รอยเตอร์ - ความรุนแรงในพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมของพม่ากำลังขัดขวางการจัดส่งอาหาร และยาของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเผยวันนี้ (18) เนื่องจากกองกำลังรักษาความปลอดภัยตอบโต้การโจมตีที่รัฐบาลระบุว่าได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
กองกำลังทหารเข้ากวาดล้างรัฐยะไข่ ทางภาคเหนือของประเทศเป็นเวลามากกว่าสัปดาห์ ออกตามล่าผู้ก่อเหตุไม่สงบที่คาดว่ามีอยู่ราว 400 คน ที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าสมาชิกในกลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นคนในชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงต่างชาติ
ทหารพม่าได้ประกาศให้พื้นที่เป็นเขตปฏิบัติการ และควบคุมข้อมูลอย่างเข้มงวด นับตั้งแต่กลุ่มผู้โจมตียึดอาวุธไปหลายสิบรายการจากการบุกโจมตีฐานชายแดนเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตไป 9 นาย
“หน่วยงานของสหประชาชาติไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมินความต้องการด้านมนุษยธรรมได้” ปิแอร์ เปรอง โฆษกสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุ
คลินิกสุขภาพและโครงการโภชนาการในรัฐยะไข่ถูกขัดขวางด้วยข้อจำกัดความเคลื่อนไหวที่ถูกกำหนดขึ้นหลังเหตุโจมตี
“เราหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นโดยเร็วเพื่อที่ว่าหน่วยงานด้านมนุษยธรรมจะสามารถกลับมาดำเนินโครงการจำเป็นต่างๆ ที่จะช่วยทุกชุมชนในรัฐยะไข่” เปรอง กล่าว
นับตั้งแต่การบุกโจมตีเมื่อวันที่ 9 ต.ค. เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะ เป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุไม่สงบอย่างน้อย 30 คน และเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย
ประชาชนเกือบ 120,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ต้องอพยพจากที่อยู่ในรัฐยะไข่หลังเกิดเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนในปี 2555 และแหล่งข่าวในท้องถิ่นเผยว่า ความรุนแรงครั้งล่าสุดนี้ส่งผลให้มีผู้ไร้ที่อยู่เพิ่มขึ้นอีกหลายพันชีวิต
.
.
.
แกนนำทางการเมืองชาติพันธุ์ยะไข่ กล่าวว่า กองกำลังท้องถิ่นของรัฐบาลต่อสู้กับสิ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นภัยคุกคามจากประชากรชาวโรฮิงญาที่เพิ่มขึ้น
“ชาวบ้านต่างหวาดหวั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเองเพราะเพื่อนบ้านที่เป็นศัตรูของพวกเขามีประชากรมาก” ขิ่น หม่อง ตัน ประธานพรรคแห่งชาติอาระกัน กล่าวในเมืองหม่องดอ ที่เป็นศูนย์กลางของความรุนแรง
ขิ่น หม่อง ตัน ประเมินว่า ชาวพุทธยะไข่ประมาณ 5,000 คน ได้หลบหนีออกจากบ้าน ด้วยกลัวการโจมตีจากชาวเบงกาลี (เบงกาลี เป็นคำที่ชาวพม่าใช้เรียกชาวโรฮิงญา เนื่องจากมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายมาจากบังกลาเทศ)
ฝ่ายแกนนำชาวโรฮิงญายืนยันว่า มีชาวโรฮิงญาเพียงเล็กน้อยจาก 1.1 ล้านคนในรัฐยะไข่ ที่เชื่อว่าความรุนแรงเป็นทางแก้ไขชะตาชีวิตของพวกเขา
สำนักงานของประธานาธิบดีถิ่น จอ ระบุว่า กลุ่ม Aqa Mul Mujahidin ที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุโจมตีวันที่ 9 ต.ค. มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในต่างประเทศ
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแสดงความวิตกว่าอาจมีพลเรือนติดอยู่ในการปราบปรามครั้งนี้ ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงแต่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล
แกนนำอาวุโสชาวโรฮิงญาในเมืองหม่องดอ กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า เขาได้รับรายงานว่า มีชาวโรฮิงญามากถึง 9,000 คน ต้องอพยพออกจาก 21 หมู่บ้าน
ส่วนรายงานของสหประชาชาติระบุว่า มีประชาชนประมาณ 1,200 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธยะไข่ พักหลบภัยอยู่ในโรงเรียนเมืองบูติด่อง และคาดว่ามีอีกเป็นจำนวนมากที่พักอยู่กับญาติพี่น้องในพื้นที่อื่นๆ ของรัฐ.
.
.