xs
xsm
sm
md
lg

“ซูจี” เยือนญี่ปุ่นโปรโมตประเทศดึงเม็ดเงินลงทุนท่ามกลางวิกฤตในรัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศพม่า เดินทางถึงสนามบินนานาชาติฮาเนดะ ในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 1 พ.ย. -- Agence France-Presse/Jiji Press.</font></b>

รอยเตอร์/เอเอฟพี - อองซานซูจี ผู้นำพม่าเดินทางถึงกรุงโตเกียว วานนี้ (1) ในความพยายามที่จะดึงดูดการลงทุน และความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น ขณะที่ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในประเทศกลายเป็นวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดของการอยู่ในอำนาจนาน 6 เดือนของซูจี และนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหรัฐฯ

ทหารระดมกำลังลงพื้นที่ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญา หลังกลุ่มก่อความไม่สงบที่รัฐบาลเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงต่างชาติเปิดฉากโจมตีหลายระลอก ขณะเดียวกัน ฝ่ายทหารถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุข่มขืนและสังหารชาวโรฮิงญาระหว่างการปฏิบัติการกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบครั้งนี้

วิกฤตดังกล่าวสร้างความตึงเครียดหนักขึ้นระหว่างฝ่ายบริหารพลเรือนของซูจี และกองทัพ ที่ปกครองประเทศมาหลายสิบปี และยังคงกุมอำนาจสำคัญ พร้อมกับที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อซูจีก็เพิ่มสูง โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกต่อพม่าเกี่ยวกับรายงานการข่มขืนในพื้นที่

สำหรับการเยือนญี่ปุ่นนาน 5 วัน ของซูจี เป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งล่าสุดที่จะส่งเสริมประเทศในฐานะปลายทางการลงทุน จากที่ก่อนหน้านี้ ได้เดินทางเยือนจีน สหรัฐฯ และอินเดียมาแล้ว

พม่าต้องการการลงทุนจากญี่ปุ่น และความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แนบแน่นเพื่อเป็นการถ่วงดุลจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศ

ซูจี จะได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และนายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่น คาดว่า ซูจี กับอาเบะจะหารือถึงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และกระบวนการสร้างสันติภาพของพม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ตามการระบุของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น

ฝ่ายญี่ปุ่นหวังที่จะสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นในพม่า ด้วยการเสนอโครงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากเวลานี้มีบริษัทของญี่ปุ่นมากกว่า 300 ราย ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศ

เกือบ 50 ปี ของการจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดโดยผู้ปกครองเผด็จการทหารพม่า ส่งผลให้ถนน สนามบิน และไฟฟ้าของประเทศอยู่ในสภาพย่ำแย่ ทำให้พม่ามีอุตสหากรรมภายในประเทศไม่มากนัก และการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาของประเทศส่วนใหญ่เป็นผลจากการนำเข้า

ในเดืิิอน ก.ย. ที่ซูจีเดินทางเยือนสหรัฐฯ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ประกาศว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และถัดจากนั้น 2 สัปดาห์ ซูจี ได้ให้คำมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติว่าจะทำให้กรอบกฎหมายมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และให้โอกาสเข้าถึงภาคส่วนที่ยังไม่ถูกแตะต้อง

ญี่ปุ่นนั้นไม่เคยกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและการเงินต่อพม่า เป็นผลให้ญี่ปุ่นปรากฏตัวอยู่ในพม่าอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ย่านนครย่างกุ้ง ที่ญี่ปุ่นร่วมทุน ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการระยะที่ 2

ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงในเดือน มี.ค.2558 การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นในพม่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 86 ล้านดอลลาร์ การส่งออกจากพม่ามีมูลค่า 513 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ขณะที่พม่านำเข้าจากญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ที่ส่วนใหญ่เป็นรถ และเครื่องจักร ตามการระบุของกระทรวงการต่างประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น