รอยเตอร์ - มาเลเซีย กล่าววันนี้ (19) ว่า ชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่าเป็นความวิตกกังวลในระดับภูมิภาค และเรียกร้องให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประสานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และสืบสวนข้อกล่าวหาการกระทำความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา
นายอานิฟาห์ อามัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวในที่ประชุมกลุ่ม 10 ชาติสมาชิกในนครย่างกุ้ง ตามคำเชิญของนางอองซานซูจี หลังมีรายงานเกี่ยวกับว่า กองทัพได้สังหาร ข่มขืน และจับกุมพลเรือนโรฮิงญาหลายสัปดาห์ แต่พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยระบุว่า รายงานไม่เป็นความจริง และยืนยันว่าปัญหารัฐยะไข่เป็นเรื่องภายใน
และเพื่อที่จะขจัดแรงกดดันทางการทูตต่อวิกฤตโรฮิงญา รัฐบาลพม่าได้เชิญคณะสื่อที่ผ่านการคัดเลือกลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในสัปดาห์นี้
นายอานิฟาห์ อามัน กล่าวว่า เหตุการณ์ในรัฐยะไข่เป็นเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคงของภูมิภาค ชี้ว่ามีชาวโรฮิงญาราว 56,000 คน อาศัยอยู่ในมาเลเซียตอนนี้ซึ่งหลบหนีเหตุไม่สงบในพม่าครั้งก่อนหน้า
“เราเชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความวิตกกังวลของภูมิภาคในตอนนี้ และควรที่จะได้รับการแก้ไขร่วมกัน” อานิฟาห์ กล่าวต่อที่ประชุม และเสริมว่าความคืบหน้าในการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนของโรฮิงญาค่อนข้างช้า เนื่องจากยังเต็มไปด้วยรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่
อานิฟาห์ ยังเตือนว่า กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามอาจใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย กล่าวว่า ทุกคนรู้สึกยินดีต่อการประชุมในวันนี้ ที่อธิบายว่าเป็นการบรรยายสรุปของพม่าต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า พม่าตกลงที่จะให้ข้อมูลเป็นประจำต่อสมาชิกอาเซียน และได้ให้คำมั่นว่าจะเปิดการเข้าถึงสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
รัฐบาลของพม่า ระบุว่า ผู้ก่อความไม่สงบที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีด่านชายแดนใกล้ชายแดนบังกลาเทศ ทางเหนือของรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มหัวรุนแรงในต่างประเทศ
กองกำลังทหารพม่าได้ระดมกำลังลงพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนับตั้งแต่เกิดการโจมตีที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย นับตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 86 คน และชาวโรฮิงญาราว 27,000 คน ได้หลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศ ซึ่งบรรดาผู้ลี้ภัย ประชาชน และกลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ทหารพม่ากระทำการสังหาร ช่มขืนผู้หญิงโรฮิงญา และเผาบ้านเรือน
ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่ถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมืองในพม่า และถูกพิจารณาว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ผู้สังเกตการณ์ และองค์กรสื่ออิสระไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ปิดล้อม ที่ชุมชนชาวโรฮิงญาบางส่วนถูกตัดขาดจากหน่วยงานความช่วยเหลือ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน ซึ่งเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชนที่ประสบต่อภาวะขาดสารอาหารที่มีอัตราสูงมาก
กลุ่มผู้สื่อข่าวที่ได้รับเลือกโดยกระทรวงข้อมูลข่าวสารจะเป็นตัวแทนสื่อในประเทศและต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางไปเยือนเมืองหม่องดอ พื้นที่หลักของความขัดแย้ง ในวันจันทร์ (19) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เชิญสื่อที่รายงานข่าวเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการละเมิด ซึ่งรวมทั้งรอยเตอร์
ความพยายามที่จะโต้แย้งข้อกล่าวหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพต้องล้มเหลวไปจากการเผยแพร่รายงานโดยองค์การนิรโทษกรรมสากลในวันจันทร์ (19) ที่กล่าวหาว่า การรณรงค์ความรุนแรงของพม่าต่อชาวโรฮิงญาอาจเปรียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังอ้างภาพถ่ายดาวเทียม และคำให้การของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่และบังกลาเทศ ท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ยังกล่าวหาว่า มีการอุ้มหายผู้สูงอายุและแกนนำศาสนาในเมืองหม่องดอ
“ขณะที่ทหารเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการละเมิด อองซานซูจี ก็ล้มเหลวที่จะดำเนินการด้วยความรับผิดชอบทั้งทางศีลธรรม และทางการเมือง ในความพยายามที่จะหยุดยั้ง และประณามสิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นในรัฐยะไข่” ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง.