MGRออนไลน์ - กองทัพเรือสหรัฐได้เผยแพร่วิดีโอคลิปชิ้นหนึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ เป็นเหตุการณ์ฝึกยิงจมเรือฟริเกต ที่ปลดระวางแล้วลำหนึ่ง ซึ่ง 3-4 ปีที่แล้วเคยประกาศมอบให้ราชนาวีไทยฟรีๆ เรือเร็นต์ (USS Rentz, FFG-46) เป็นหนึ่งในบรรดาเรือฟริเกตชั้นเดียวกันจำนวน 2 ลำ ที่เกือบจะเป็นของไทย อีกลำคือ เรือแวนเดกริฟต์ (USS Vandegrift, FFG 48) แต่แล้วก็ไม่เคยมีการผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา และ ยังไม่ฝ่ายใดให้คำอธิบาย
เหตุการณ์ในตอนต้นๆ ของคลิปนี้ แสดงให้เห็นการยิงจรวดเฮลไฟร์ (Hellfire) ที่ติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์ MH-60H "ซีฮอว์ก" (Sea Hawk) จากนั้นเป็นวิดีโอที่ถ่ายจากจอภาพ บนเครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำแบบ P-8 โพไซดอน (Poseidon) แสดงให้เห็นการยิงจรวดอีกหลายชนิดจากเรือรบ ที่ร่วมการฝึก "ซิงเค็กซ์" (SINKEX) หรือ การฝึกยิงเรือเพื่อจม
นั่นคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2559 ระหว่างการฝึกซ้อมที่มีชื่อว่า วาเลียนชีลด์ 2016 (Valiant Shield 2016) ของกองทัพเรือสหรัฐ ประจำภาคพื้นอินโดเอเชียแปซิฟิก ที่จัดขึ้นทุกปี
เรือ USS Rentz สามารถทนการยิงทำลาย ด้วยจรวดถึง 22 ลูก และ ต้องใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง จึงสามารถจมลงได้ โดยลูกสุดท้ายเป็นจรวดเฮลไฟร์ ที่ยิงจากเฮลิคอปเตอร์ มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์กองทัพเรือสหรัฐ
ตอนท้ายคลิปแสดงให้เห็น USS Rentz ในสภาพขาดเป็นสองท่อน เกือบกึ่งกลางลำ ค่อยๆ จมลงสู่ก้นทะเลแปซิฟิก ในบริเวณที่มีความลึก 30,000 ฟุต ห่างจากเกาะกวมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 117 ไมล์ทะเล (ราว 216 กิโลเมตร) เป็นไปตามข้อกำหนดเพื่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ซึ่งเรือจะต้องจมลงในความลึกไม่ต่ำกว่า 1,000 ฟาธอม หรือ 6,000 ฟุต และ ในจุดที่ห่างจากชายฝั่งอย่างน้อย 50 ไมล์ทะเล (92.6 กม.)
.
.
การฝึกวาเลียนต์ชีลด์ปีนี้ เป็นครั้งแรกที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินโรนัลด์ เรแกน (USS Ronald Reagan, CVN 76) ซึ่งประจำการในย่านนี้มาตั้งแต่ช่วงต้นปี นอกจากนั้นยังมีเรือพิฆาตชั้นอาร์ลีห์เบิร์ก (Arleigh Burke-Class) เข้าร่วมอีก 2 ลำ ซึ่งได้แก่เรือเบนโฟลด์ (USS Benfold, DDG 65) กับเรือจอห์น เอส แม็คเคน (USS John S McCain DDG 56 ) ฝูงบินตรวจการณ์ 2 ฝูง ซึ่งรวมทั้งเครื่งบิน P-8 ด้วย นอกจากนั้นยังมี ฝูงบินนาวิกโยธิน ในสังกัดกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี CVN 76 เข้าร่วมอีก 1 ฝูง
เว็บไซต์ของกองทัพเรือสหรัฐรายงานอีกว่า การฝึกวาเลียนต์ชีลด์ปีนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการทำลายเรือด้วย "ระเบิดนำวิถี" แบบ C1 (C-1 Joint Stand-off Weapon) โดยปล่อยจากเครื่องบินรบลำหนึ่ง และ ยังเป็นครั้งแรก ที่มีการนำอาวุธปล่อยนำวิถีชนิดนี้ ไปใช้ในการฝึกแบบเดียวกันนี้ ซึ่งอาจจะบ่งชี้ว่าสหรัฐได้นำระบบอาวุธนำวิถีสมาร์ทบอมบ์ แบบ "เจ-ซาว" เข้าประจำการในย่านนี้่ (โปรดชมตัวอย่างในคลิป)
นี่คืออาวุธทันสมัยที่สุดอีกนิดหนึ่งของสหรัฐ และ C-1 ออกแบบมาเพื่อทำลายเป้าหมาย แบบปล่อยจากอากาศสู่พื้นโดยฉพาะ และ ใช้มาเพียงไม่กี่ปี
นับเป็นครั้งที่สองในช่วงเวลาเพียงข้ามเดือน ที่สหรัฐแสดงให้เห็นการจมเรือฟรีเกตอย่างยากเย็นแสนเข็น ตั้งแต่การ ฝึกซ้อมจมเรือธัค (USS Thach, FFG 42) ด้วยจรวดนานาชนิด ระหว่างการฝึก RIMPAC 2016 ในทะเลฮาวาย ที่สิ้นสุดลงในสัปดาห์ต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นต้องใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมง
.
2
USS Rentz เป็นลำที่ 46 ในบรรดาเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถี ชั้นโอลิเวอร์ ฮาซาร์ด เพอร์รี (Oliver Hazard-Perry - Class) ที่ปลดระวางจากกองทัพเรือสหรัฐไปทั้งหมดแล้ว หลังใช้งานมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี รวมทั้ง USS Thach ลำนั้นด้วย
บรรจุเข้าประจำการในเดือน มิ.ย. 2527 และ เดือน ธ.ค. 2528 ถูกส่งไปประจำการฐานทัพเรือซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ในกองเรือแปซิฟิก ระหว่างปฏิบัติหน้าที่มายาวนาน ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประวัติศาสตร์ ที่เรือรบสหรัฐไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก ที่ท่าเรือชิงเตา (Qingtao) ในเดือน พ.ย.2529 กลายเป็นเรือรบสหรัฐลำแรก ที่ไปเยี่ยมเยือนคอมมิวนิสต์จีน นับตั้งแต่ปี 2492
.
.
เมื่อครั้งกองทัพเรือสหรัฐยังใช้เรือฟริเกต เรือเร็นต์ได้เคยร่วมปฏิบัติการในกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีชั้นนิมิตซ์ (Nimitz-Class) หลายกอง รวมทั้งเคยออกปฏิบัติการในย่านอ่าวเปอร์เซีย กับสงครามอิรัก การออกลาดตระเวณปราบปรามยาเสพติดในทะเลแคริบเบียน และ ภารกิจอื่นๆ อีกหลายอย่าง จนกระทั่งเข้าสู่พิธีปลดระวางอย่างเป็นทางการ ต้นเดือน พ.ค.2557 หรือสองปีที่แล้ว
.
.
เรือแวนเดกริฟต์ ก็เป็นอีกลำหนึ่งที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในย่านนี้เช่นกัน โดยไปเยือนนครโฮจิมินห์ ในเดือน พ.ย.2546 กลายเป็นเรือรบสหรัฐลำแรก ที่ไปเยือนเวียดนาม นับตั้งแต่ เม.ย.2518 ปีที่กรุงไซ่ง่อนตกเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เรือฟริเกตชั้นเพอร์รีลำนี้ ยังสืบต่อปฏิบัติงานในซีกโลกนี้อย่างโชกโชน จนกระทั่งปลดระวางในเดือน ก.พ.2558
.
3
4
ก่อนหน้านั้นในปี 2555 กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้แจ้งต่อรัฐสภา พร้อมมอบเรือเร็นต์กับเรือแวนเดกริฟต์ ให้แก่ไทย และ ก่อนหยุดพักสมัยประชุมเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่าน ร่างรัฐบัญญัติฉบับหนึ่ง ซึ่งลงวันที่ 11 ธ.ค.2555 เพื่อสนองนโยบายกระทรวงกลาโหม แต่ร่างดังกล่าวไม่สามารถ เข้าทันสมัยประชุมของวุฒิสภา จึงตกไปเมื่อสมัยประชุมปิดลง
ตลอดสมัยรัฐบาลนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเลย จนกระทั่งย่างเข้าสู่ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ในเดือน ธ.ค.2557 รัฐสภาสหรัฐได้ผ่านร่างรัฐบัญญัติคล้ายกันออกมาฉบับหนึ่ง อนุมัติกระทรวงกลาโหม มอบเรือฟรีเกตชั้นเพอร์รีให้แก่รัฐบาลตุรกี เม็กซิโก และ จำหน่ายอีกจำนวนหนึ่งให้แก่รัฐบาลไต้หวัน แต่ไม่ยอมมอบให้รัฐบาลกรีซโดยระบุว่า มีท่าทีข่มขู่คุกคาม ต่อเอกราชอธิปไตยของไซปรัส
เม็กซิโกกับจีนไต้หวัน เป็นสองพันธมิตรของสหรัฐ ที่ถูกระบุในร่างรัฐบัญญัติเดือน ต.ค.2555 (โปรดดูภาพ 4) ที่จะได้รับมอบ และ จำหน่ายเรือฟริเกตให้ พร้อมกับไทย แต่ไทยพลาดโอกาสไปในที่สุด โดยยังไม่เคยมีฝ่ายใดให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างเป็นทางการแต่นั้นมา
แต่อย่างน้อยที่สุดกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้ประกาศให้ทราบมาตั้งแต่ปี 2558 ว่า เรือเร็นต์จะถูกนำไปใช้เป็นเป้าในการฝึกซ้อม SINKEX ส่วนเรือแวนเดกริฟต์ จะ "จำหน่าย" ให้แก่มิตรประเทศ ที่ยังไม่ระบุชื่อ.