เอเอฟพี - นักโบราณคดีออสเตรเลีย ประกาศแผนที่จะสร้างทุ่งไหหินของลาวในรูปแบบเสมือนจริง 3 มิติ เพื่อใช้สำรวจศึกษา และขุดค้นในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ และสามารถเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้เยี่ยมชมสามารถชมพื้นที่ขุดสำรวจได้โดยไม่ต้องลงพื้นที่จริง
ทุ่งไหหิน ในแขวงเชียงขวางของลาว เป็นที่ตั้งของหินขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายไหกระจัดกระจายอยู่หลายพันชิ้น แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของหินขนาดใหญ่เหล่านี้ นักโบราณคดีพยายามที่จะเข้าไปในพื้นที่ แต่หลายแห่งยังคงเต็มไปด้วยระเบิด และกับระเบิดที่ถูกทิ้งไว้ในช่วงสงครามเวียดนาม
นักวิจัยชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า การใช้โดรนเก็บภาพถ่าย 3 มิติ ในพื้นที่ทุก 10 เซนติเมตร จะช่วยให้พวกเขาสามารถสำรวจพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าไปประเมินได้ด้วยวิธีตามปกติ
ดูกัลด์ โอไรลี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) กล่าวว่า พื้นที่พิเศษเช่นลาวยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด ซึ่งการใช้เทคโนโลยีระยะไกลเข้าสำรวจ และทำแผนที่แหล่งโบราณคดีถือว่ามีประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ และช่วยลดอันตรายจากการทำงานในพื้นที่เหล่านี้
นอจากการใช้โดรนเก็บภาพ 3 มิติ โอไรลี่ ระบุว่า นักโบราณคดีกำลังพิจารณาที่จะใช้งานกล้องถ่ายภาพสีหลายช่วงคลื่นที่สามารถเก็บแสงจากความถี่ที่มองเห็น เช่น รังสีอินฟราเรด และเทคโนโลยีการยิงเลเซอร์จากอากาศลงมา ที่เรียกว่า ลิดาร์ เพื่อสร้างแผนที่ที่มีความแม่นยำในระดับเซนติเมตร
ข้อมูลที่รวบรวมโดยนักวิจัยจาก ANU และมหาวิทยาลัยโมนาช ในเมืองเมลเบิร์น จะนำไปใช้สร้างภูมิทัศน์ทุ่งไหหินแบบเสมือนจริง ที่จะช่วยให้นักโบราณคดีสามารถเข้าไปขุดสำรวจพื้นที่ได้เสมือนจริง
นอกจากนั้น เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำไปใช้สำหรับพิพิธภัณฑ์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม หรือแม้แต่ปรับใช้กับสมาร์ทโฟนที่ทุกคนสามารถชมแผนที่แหล่งขุดค้นในรูปแบบ 3 มิติ
เมื่อต้นปี นักวิจัยจาก ANU และมหาวิทยาลัยโมนาช ได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และรูปแบบการฝังที่หลากหลายในทุ่งไหหิน ที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ที่จะทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของไหหิน และผู้ที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา.
.
.