xs
xsm
sm
md
lg

“อียู” ชมสิทธิมนุษยชนพม่าก้าวหน้า งดถกแก้ปัญหาครั้งแรกในรอบ 15 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - สหภาพยุโรป ยกย่องความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของพม่าภายใต้การนำของนางอองซานซูจี และระบุว่า จะไม่นำเรื่องการแก้ปัญหาเข้าที่ประชุมสหประชาชาติเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี

นางเฟดเดอริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป หรืออียู กล่าวในการประชุมกลุ่มความร่วมมือเกี่ยวกับพม่า (Partnership Group on Myanmar) ที่การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันศุกร์ (23) ว่า พม่ามีความก้าวหน้าดังที่เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของซูจี จากการเป็นนักโทษการเมือง ไปสู่การเป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งที่เกิดขึ้นในพม่า

“รัฐบาลมีมาตรการชัดเจนในการปรับปรุงสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษการเมือง” โมเกรินี กล่าว

นอกจากนั้น รัฐบาลยังดำเนินมาตรการต่อผู้ที่ยั่วยุปลุกปั่นความเกลียดชัง และตั้งคณะกรรมการจัดการต่อความรุนแรงระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ภายใต้การดูแลของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ

จากความคืบหน้าดังกล่าว จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่สหภาพยุโรปจะไม่นำเรื่องแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนต่อพม่าเข้าหารือในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

โมเกรินี ยังกล่าวอีกว่า สหภาพยุโรปเข้าใจถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และกล่าวต่อ ซูจี ว่า สหภาพยุโรปทราบว่าปัญหาที่รัฐบาลพม่ากำลังทำงานอยู่นั้นมีความยากลำยากที่จะหาทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อทั้งสองชุมชน

ซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพยายามอันน้อยนิดในการจัดการต่อชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งในการกล่าวสุนทรพจน์เป็นครั้งแรกที่การประชุมสมัชชาสหประชาชาติในฐานะผู้นำประเทศเมื่อวันพุธ (21) ซูจี กล่าวป้องความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ไขวิกฤตในรัฐยะไข่ และร้องขอความเข้าใจ และการสนับสนุนในทางสร้างสรรค์จากประเทศต่างๆ

ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า กล่าวว่า รัฐบาลจะสานต่อความพยายามบรรลุสันติภาพในรัฐยะไข่ และยืนหยัดต่อต้านกองกำลังของความรู้สึกอคติ และการไม่ยอมรับความต่าง แม้ความมุ่งมั่นของซูจี ที่จะยืนหยัดต่อต้านการไม่ยอมรับความต่าง และการให้คำมั่นที่จะมอบสิทธิความเป็นพลเมืองแก่ผู้ที่มีสิทธิ แต่นายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ และทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ระบุว่าปัญหาสำคัญยังคงมีอยู่ในพม่า และร้องขอให้รัฐบาลอนุญาตการจัดตั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษชนพร้อมอำนาจเต็ม

นับตั้งแต่กองทัพก้าวออกจากการปกครองพม่าโดยตรงในปี 2554 เสรีภาพในการแสดงความเห็นที่เพิ่มมากขึ้่นทำให้ความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิมที่เคยถูกเก็บกักไว้ยาวนานปลดปล่อยออกมา ชาวโรฮิงญาราว 125,000 คน ยังคงอาศัยอยู่ในค่ายพักผู้พลัดถิ่นหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงหลายระลอกในปี 2555 ระหว่างชาวพุทธ และชาวมุสลิม ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน

ชาวพม่าส่วนใหญ่มองว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าคนเหล่านั้นจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น