เอเอฟพี - กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างชาติกล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าทหารพม่าสังหาร ข่มขืน และทรมานชาวบ้านในรัฐยะไข่นั้นต้องได้รับการสืบสวนอย่างเป็นอิสระ
รัฐยะไข่อยู่ภายใต้การปิดล้อมทางทหารนับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีฐานรักษาความปลอดภัยชายแดนเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย ซึ่งรัฐบาลได้กล่าวโทษผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาว่า อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีดังกล่าว และระดมกองกำลังเข้าค้นหาตัวผู้ก่อเหตุ ที่ทำให้มีผู้ต้องสงสัยมากกว่า 30 คน ถูกฆ่า และอีกหลายสิบคนถูกจับตัว ตามรายงานของทางการ
ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องราวการกระทำทารุณข่มเหงอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่รวมทั้งความรุนแรงทางเพศ การประหารชีวิต และการเผาหมู่บ้าน ยังแพร่สะพัดบนสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยากที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยทหารกำหนดห้ามกลุ่มสิทธิมนุษยชน และผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว
เมื่อวันศุกร์ (28) องค์การนิรโทษกรรมสากล และฮิวแมนไรท์วอช ได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการดำเนินการสืบสวนอย่างเป็นกลางในข้อกล่าวหาต่างๆ ที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
“หากกองกำลังรักษาความปลอดภัยของพม่าไม่มีความเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ตามที่ทางการอ้าง เช่นนั้นพวกเขาก็ควรจะไม่มีปัญหาในการอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าถึงพื้นที่” ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าว
ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่าปฏิเสธบทความในเมียนมาร์ ไทม์ส เกี่ยวกับรายงานการข่มขืนผู้คนในหมู่บ้านชาวโรฮิงญาเมื่อวันที่ 19 ต.ค.
“มีข้อมูลว่าผู้โจมตีบางส่วนอยู่ในหมู่บ้าน ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยจึงต้องดำเนินอย่างเข้มข้นมาก และทีมค้นหาก็มีความระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับความปลอดภัย และไม่คิดที่จะข่มขืนผู้หญิงถึง 5 คน” ซอ เต แสดงความเห็นลงในเฟซบุ๊ก
รัฐบาลระบุว่า การบุกโจมตีฐานชายแดนเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ดำเนินการโดยกลุ่มนักต่อสู้ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนที่เชื่อมโยงกับมุสลิมหัวรุนแรงที่ได้รับการฝึกฝนจากกลุ่มตอลิบาน.