เอเอฟพี - สหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่าดำเนินการสอบสวนในข้อกล่าวหาว่ากองกำลังของประเทศสังหารพลเรือน และเผาหมู่บ้านในรัฐยะไข่ ในรายงานล่าสุดที่ระบุว่า มีการบังคับไล่ที่ประชาชนในการปราบปรามเพื่อการรักษาความปลอดภัย
หน่วยงานบรรเทาทุกข์ประเมินว่า มีผู้คนมากกว่า 15,000 คน ต้องย้ายที่อยู่อาศัยนับตั้งแต่ทหารเข้าควบคุมพื้นที่ติดกับชายแดนบังกลาเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่
รัฐบาลพม่าระบุว่า กลุ่มนักต่อสู้ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนภายใต้การนำของชาวมุสลิมหัวรุนแรงที่ได้รับการฝึกอบรมมาจากกลุ่มตอลิบาน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีรุนแรงที่ฐานตำรวจหลายจุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ทำให้ทางการต้องตอบโต้ด้านความมั่นคง
นับตั้งแต่นั้นทหารได้ยุติการจัดส่งความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนหลายหมื่นคนในรัฐยะไข่ และห้ามกลุ่มสิทธิมนุษยชน และผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่
ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ปิดล้อมเป็นชาวโรฮิงญา ที่ชาวพม่าส่วนใหญ่มองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ในคำแถลงที่ออกเมื่อค่ำวันจันทร์ (24) ระบุว่า สหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินการตรวจสอบอย่างเหมาะสม และทั่วถึงต่อข้อกล่าวหาถึงการละเมิดดังกล่าว
ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ ระบุว่า มีรายงานเกี่ยวกับการเผาบ้านเรือน และมัสยิด รวมทั้งการควบคุมตัว และยิงพลเรือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งยังมีข้อกล่าวหาซ้ำๆ เกี่ยวกับการจับกุมตัวโดยพลการ และการวิสามัญฆาตกรรมภายในบริบทของการดำเนินการรักษาความปลอดภัย ที่รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการที่เป็นการล่วงละเมิดของทหารนั้นยากจะตรวจสอบ
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างความหวาดวิตกว่า จะซ้ำรอยเหตุความไม่สงบในปี 2555 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน
กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้สังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 31 คน ที่อ้างว่าเป็นการป้องกันตัวเองจากการโจมตี ตามการรายงานของสื่อทางการ และทหาร แต่เจ้าหน้าที่จากโครงการอาระกัน ระบุว่า ข้อมูลที่ได้รับจากคนในพื้นที่ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่านั้น
ประชาชนยังกล่าวว่า การปราบปรามที่นำโดยทหาร รวมทั้งกองกำลังตำรวจรักษาชายแดน กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ.