MGRออนไลน์ -- อากาศเย็นเริ่มแผ่ปกคลุม หลายแขวงภาคเหนือลาวตั้งแต่วันพฤหัสบดี 6 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีฝนตกลดน้อยลง ทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั่วไปลดลงอย่างรวดเร็ว สภาพการณ์นี้จะดำเนินไปจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ กรมอุตุนิยมและอุกศาสตร์ ในนครเวียงจันทน์ยังเตือนให้ ประชาชนทั่วไปเตรียมรับลมกรรโชกแรง ในบางพื้นที่อีกด้วย
สภาพการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในขณะหลายพื้นที่ห่างไกลของประเทศ ยังถูกน้ำท่วมและถนนหนทาง ยังรอการซ่อมแซม ทั้งนี้เนื่องจากมวลความกดอากาศสูงจากตอนเหนือ ได้แผ่ลงปกคลุมทางตอนเหนือของประเทศในช่วงข้ามวันมานี้
สภาพภูมิอากาศเช่นนี้ทำให้ชาวลาวจำนวนหนึ่ง เริ่มพูดถึงเหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2558 ที่เกิดขึ้นคล้ายกันนี้ คือ ฝนตกหนักทั่วไป เกิดอุทกภัยซ้ำซากในหลายพื้นที่ แขวงภาคเหนือ ลงไปจนถึงภาคกลาง รวมทั้งในเขตรอบนอกของเมืองหลวง ก่อนจะเกิดสภาพอากาศแปรปรวน ค่อยๆ เย็นลง จนถึงช่วงสิ้นปี และผ่านเลยเข้าสู่ปีใหม่ จนนำไปสู่ปรากฏการณ์หิมะตกในรอบ 100 ปี ทั้งในเขตเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน และ ในเขต ทุ่งไหหินแขวงเชียงขวาง
ก่อนหน้านี้ กรมอุตุฯ ได้ออกเตือนว่าอากาศจะเย็นลง พร้อมมีหมอกปกคลุมในหลายท้องถิ่นในตอนเช้า มวลอากาศเย็นจะค่อยๆ แผ่ลงปกคลุมภูมิภาคต่างๆ ลงไปจนถึงทางตอนใต้สุดของประเทศ พร้อมเกิดลมพัดแรงในบางช่วง
ตอนบนของประเทศ อุณหภูมิจะลดลงต่ำสุด 17-19 องศาเซลเซียส สูงสุดระหว่าง 26-28 องศา ภาคเหนือและภาคตะวันตก (ตั้งแต่แขวงบ่อแก้ว ลงไปจนถึงไซยะบูลี) จะมีหมอกบางปกคลุมในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศา สูงสุด 31-33 องศา โดยยังมีฝนตกเบาบาง เป็นบางช่วง
นครเวียงจันทน์ก็เช่นเดียวกัน อิทธิพลของมวลความกดอากาศสูง จะทำให้อุณหภูมิในย่านรอบนอกของเมืองหลวง ลดลง 21-23 องศา ในช่วงกลางคืนถึงตอนเช้า อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศา และ ยังมีฝนตกเบาบางในบางพื้นที่
ทางตะวันออกของประเทศ ในหลายพื้นของบรรดาแขวง ที่อยู่ติดชายแดนเวียดนาม จะมีหมอกบางปกคลุมในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-21 องศา สูงสุด 30-32 องศา ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตก แต่เบาบาง ตั้งแต่สาละวัน ลงไปจนถึงจำปาสัก เซกองและอัตตะปือ อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศา และ สูงสุด 30-32 องศา
สื่อของทางการได้ออกเตือนให้ประชาชนทั่วไป เตรียมรับมือสิ่งที่จะติดตามมาหลังจากภัยพิบัติ เช่นเดียวกับหลังเกิดอุทกภัยในหลายแขวงภาคเหนือ เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ที่เกิดการระบาดของตั๊กแตน เข้ากัดกินทำลายพืชผลของเกษตรกรเสียหายย่อยยับ ทั้งในแขวงหัวพัน และ หลวงพระบาง ทำให้ต้องมีปลูกพืชทดแทน แต่หลังจากนั้นอีกไม่นานต่อมา อากาศหนาวเย็นในช่วงปลายปีและต้นปีนี้ ก็ได้เข้าทำลายซ้ำเติมอีก
สภาพภูมิอากาศเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ค่อยๆ เย็นลงไปจนถึงเดือน พ.ย.และ ธ.ค. และ เกิดหิมะตกในช่วงปลายเดือน ม.ค.2559 ทำให้เกษตรกรลาวในแขวงภาคเหนือ สูญเสียวัวควายไปหลายสิบตัว สัตว์ปีกพวกเป็ดไก่อีกจำนวนมหาศาล.
.
2
3