รอยเตอร์ - เกษตรกรชาวเขมรในพื้นที่ชนบทโอดครวญหลังสูญเสียที่ดินไปเกือบหมดจากข้อตกลงของรัฐบาลที่ลงนามกับนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาทำไร่อ้อย โดยระบุว่า พวกเขาไม่เคยทราบถึงรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับข้อตกลงที่เกิดขึ้น จนกระทั่งรถแทรกเตอร์มาถึงที่นาของพวกเขา
หนึ่งในชาวบ้านหลายสิบคนในชุมชนยากจนใกล้ทางหลวง ห่างจากกรุงพนมเปญทางตะวันตกราว 160 กิโลเมตร ระบุว่า ตนเองเสียที่ดินไปเกือบหมดในปี 2552
“เราสูญเสียทุกอย่าง ตอนนี้เรามีไม่พอกินเลยด้วยซ้ำ” เกษตรกรอายุ 40 กล่าว
การลงทุนในที่ดินมีบทบาทสำคัญในการลดความยากจน และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในกัมพูชา แต่กลุ่มรณรงค์ระบุว่า ข้อตกลงที่ดินขนาดใหญ่หลายฉบับไม่มีการแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ
การลงทุนที่ดินที่ลงนามโดยชาวบ้านไม่ทราบเงื่อนไขข้อตกลง เกิดขึ้นทั่วกัมพูชามาเป็นเวลาหลายสิบปี และทำให้ประชาชนมากกว่า 770,000 คน ต้องย้ายที่อยู่นับตั้งแต่ปี 2543 ตามการระบุของทนายความด้านสิทธิมนุษยชน
ระหว่างปี 2536-2556 ประชากรในกรุงพนมเปญมากกว่าร้อยละ 10 ถูกบังคับย้ายที่อยู่เพื่อเปิดทางให้แก่โครงการพัฒนา เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง
ในเวลานี้กลุ่มรณรงค์กำลังผลักดันรัฐบาล และผู้ลงทุนเอกชนให้เปิดเผยรายละเอียดของสัญญาสำหรับข้อตกลงที่ดินขนาดใหญ่
ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชนในกรุงพนมเปญ กล่าวว่า ประชาชนต้องทราบรายละเอียดของสัญญาที่มีต่อนักลงทุน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถติดตามการดำเนินการตามสัญญาทั้งในส่วนของงาน การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม หรือการชดเชยต่างๆ เช่น ที่ดินทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่ต้องย้ายที่อยู่
รัฐบาลเคยให้รายละเอียดของสัญญาต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ รวมทั้งที่ตั้งของที่ดินสัมปทาน แต่หยุดให้ข้อมูลต่อตั้งแต่ปี 2552
“เราไม่ทราบว่าเหตุใดรัฐบาลถึงหยุดให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ เราต้องการข้อมูลสัญญาที่โปร่งใสเพื่อการปรึกษาหารือกับชุมชนต่างๆ” ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชนในกรุงพนมเปญ กล่าว
รัฐบาลอกประกาศข้อตกลงที่ดินฉบับใหม่ลงในราชกิจจานุเบกษา แต่รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขของสัญญากลับหาได้ยาก
“คนท้องถิ่นไม่เคยได้รับเอกสาร” อัม สุขา จากศูนย์การศึกษากฎหมายชุมชน ในกรุงพนมเปญ กล่าว
สิ่งเหล่านี้ยิ่งก่อให้เกิดข่าวลือ และการเก็งกำไรในพื้นที่ที่ข้อตกลงถูกลงนาม สร้างความสับสนให้แก่ชาวบ้าน และเป็นการยากยิ่งขึ้นสำหรับชาวบ้านเหล่านั้นที่จะป้องกันการถูกบังคับย้ายที่
กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการสัญญากับนักลงทุน ไม่ได้ตอบสนองคำขอสัมภาษณ์ในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ ระบุว่า ความขัดแย้งที่ดินลดจำนวนลงในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องจากรัฐกำลังทำงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และจัดสรรโฉนดที่ดินให้แก่ชาวกัมพูชาหลายล้านฉบับ
ในความพยายามที่จะให้ข้อมูลแก่ประชาชนในท้องถิ่น นักวิชาการด้านกฎหมายและนักเคลื่อนไหวได้พยายามที่จะระบุแหล่งที่ตั้งของสัญญาสำหรับข้อตกลงที่ดิน ที่บางครั้งได้รับความช่วยเหลือจากผู้หวังดี
.
.
สาย เพียรุม ผู้อำนวยการบริหาร Housing Rights Task Force กลุ่มรณรงค์ที่ทำงานกับชาวกัมพูชาที่ต้องย้ายที่อยู่จากโครงการพัฒนาเมือง กล่าวว่า เขามีประสบการณ์ในสถานการณ์เช่นนี้ ด้วยเมื่อครั้งที่ชาวบ้านมากกว่า 3,000 ครอบครัว เผชิญต่อการบังคับไล่ที่เพื่อเปิดทางให้แก่โครงการก่อสร้างอพาร์ตเมนต์หรูในทะเลสาบบึงกาก ในกรุงพนมเปญ กลุ่มของเขาได้ช่วยเหลือประชาชนต่อสู้เรียกร้องบ้านหลังใหม่ หรือการชดเชยสำหรับทรัพย์สินที่สูญเสียซึ่งขาดโฉนดอย่างเป็นทางการ
ภายใต้สัญญาระหว่างรัฐบาล และนักพัฒนา ประชาชนได้รับทางเลือก 3 ทาง คือ การชดเชยเป็นเงินสด จำนวน 800 ดอลลาร์ ที่อยู่อาศัยในเขตชานเมือง หรือปรับปรุงบ้านใหม่ใกล้พื้นที่เดิมในกรุงพนมเปญ
แต่เพียรุม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่เคยแจ้งประชาชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ข้อที่ 3
“คนที่ทำงานให้รัฐรั่วข่าวบอกเราถึงข้อตกลงนี้ และเราวิเคราะห์กับทนายความของเรา ปัญหาคือเรามักขาดข้อมูลที่ชัดเจน” เพียรุม กล่าว
เมื่อนักรณรงค์ตระหนักว่า การอยู่ใกล้พื้นที่เดิมเป็นทางเลือกหนึ่งในข้อตกลง พวกเขาจึงจัดชุมนุมประท้วง และประชาชนเรียกร้องที่จะอยู่ ฝ่ายรัฐบาลได้เสนอเงินชดเชยที่สูงขึ้นให้แก่ครอบครัวที่ต่อต้านเหล่านั้น
ในที่สุด อดีตผู้อยู่อาศัยในทะเลสาบบึงกากส่วนใหญ่ ที่อาคารหรูกำลังก่อสร้างขึ้น ยอมรับที่ดินผืนใหม่ หรือการชดเชยจากรัฐบาล
เจสซี่ โคลแมน นักวิจัยจากศูนย์การลงทุนเพื่อความยั่งยืนโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลสัญญาที่ดินสามารถเพิ่มอำนาจให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ทำให้พวกเขามีอำนาจมากขึ้นในการยืนยันสิทธิของตน และเรียกร้องความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากของข้อตกลงเหล่านั้น.