รอยเตอร์ - ชาวมุสลิมโรฮิงญาเผยว่า ทหารพม่าข่มขืน หรือล่วงละเมิดทางเพศกับผู้หญิงหลายสิบคนในหมู่บ้านห่างไกลในรัฐทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศในช่วงที่ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ปี
หญิงชาวโรฮิงญา 8 คน จากหมู่บ้านอูเชจา ในรัฐยะไข่ ได้เล่าถึงวิธีการที่ทหารบุกเข้าไปในบ้านของพวกเธอเมื่อสัปดาห์ก่อน เข้าปล้นทรัพย์สิน และข่มขืนโดยใช้ปืนข่มขู่
รอยเตอร์สัมภาษณ์ผู้หญิง 3 คนแบบต่อหน้า และอีก 5 คนทางโทรศัพท์ รวมทั้งพูดคุยกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน และแกนนำชุมชน
ทหารได้ถูกระดมกำลังเข้าไปในพื้นที่เมืองหม่องดอ นับตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. หลังกลุ่มก่อเหตุไม่สงบ ชาวโรฮิงญาที่รัฐบาลเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในต่างประเทศ ได้เข้าโจมตีฐานรักษาความปลอดภัยชายแดนพร้อมกันหลายจุด และเมื่ออ้างถึงหลักฐานที่รวบรวมได้จากการสอบปากคำผู้ต้องสงสัย รัฐบาลได้กล่าวโทษเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นว่า เป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่ระบุว่า มีนักสู้ชาวโรฮิงญาร่วมขบวนการราว 400 คน
ผู้ก่อเหตุไม่สงบที่ระบุตัวเองว่า เป็นกลุ่ม Al-Yakin Mujahidin ในวิดีโอที่โพสต์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้สังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 นาย และทหาร 5 นาย รวมทั้งขโมยอาวุธไปอีกจำนวนหนึ่ง
วิกฤตในรัฐยะไข่ถือเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลพลเรือนอายุ 6 เดือนของพม่าเผชิญ และยังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาล ในการรักษาการควบคุมทหารของประเทศ ผู้สังเกตการณ์ และนักการทูต กล่าว
สหรัฐฯ ได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นโดยตรงกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศพม่า และต้องการให้รัฐบาลพม่าดำเนินการสอบสวนต่อข้อกล่าวหาต่างๆ เหล่านี้อย่างเต็มที่ และดำเนินการต่อผู้กระทำความผิด ขณะที่นักการทูต และเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าวว่า การโจมตีวันที่ 9 ต.ค. และการปราบปรามที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ได้ทำลายความไว้วางใจที่สร้างมานานหลายปีระหว่างชุมชนชาวมุสลิม และชาวพุทธในรัฐยะไข่ หลังความรุนแรงทางศาสนา และชาติพันธุ์ปะทุขึ้นที่นั่นในปี 2555
หญิงวัย 40 ปี จากหมู่บ้านอูเชจา บอกต่อรอยเตอร์ว่า ทหาร 4 นาย ข่มขืนเธอ และล่วงละเมิดลูกสาววัย 15 ปี ของเธอด้วย นอกจากนั้น ยังขโมยอัญมณี และเงินสดของครอบครัวไปอีก
“พวกเขาจับฉันเข้าไปในบ้าน แล้วฉีกเสื้อผ้าของฉัน และถอดผ้าคลุมศีรษะของฉันออก” แม่ลูก 7 ให้สัมภาษณ์ต่อรอยเตอร์
“ผู้ชาย 2 คนเข้ามาจับฉัน โดยคนหนึ่งยึดแขนสองข้างของฉัน ส่วนอีกคนดึงผมของฉันจากด้านหลัง แล้วพวกเขาก็ข่มขืนฉัน” หญิงวัย 40 ปี กล่าว
ซอ เต โฆษกประธานาธิบดีถิ่น จอ ได้ปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาเหล่านี้
“ไม่มีเหตุผลที่จะมีการก่อเหตุข่มขืนกลางหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีบ้านกว่า 800 หลัง ที่มีผู้ก่อความไม่สงบกำลังหลบซ่อนอยู่” ซอ เต กล่าว
ซอ เต ได้โทรศัพท์ถึงผู้บัญชาการทหารในเมืองหม่องดอซึ่งไม่ได้เปิดเผยชื่อระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อรอยเตอร์ในสัปดาห์นี้ โดยผู้บัญชาการทหารกล่าวว่า กองกำลังได้เข้าดำเนินการกวาดล้างหมู่บ้านอูเชจา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. และออกไปโดยไม่ได้ก่อเหตุล่วงละเมิด
ความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นนี้ได้คุกคามเป้าหมายของซูจีที่จะยุติสงครามชาติพันธุ์ที่ยืดเยื้อมานานหลายปีในพม่า ทั้งยังบ่อนทำลายการเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ราบรื่นของชาติ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีก่อนด้วยการชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของซูจี ผู้สังเกตการณ์ และนักการทูต กล่าว
แม้จะได้รับเสียงชื่นชมต่อความสำเร็จ แต่อองซานซูจี ก็ต้องเผชิญต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของนานาประเทศจากการไม่ดำเนินการให้มากพอที่จะบรรเทาชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ราว 1.1 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองพม่า
.
.
หลังการโจมตีครั้งแรก ซูจี เรียกร้องให้กองทัพดำเนินการตามกฎหมาย แต่ฝ่ายกองทัพได้ประกาศ “เขตปฏิบัติการ” ขึ้นในรัฐยะไข่ ซึ่งประชาชน และนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า มีพลเรือนติดอยู่ท่ามกลางการปราบปรามครั้งนี้ และจำนวนผู้ที่ถูกฆ่ามีมากกว่าที่ทางการรายงานว่าได้สังหารผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้โจมตีไปทั้งหมด 33 คน
ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านอูเชจา เมื่อวันพฤหัสฯ (27) โดยผ่านหมู่บ้านใกล้เคียง ที่พบว่ามีบ้านหลายสิบหลังถูกเผาทำลาย และได้สัมภาษณ์ผู้หญิง 3 คน ที่ระบุว่า ถูกทหารข่มขืน
ส่วนผู้หญิงอีก 5 คน จากหมู่บ้านอูเชจา ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์อีกหลายครั้งถึงวิธีการที่ทหารพม่าขืนใจพวกเธอ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านผู้ชายอย่างน้อย 3 คน และแกนนำชุมชนชาวโรฮิงญา ในเมืองหม่องดอ ที่ได้รวบรวมรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ชาวบ้านกล่าวว่า มีทหารราว 150 นาย มาถึงบริเวณใกล้หมู่บ้านอูเชจา เมื่อวันที่ 19 ต.ค.
ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายส่วนใหญ่เดินทางออกจากหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าพวกเขาอาจจะถูกสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุไม่สงบ ส่วนบรรดาผู้หญิงยังคงอยู่ที่หมู่บ้านเพราะคิดหากปล่อยให้บ้านว่างเปล่าทหารจะเผาบ้าน
ทหารรื้อถอนรั้วรอบบ้าน และสถานที่ที่อาจเป็นที่หลบซ่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ทางการเรียกว่า “ปฏิบัติการเก็บกวาด”
หญิงอายุ 30 ปี รายหนึ่งอธิบายว่า ถูกทหารข่มขืน และขู่ฆ่า ทั้งยังขนเอาทองคำ เงิน และทรัพย์สินอื่นๆ ไป และทำให้ข้าวที่เก็บไว้เสียหาย
“เราไม่สามารถไปที่หมู่บ้านอื่นเพื่อหาทางรักษาพยาบาลได้ ฉันไม่มีเสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งอาหารจะกิน ทุกอย่างถูกทำลายหมด ฉันรู้สึกอับอาย และหวาดกลัว” ผู้รอดชีวิตอายุ 32 ปี กล่าว.
.
.
.