รอยเตอร์ - กัมพูชากำลังเร่งดำเนินการจัดมอบเอกสารสิทธิที่ดินให้แก่เกษตรกรของประเทศ ในความพยายามที่จะลดความขัดแย้งปัญหาที่ดิน เจ้าหน้าที่รัฐอาวุโส กล่าว
ชาวกัมพูชาประมาณ 770,000 คน หรือมากกว่าร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่เกษตรกรรายย่อยต้องต่อสู้กับเจ้าของไร่ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตามการระบุของทนายความด้านสิทธิมนุษยชน
การฟื้นคืนสิทธิการครอบครองเป็นหนึ่งในงานสำคัญลำดับต้นของรัฐบาล ที่เกษตรกรรายย่อยมากกว่า 400,000 คน ได้รับเอกสารทางราชการเพื่อครอบครองความเป็นเจ้าของที่ดิน ในแต่ละปี ทางการได้ออกโฉนดที่ดิน 4.3 ล้านฉบับ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และมีเป้าหมายที่ 7 ล้านฉบับในปี 2566 นายเส็ง ลวด โฆษกกระทรวงที่ดินกัมพูชา กล่าว
“เมื่อที่ดินทั้งหมดได้รับการจดทะเบียน ความขัดแย้งจะหมดไป เราต้องการเร่งลงทะเบียนเพื่อให้ทรัพย์สินที่ดินปลอดภัย” เส็ง ลวด กล่าวต่อรอยเตอร์ในการให้สัมภาษณ์ในกรุงพนมเปญ
หลังเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปลายทศวรรษ 1970 และการทำลายเอกสารที่ดินโดยกลุ่มกำลังเขมรแดง รัฐบาลระบุว่า ทางการกำลังทำงานที่จะคืนสถานะให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินแห่งต่างๆ และได้ส่งนักศึกษาไปยังพื้นที่ชนบทเพื่อสัมภาษณ์บรรดาเกษตรกร และสำรวจเพื่อช่วยให้เกษตรกรเหล่านั้นได้รับโฉนดที่ดิน
รัฐบาลยังได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในเขตพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเรื่องที่ดิน
“คณะกรรมการแก้ไขความขัดแย้งตามฉันทมติ และการประนีประนอม ชาวบ้านไม่จำเป็นที่จะต้องจ้างทนายความ และเสียเงิน ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” เส็ง ลวด กล่าว
อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์กล่าวว่า นักการเมือง และนักธุรกิจที่มีเส้นสายได้ใช้ระบบการจัดการการครอบครองที่ดินที่อ่อนแอของประเทศเข้าแย่งชิงที่ดินจากชาวบ้าน
กัมพูชาเป็นประเทศที่มีการทำธุรกรรมที่ดินขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากที่สุดอันดับสองของโลก รองจากอินโดนีเซีย ตามรายงานที่จัดทำโดยอดีตผู้ตรวจการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิด้านอาหาร ในเดือน พ.ย.
กัมพูชาเป็นศูนย์กลางของสิ่งที่นักรณรงค์เรียกว่าการแย่งยึดที่ดิน และความขัดแย้งระหว่างนักลงทุนและเกษตรกรก็ขยายตัวสูงขึ้น ด้วยมีการลงนามข้อตกลงข้อตกลงออกเอกสารที่ดินขนาดใหญ่ 104 ฉบับ นับตั้งแต่ปี 2543 และในเวลานี้ ยังมีความขัดแย้งที่ดินเกิดขึ้นอยู่อีกราว 800 แห่งในประเทศ ลดลงจาก 7,500 แห่ง ในปี 2546
รัฐบาลระงับการออกสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจฉบับใหม่ (ELCs) -- รูปแบบการลงทุนขนาดใหญ่ที่นักรณรงค์ระบุว่า บังคับให้ชาวบ้านออกจากที่ดินตนเอง -- ให้แก่บริษัทเอกชนในปี 2555 ท่ามกลางการคัดค้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน ส่วนสัมปทานที่มีอยู่เดิมจะต้องดำเนินการอยู่โดยรอบเกษตรกรรายย่อยที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ ที่พวกเขาเช่า หรือไม่เช่นนั้นก็จะเสียสิทธิในการดำเนินการ
เส็ง ลวด กล่าวว่า รัฐบาลได้ยึดคืนที่ดินหลายหมื่นไร่ที่ได้มอบให้แก่บริษัทต่างๆ ในรูปแบบสัญญาสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจะมุ่งเป้าไปยังบริษัทที่บังคับให้ชาวบ้านออกจากที่อยู่อาศัย
“รัฐบาลจะยกเลิกสัญญากับบริษัทที่ทำผิด พวกเขาต้องปกป้องคุ้มครองที่ดินของประชาชน และในอนาคตอันใกล้ คุณจะเห็นอีกหลายสัญญาถูกยกเลิก” โฆษกกระทรวงที่ดินกัมพูชา กล่าว.