xs
xsm
sm
md
lg

สหประชาชาติเตือน จนท.ในรัฐยะไข่ระวังตัวหวั่นชาวพุทธโจมตีหลังเกิดข่าวลือหนุนโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอพีเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ชาวพุทธหัวรุนแรงรวมทั้งพระสงฆ์เดินชบวนประท้วงบนท้องถนนต่อต้านการให้สิทธิพลเมืองกับชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมืองสิตตะเว รัฐยะไข่ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างชุมชนชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงญายังคงมีสูงในรัฐแห่งนี้ที่มีชาวมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และสหประชาชาติได้แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ให้เพิ่มความระมัดระวังหลังมีข่าวลือว่าหน่วยงานบรรเทาทุกข์ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนชาวมุสลิมโรฮิงญา. -- Associated Press.</font></b>

รอยเตอร์ - สหประชาชาติได้เตือนเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ทางภาคตะวันตกของพม่าให้ระมัดระวังต่อความรู้สึกเป็นศัตรูที่เพิ่มสูงขึ้น และการชุมนุมประท้วงของชาวพุทธในรัฐยะไข่ ที่บางคนกล่าวหาว่า หน่วยงานด้านมนุษยธรรมกำลังสนับสนุนผู้ก่อการร้ายมุสลิมโรฮิงญา

รอยเตอร์ได้รับข้อความเกี่ยวกับการแจ้งเตือนเรื่องระมัดระวังความปลอดภัย ที่แจกจ่ายให้แก่พนักงานของสหประชาชาติ และเอ็นจีโอในรัฐยะไข่เมื่อวันพุธ (9)

ข้อความระบุว่า มีความเป็นไปได้ของความไม่สงบ และโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมประท้วงที่สำนักงานของหน่วยงานให้ความช่วยเหลือในรัฐ ที่ประสบต่อเหตุความรุนแรงอยู่แล้ว

สำนักงานผู้ประสานงานของสหประชาชาติในพม่ายืนยันว่า ได้ออกคำแจ้งเตือน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบปฏิบัติด้านความมั่นคง และความปลอดภัยตามปกติ

ความเข้าใจว่าหน่วยงานสหประชาชาติให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้ายมุสลิม และแม้แต่สนับสนุนชุมชนมุสลิมอย่างกว้างขวาง ยิ่งโหมกระพือความรู้สึกถึงความเป็นปรปักษ์มากยิ่งขึ้น

“ข่าวลือ และข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะยังถูกใช้เพื่อกระตุ้นความรู้สึกต่อต้านสหประชาชาติ และเอ็นจีโอต่างชาติ ความรู้สึกเป็นศัตรู และเพิ่มความไม่พอใจมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อความปลอดภัยโดยทันทีจึงเป็นสิ่งจำเป็น” ข้อความระบุ

ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 1.1 ล้านคน อาศัยในรัฐยะไข่ แต่ถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมือง และต้องเผชิญต่อข้อจำกัดการเคลื่อนไหว และการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ชาวโรฮิงญาประมาณ 120,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายพักแรมชั่วคราวที่ตั้งขึ้นหลังเกิดเหตุความรุนแรงในปี 2555 ซึ่งพวกเขาต้องพึ่งพาหน่วยงานช่วยเหลือ

ในเดือน ต.ค. ผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาได้สังหารตำรวจชายแดน 9 นาย ก่อให้เกิดปฏิบัติการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ นำมาซึ่งข้อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ก่อเหตุข่มขืน สังหาร และทรมานชาวมุสลิมโรฮิงญา

ด้านนางอองซานซูจี ผู้นำพม่าปฏิเสธที่จะให้วีซ่าแก่ผู้สืบสวนของสหประชาชาติที่ได้รับมอบภารกิจเข้าสอบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ

ความตึงเครียดกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ค. เมื่อชาวพุทธ 7 คน ถูกแทงเสียชีวิตใกล้เมืองหม่องดอ ทางเหนือของรัฐยะไข่ และรัฐบาลระบุว่า พบค่ายในป่าที่พิสูจน์ได้ว่าชาวมุสลิมหัวรุนแรงอยู่เบื้องหลังเหตุฆาตกรรม และความรุนแรงอีกหลายครั้งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

นางอองซานซูจี ได้เรียกประชุมระดับสูงในกรุงเนปีดอเพื่อหารือด้านความมั่นคงในรัฐยะไข่เมื่อวันพุธ ตามการรายงานของสื่อทางการ

แกนนำชาวพุทธยะไข่คร่ำครวญถึงการปรากฎตัวของหน่วยงานต่างประเทศ ที่พวกเขากล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา และการค้นพบบิสกิตติดตราโครงการอาหารโลกสำหรับเด็กขาดสารอาหารในค่ายผู้ก่อการร้ายต้องสงสัยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ยิ่งทำให้ชาวพุทธโกรธแค้น

พระสงฆ์ และแกนนำชุมชนชาวยะไข่ได้พบหารือกันเมื่อวันอาทิตย์ ในเมืองสิตตะเว และเรียกร้องให้รัฐบาลรับประกันความปลอดภัยของพลเมืองที่ไม่ได้เป็นชาวมุสลิม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ที่เต็มไปด้วยชาวโรฮิงญา

มีการวางแผนชุมนุมประท้วงทั่วรัฐยะไข่ในวันอาทิตย์เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานต่างชาติออกจากพื้นที่ และต้องการให้รัฐบาลตรวจสอบข้อมูลชาวมุสลิมในรัฐ

“เราไม่สามารถรับรองได้ว่าจะไม่มีความรุนแรงเหมือนก่อนหน้า เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ และเอ็นจีโอต่างประเทศควรระมัดระวังวิธีการที่พวกเขาทำงานและใช้ชีวิต หากพวกเขายังขับไปทั่วเมืองแบบนี้ หรือเยี่ยมหมู่บ้านมุสลิมโดยไม่ระวัง พวกเขาอาจทำให้ชาวยะไข่เกลียด ทุกอย่างขึ้นกับพวกเขา” ผู้อาวุโสชุมชนชาวยะไข่ ในเมืองสิตตะเว กล่าว

ด้านโฆษกรัฐบาลรัฐยะไข่เชื่อมั่นว่า คนท้องถิ่นได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และจะไม่เริ่มความรุนแรงต่อหน่วยงานช่วยเหลือ.
กำลังโหลดความคิดเห็น