รอยเตอร์/เอเอฟพี - นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นำทีมคณะกรรมการที่ปรึกษาแก้ไขปัญหาชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ลงพื้นที่เมื่อวันพุธ (7) โดยได้พบหารือกับแกนนำ และผู้พลัดถิ่นจากความรุนแรงระหว่างชุมชน หลังเกิดความวิตกเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลต่อประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ
อองซานซูจี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยสมาชิก 9 คน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาต่อรัฐบาลเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ที่ชาวพุทธยะไข่ และชาวมุสลิมโรฮิงญาใช้ชีวิตแตกแยกจากกัน นับตั้งแต่เกิดเหตุปะทะรุนแรงในปี 2555 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 100 คน
กว่า 125,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายพักผู้พลัดถิ่น โดยส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาที่ถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมืองในพม่า ซึ่งชาวพม่าจำนวนมากมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
คณะกรรมการที่ประกอบด้วยชาวพม่า 6 คน และชาวต่างชาติ 3 คน รวมทั้ง นายโคฟี อันนัน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมค่ายพักต่างๆ ของผู้พลัดถิ่นในรัฐทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และพบพูดคุยกับสมาชิกจากทั้งสองชุมชน
นายอันนัน และสมาชิกร่วมทีมไม่ได้กล่าวอะไรต่อผู้สื่อข่าว แต่การลงพื้นที่ได้แสดงถึงความหวังของความสันติสุขในหมู่ผู้คนที่พวกเขาได้พบหารือด้วย
“ผมเชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้จะช่วยแก้ปัญหาระหว่างชาวยะไข่ และชาวโรฮิงญา” หล่า มี้น ผู้แทนจากค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในรัฐยะไข่ กล่าว
การสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในพม่าได้เผยให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างชุมชนของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม และชาวพุทธบางส่วน และถูกโหมกระพือให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นโดยกลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยมชาวพุทธ นำโดยพระสงฆ์หัวรุนแรง
คณะกรรมการเดินทางถึงรัฐยะไข่เมื่อวันอังคาร (6) พร้อมกับการต้อนรับอย่างไม่เป็นมิตรจากประชาชนในพื้นที่จำนวนหลายร้อยคน และพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ ที่ช่วยจัดการชุมนุมประท้วงต่อต้านคณะกรรมการ ระบุว่า ชาวต่างชาติไม่เข้าใจปัญหาในพื้นที่นี้
กอ ซาน ลา แกนนำชาวมุสลิมกล่าวต่อคณะกรรมการระหว่างการพบหารือในค่ายผู้พลัดถิ่นเต้ตเกเปง ที่มีคนอยู่อาศัยมากกว่า 5,000 คน ว่า ชุมชนของเขาต้องการความสงบสุข
“สองชุมชนเคยอาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี พวกเราชาวโรฮิงญาต้องการอาศัยอยู่เคียงข้างกันกับชาวยะไข่” กอ ซาน ลา กล่าว
คณะกรรมการยังได้เดินทางไปยังย่านอ่อง มิงกะลา ของเมืองสิตตเว ที่มีชาวโรฮิงญาหลายพันคนอาศัยอยู่โดยมีด่านตำรวจปิดล้อมอยู่อีกชั้นหนึ่ง
“หากเรามีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ เราไม่สามารถเดินทางไปที่โรงพยาบาลได้ทันที แม้โรงพยาบาลจะอยู่ใกล้ เราต้องได้รับอนุญาตก่อน” หม่อง กอ นาย อายุ 25 ปี กล่าว
“ชีวิตของเราที่นี่เลวร้ายกว่าคนที่อยู่ในคุกเสียอีก เราขอร้องให้เขาหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของชาวมุสลิมที่นี่ เราต้อนรับทุกคนที่มาทำงานเพื่อความมั่นคงของรัฐยะไข่” อ่อง นาย แกนนำชาวโรฮิงญา อายุ 63 ปี กล่าว หลังพบหารือกับ นายอันนัน ในย่านชุมชนชาวมุสลิม อ่อง มิงกะลา
นายโคฟี อันนัน มีกำหนดแถลงข่าวเกี่ยวกัยการเยือนรัฐยะไข่ ที่นครย่างกุ้ง ในวันนี้ (8).
.
.
.