เอพี - นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า ภารกิจของเขาที่รัฐยะไข่ของพม่า ไม่ได้หมายถึงการสืบสวนสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการร่างคำแนะนำที่จะช่วยคลายความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธ และชนกลุ่มน้อยมุสลิมในพม่า
นายอันนัน นำทีมคณะกรรมการอิสระ 9 คน ที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือนก่อนโดยรัฐบาลของนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ที่จะช่วยหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนในรัฐทางตะวันตกของประเทศ จนปะทุกลายเป็นความรุนแรงนองเลือดในปี 2555
ประชาชนมากกว่า 100,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา หลบหนีเหตุจลาจล และอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากตัดสินใจหลบหนีทางทะเลไปประเทศอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยในภูมิภาค
ชาวพุทธในยะไข่มองว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าหลายคนจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนก็ตาม แต่ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมได้แพร่กระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ หลังจากเหตุความไม่สงบปี 2555 และกลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมือง
ชาวพุทธราว 1,000 คน ได้ชุมนุมประท้วงทีมของ นายโคฟี อันนัน ทันทีที่เดินทางถึงรัฐยะไข่ โดยกล่าวหาว่า การมีส่วนร่วมของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นการแทรกแซงของต่างชาติ แต่คณะกรรมการได้ดำเนินกระบวนการเข้าหารือกับสมาชิกของทั้งสองความเชื่อทั่วเมืองสิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่
“เราได้รับฟังจากประชาชนจากหลากหลายกลุ่ม ทั้งในค่ายผู้พลัดถิ่น และในหมู่บ้านต่างๆ โดยมุ่งเน้นที่ประเด็นความวิตก การพัฒนา อาชีพ การศึกษา การรักษาพยาบาล เสรีภาพในการเคลื่อนไหว และการจ้างงาน” นายอันนัน กล่าวในการแถลงข่าวที่นครย่างกุ้ง
“เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อสืบสวนประเด็นสิทธิมนุษยชน และเขียนรายงานสิทธิมนุษยชน แต่เรามีภารกิจคือ การให้คำแนะนำที่จะช่วยลดความตึงเครียด และสนับสนุนการพัฒนาในรัฐยะไข่” นายอันนัน กล่าว
“เราไม่ได้มาที่นี่ในฐานะผู้ตรวจสอบหรือตำรวจ เรามาที่นี่เพื่อช่วยเหลือตามคำร้องขอของรัฐบาล”
อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ยังย้ำว่า ปัญหาของรัฐยะไข่ มีมิติระหว่างประเทศที่มีผลต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน.