xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเป้า 20 ปี ผู้ชายต้องสูง 180 ซม. หญิง 167 ซม. แก้ปัญหาเด็กไทยเตี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เร่งแก้ปัญหาเด็กไทยเตี้ย เผย ความสูงเฉลี่ยชายไทย 171 ซม. หญิง 159 ซม. เล็งอัปส่วนสูงใน 20 ปี ชายไทยต้องสูง 180 ซม. หญิง 167 ซม. เริ่มส่งเสริมสุขภาพดีตั้งแต่ในครรภ์มารดา ทารก วัยเรียน และวัยรุ่น

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนไทย ต้องการให้มีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายสูง รูปร่างดีสมส่วน โดยผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 (MICS4) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผอมร้อยละ 6.7 เตี้ยร้อยละ 16.4 และข้อมูลการสำรวจฐานข้อมูลรูปร่างและสรีระประชากรไทย (SizeThailand) ในปี 2551 โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่า ความสูงเฉลี่ยของชายไทยอยู่ที่ 169.46 ซม. หญิง 157 ซม. โดยกลุ่มอายุ 16 - 25 ปี พบว่า ผู้ชายมีความสูงเฉลี่ย 171.36 ซม. และหญิงสูง 159.32 ซม. ในปี 2559 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมอนามัยจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพเด็กไทย เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งเป็นทารก เข้าสู่วัยเรียน และวัยรุ่น เน้นการส่งเสริมโภชนาการ และการออกกำลังกาย ตั้งเป้าหมาย 20 ปีข้างหน้า ชายไทยสูง 180 ซม. และหญิงไทยสูง 167 ซม.

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดในปี 2558 ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานมีเด็กวัยเรียนที่มีส่วนสูงระดับดีและรูปร่างสมส่วนเพียงร้อยละ 56 สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดสารอาหารเรื้อรัง ซึ่งข้อมูลวิชาการในหลายประเทศระบุว่า เด็กแรกเกิดถึง 5 ปีที่เตี้ย มักมีภูมิต้านทานต่ำ ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยบ่อย ป่วยนาน และรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตได้ และยังพบว่ามีผลต่อการพัฒนาสมอง โดยระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กที่มีส่วนสูงตามเกณฑ์ พัฒนาการล่าช้า และความสามารถในการเรียนรู้บกพร่อง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เฉื่อยชา ความสูงต่างกันมากกว่า 3.4 ซม. มีผลต่อเกรดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมีภาวะเตี้ยมีความเสี่ยงสูงป่วยเป็นโรคเรื้อรังเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิจัดทำโครงการส่งเสริมโภชนาการเด็กปฐมวัย สูงดี สมส่วน สมองดี แข็งแรง และโครงการเด็กวัยเรียนวัยใสโภชนาการดี เพื่อส่งเสริมเด็กปฐมวัยและวัยเรียนให้มีส่วนสูงระดับดี และรูปร่างสมส่วน แก้ไขปัญหาเตี้ย ผอม อ้วน รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานในคลินิกฝากครรภ์ คลินิกเด็กดี หมู่บ้าน ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก ตั้งแต่โรงพยาบาล ในคลินิกฝากครรภ์และคลินิกสุขภาพเด็กดี ในชุมชน/หมู่บ้าน ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน การให้ความรู้ทางโภชนาการในโรงเรียนพ่อแม่ รวมทั้งประสานความร่วมมือและสนับสนุนสื่อให้กับชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน ในการจัดอาหารตามวัยในครอบครัว และการจำหน่ายอาหารว่างที่มีประโยชน์ในชุมชน รอบรั้วศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ สูงดีสมส่วน สมองดี แข็งแรง ลดการเจ็บป่วยเป็นรากฐานของการเจริญเติบโตที่ดีในวัยเรียน เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

นพ.วชิระ กล่าวว่า การเพิ่มส่วนสูงมีระยะเวลาจำกัด ผู้ชายหยุดสูงเมื่ออายุ 18 - 19 ปี ผู้หญิงหยุดสูงเมื่ออายุ 16 - 17 ปี ช่วงโอกาสทองในการเพิ่มความสูงของเด็กให้สมวัยคือ ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เด็กหญิงจะโตเร็วกว่าเด็กชาย 2 ปี เริ่มเข้าวัยรุ่นตั้งแต่ 9 ปี และความสูงจะเพิ่มมากที่สุดในช่วงอายุ 11 - 12 ปี ปีละ 6 - 7 ซม. ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มเข้าวัยรุ่นเมื่ออายุ 11 ปี และสูงเพิ่มมากที่สุดตอนอายุ 13 - 14 ปี ปีละ 8 - 9 ซม. จึงต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่มีความสูงเพิ่มมากที่สุด โดยรับประทานอาหาร 5 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว - แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์และนม ครบ 3 มื้อหลักในปริมาณเพียงพอ หลากหลาย และอาหารว่าง เช้า - บ่าย เช่น นมจืด ผลไม้ ขนมไทยรสไม่หวานจัด ไม่กินจุบจิบ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่งเล่น กระโดดเชือก ว่ายน้ำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น