยูเครนออกแถลงว่า ได้มีการเซ็นสัญญากับฝ่ายไทย เพื่อจัดตั้งสายการผลิต BTR-3E1 และ BTR-3RK ในประเทศไทย ตามสัญญาเดือน ส.ค.2556
เพราะฉะนั้น แม้จะยังไม่ทราบจำนวน BTR-3E1 ที่ยูเครนกล่าวในสัปดาห์นี้ว่า กำลังเดินทางมาเพื่อส่งมอบให้ไทย แต่ข้อมูลอันเป็นภูมิหลังการเซ็นสัญญาซื้อขายระหว่างสองฝ่าย ทำให้เข้าว่ารถหุ้มเกราะล็อตนี้ เป็นจำนวนที่ตกค้างมาจากการเซ็นสัญญาซื้อเพิ่มเติมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ไม่เพียงแต่รถหุ้มเกราะในแพล็ตฟอร์ม BTR-3 กับรถอื่นๆ ในแชสซีเดียวกันเท่านั้น กองทัพบกไทยยังเป็นลูกค้ารายแรก สำหรับรถถัง T-84 Oplot-M ที่ผลิตในยูเครนอีกด้วย ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เซ็นสัญญาซื้อขาย ฝ่ายไทยเพิ่งได้รับมอบ 2 ครั้งรวมจำนวน 10 คัน จากที่ทั้งหมด 49 คันที่เซ็นซื้อในวงเงินราว 240 ล้านดอลลาร์
สงครามกับฝ่ายแบ่งแยกดินแดนที่มีรัสเซียให้การสนับสนุน ในจังหวัดทางภาคตะวันออก ได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญ ต่อการผลิตยุทโธปกรณ์ให้แก่ลูกค้าในต่างแดน เว็บไซต์ข่าวกลาโหมของยูเครนเองเคยออกยอมรับว่า สงครามภายในทำให้รัฐบาลต้องวางน้ำหนักไปที่ การผลิตเพื่อใช้ในกองทัพเป็นอันดับแรก.