เหตุการณ์วันที่ 13 ก.ค.2558 เรือฟริเกตลำหนึ่งของจีน สะกดรอยตามเรือฟอร์ตเวิร์ธ (USS Fort Worth, LCS3) ขณะแล่นเฉียดหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ที่จีนกล่าวอ้าง เป็นของตนแต่ผู้เดียว เรือรบของกองทัพเรือที่ 7 สหรัฐ ยังคงแล่นเข้าออกทะเลเปิดแห่งนี้เป็นประจำ สม่ำเสมอ ตลอดหลายเดือน หลายปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่จีนกล่าวอ้างเป็นเจ้าของผืนน้ำกว่า 80% ในทะเลจีนใต้เมื่อปี 2552 ทั้งนี้เพื่อแสดงการปฏิเสธการกล่าวอ้างของจีน และ ยืนยันสิทธิ์การเดินเรือเสรี ในน่านน้ำสากลแห่งนี้ ทั้งเรือรบและเรือสินค้า เรือ LCS กำลังจะกลับเข้าสู่ภูมิภาคนี้อีกปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า พร้อมติดอาวุธยิงเรีอที่ก้าวหน้ารุ่นใหม่ๆ และ อาจเป็นปีแรกที่มาพร้อมกัน 2 ลำ. |
MGRออนไลน์ -- กองทัพเรือสหรัฐกำลังพิจารณาติดตั้ง อาวุธปล่อยนำวิถีทันสมัยหลายรุ่น บนเรือโจมตีชายฝั่ง หรือ Littoral Combat Ship ทั้งสองเวอร์ชั่น อาวุธทั้งหมดล้วนเป็นจรวดนำวิถี ที่มีระยะปฏิบัติการหลังเส้นขอบฟ้า (Beyond the Horizon) ซึ่งรวมทั้งจรวดยิงเรือ (Naval Strike Missile) ยุคใหม่รุ่นหนึ่ง อันเป็นผลงานการผลิตร่วมระหว่างกลุ่มบริษัทเรย์ธีออน และ บริษัทอาวุธชั้นนำแห่งประเทศนอร์เวย์
ในบรรดาเขี้ยวเล็บใหม่บนเรือรบขนาดเล็กที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐนี้ ยังรวมทั้งจรวดกริฟฟิน (Griffin Missile) รุ่นใหม่ ที่มีระยะยิงไกลกว่าระบบเดิมถึงสามเท่าตัว กับอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีเรือระยะไกล (Long-Range Anti-Ship Missile - LRASM) รูปทรง "สเตลธ์" อันเป็นอาวุธยิงเรือที่พัฒนารุ่นล่าสุด และ จะเป็นมาตรฐานใหม่บนเรือรบ กับเครื่องบินรบอีกหลายรุ่นของกองทัพอากาศ
นี่คือพัฒนาการใหม่สำหรับเรือรบขนาดเล็ก ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐสภาสหรัฐ รวมทั้งบรรดาสื่อกลาโหมของโลกตะวันตกมาหลายต่อหลายครั้งว่า "ไร้เขี้ยว" หรือ มีเขี้ยวเล็บไม่พอ ที่จะป้องกันตนเองได้ เมื่ออยู่ในน่านน้ำที่เป็นปรปักษ์ โดยไม่ต้องพูดถึงศักยภาพในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม และ การพัฒนาล่าสุดนี้ ยังมีขึ้นในปีที่เชื่อกันว่า กองทัพเรือสหรัฐ จะส่งเรือ LCS ทั้งสองชั้น-สองเวอร์ชั้น คือ ทั้ง Freedom-Class ซึ่งออกแบบเป็นเรือท้องแบน ใช้รหัสตัวเลขคี่ กับ Independence-Class ท้องกลวงทรงไทรมารัน (Trimaran) รหัสตัวเลขคู่ มาประจำการในย่านแปซิฟิกตะวันตกเป็นครั้งแรก
เรือ LCS ทั้งสองลำจะอยู่ภายใต้กองทัพเรือที่ 7 ครอบคลุมตั้งแต่ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย ปฏิบัติการร่วมกับกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี (Aircraft Carrier Strike Group) ที่อาจจะมีพร้อมกัน 2 กองอีกครั้งหนึ่ง
ตามกำหนดการเมื่อปี 2557 ครั้งที่สหรัฐ ประกาศส่งเรือฟอร์ตเวิร์ธ (USS Forth Worth, LCS3) มาประจำการในย่านนี้ เป็นเวลา 1 ปีกับ 4 เดือนนั้น กองทัพเรือประกาศว่า ผลัดหน้าเรือฟรีดอม (USS Freedom, LCS1) ที่เคยมาประจำย่านนี้เป็นลำแรกเมื่อ 3 ปีก่อน จะกลับมาอีกครั้ง และ เมื่อเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 2 ลำ ก็มีโอกาสที่จะได้เห็นเรือคู่ขนานชั้นอินดีเพนเดนซ์ แล่นเข้าสู่ภูมิภาคเป็นครั้งแรก
เป็นไปได้มากที่สุด ที่สหรัฐจะส่งเรือโคโรนาโด (USS Coronado, LCS4) เข้าประจำในแปซิฟิกตะวันตก หลังเข้าร่วมการฝึก RIMPAC 2016 กับ 26 ประเทศพันธมิตร ที่สิ้นสุดลงในสัปดาห์นี้
แต่ไม่ว่าจะเป็นชั้นใด เวอร์ชั่นไหน เรือ LCS กำลังจะกลับมา พร้อมระบบอาวุธที่ทันสมัย ทั้งอาวุธป้องกันการโจมตีทางอากาศ และ อาวุธโจมตีทั้งสงครามบนพื้นผิวน้ำ สงครามใต้น้ำ กับภารกิจกู้ทุ่นระเบิด ซึ่งจะทำให้เรือโจมตีชายฝั่ง ที่ถูกวิจารณ์ว่าอ่อนด้อย กลับเต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บ มาตรฐานเดียวกัน หรือ ใกล้เคียงกับเรือฟรีเกตเมื่อก่อนนี้ แต่โดดเด่นด้วยคุณสมบัติเฉพาะ ที่สามารถปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นได้ ซึ่งเรือรบแบบอื่นๆ ของกองทัพ ทั้งเรือพิฆาตและเรือลาดตระเวนทำไม่ได้
.
1
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ระหว่างการฝึก RIMPAC 2016 เรือโคโรนาโด ได้เข้าร่วมการฝึกจมเรือที่เรียกว่า SINKEX ครั้งหนึ่ง โดยยิงด้วยจรวดฮาร์พูน (Harpoon) จากแท่นยิง ที่ติดตั้งบนดาดฟ้า อาวุธปล่อยนำวิถีพุ่งเข้าใส่เป้าหมายที่ห่างออกไปกว่า 100 กิโลเมตรอย่างแม่นยำ ซึ่งบ่งบอกว่าเรือชั้นอินดีเพนเดนซ์ทุกลำ พร้อมแล้วสำหรับเขี้ยวเล็บใหม่รุ่นนี้
ตามรายงานในเว็บไซต์กองทัพเรือสหรัฐ นั่นเป็นครั้งแรกที่มีเรือ LCS ยิงจรวด RGM-84 จรวดยิงเรืออีกรุ่นหนึ่ง ที่สามารถยิงทำลายเป้าหมาย ที่อยู่หลังเส้นขอบฟ้า (คือมองไม่เห็นเป้าหมาย) ได้ และ ใช้กันแพร่หลายบนเรือรบของสหรัฐ กับชาติพันธมิตรนาโต้ รวมทั้งในราชนาวีไทยที่อยู่นอกกลุ่มด้วย
ก่อนหน้านั้นในปี 2557 กองทัพเรือสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ อาวุธปล่อยนำวิถียิงเรือแบบคองส์เบิร์ก (Kongsberg-Raytheon) จากชั้นดาดฟ้าเรือโคโรนาโดลำเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ ของกองทัพเรือใหญ่ที่สุดในโลก และ เรากำลังพูดถึงอาวุธยิงเรือ (Naval Strike Missile) ที่ยิงได้ไกลที่สุด และ ก้าวหน้าที่สุดรุ่นหนึ่งของสหรัฐกับนาโต้
เรือโจมตีชายฝั่งก็เช่นเดียวกับเรือรบลำอื่นๆ ในสังกัดกองทัพเรือที่ 7 สหรัฐ ซึ่งแน่นอน-- รวมทั้งเรือดำน้ำ มฤตยูเงียบที่แล่นเข้าออกทะเลจีนใต้เป็นประจำ และ มีเรือรบผิวน้ำบางลำ มีโอกาสได้เผชิญหน้ากับเรือรบของจีนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเมื่อครั้งเรือ LCS3 "ฟอร์ตเวิร์ธ" แล่นเฉียด หมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ที่จีนอ้างความเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว
.
2
นั่นคือปฏิบัติการปรกติวันที่ 13 พ.ค.2558 เพื่อแสดงการไม่ยอมรับ การกล่าวอ้างของจีน และ ตอกย้ำสิทธิการเดินเรืออย่างเสรี ในน่านน้ำทะเลเปิดแห่งนี้ แต่เหตุการณ์ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ครั้งนั้นเรือ LCS3 ต้องเผชิญกับเรือฟริเกตจีนลำหนึ่ง ที่ตามสะกดรอยอย่างใกล้ชิด ทุกย่างก้าว
กรณีนี้ทำให้เรือฟอร์ตเวิร์ธ ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า "กฎการปฏิบัติในยามเผชิญหน้าอย่างไม่คาดคิด" (Code for Unplanned Encounters at Sea --CUES) "อย่างเป็นมืออาชีพ" อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ ประกาศแสดงเจตนา และ ยืนยันในสิทธิเดินเรือในน่านน้ำสากล โดยสื่อสารกับอีกฝ่ายหนึ่ง "อย่างนักเดินเรืออาชีพ"
เหตุการณ์แบบนี้ ยังไม่เคยเกิดขึ้นกับเรือพิฆาต เรือลาดตระเวณ กระทั่งเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่แล่นเข้าออกทะเลจีนใต้เป็นระยะๆ มาตลอดหลายเดือนและหลายปี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ซึ่งจีนประกาศอ้างการเป็นเจ้าของผืนน้ำกว่า 80% ของทั้งทะเลใหญ่ แต่เรือรบจีนไม่เคยเข้าใกล้ เรือรบที่น่าเกรงขามของฝ่ายสหรัฐ และ ในบางกรณีเพียงแต่แล่นติดตาม สังเกตุการณ์อยู่ห่างออกไป โดยไม่แสดงตัวเป็นปรปักษ์ อันเป็นวิถีปฏิบัติที่สามารถกระทำได้
แต่เรื่องที่ได้รับความสนใจมากกว่านั้น ในกรณีเรือฟอร์ตเวิร์ธก็คือ เวลาต่อมาสื่อออนไลน์ภาษาจีนหลายแห่ง ได้รายงานเหตุการณ์ บางแห่งซึ่งรวมทั้งเว่ยโป้ออนไลน์ (Weibo Online) เว็บไซต์สารพัดข่าว ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่ง ได้สัมภาษณ์นายทหารเรือระดับสูงผู้หนึ่ง ที่ควบคุมน่านน้ำรอบๆ หมู่เกาะพิพาท ซึ่งระบุว่า "ถ้าหากเราจะจมเรือลำนั้น (ฟอร์ตเวิร์ธ) ก็เป็นเรื่องง่ายมาก..." (โปรดชมคลิปแรก- บนสุดอีกครั้ง)
สารพัดอาวุธปล่อยนำวิถี พร้อมจะติดตั้งบนเรือโจมตีชายฝั่ง ที่ประจำการทั้งหมด 6 ลำในขณะนี้ ทั้งจรวดฮาร์พูน คองสเบิร์ก เฮลไฟร์ (ลองโบว์) กริฟฟิน ไปจนถึงอาวุธปล่อยนำวิถียิงเรือระยะไกล LRASM ยุคใหม่ในอนาคตอันไม่ไกล กองทัพเรือสหรัฐสั่งต่อเรือ LCS รวม 40 ลำ ลดลงจากลง 52 ลำตามแผนการดั้งเดิม และ จากที่ต่อออกมา "สองชั้น" สองแบบ อีก 2 ปีข้างหน้าจะพิจารณา ให้เหลือเพียงแบบเดียว. |
.
.
เกิดอะไรขึ้นกับเรือ LCS?
ตลอดเวลา 16 เดือนที่ประจำการในย่านนี้ เรือฟอร์ตเวิร์ธแล่นเข้าออกทะเลจีนใต้มาหลายครั้ง รวมทั้งครั้งหนึ่งในเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว ที่มีเรือฟริเกตุเหิงสุ่ย (Hengsui, FFG-573) กองทัพเรือจีนแล่นติดตาม เฝ้าสังเกตุอยู่ห่างๆ ซึ่งทำให้ต้องใช้กฎ CUES เป็นครั้งแรก แต่เหตุการณ์ในเดือน ก.ค. วันแล่นเข้าใกล้หมู่เกาะสแปร็ตลีย์ได้ ทำให้เกิดประเด็นน่าสนใจขึ้นมา และ เป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อข่าวกลาโหมหลายแห่ง เกี่ยวกับความน่าเกรงขาม ตลอดจนศักยภาพอันแท้จริงของเรือโจมตีชายฝั่ง
เรือทั้งสองลำที่เข้ามาประจำในย่านนี้ คือ LCS1 กับ LCS3 มีเพียงปืนใหญ่เรือยิงเร็วแบบ Mk110 ขนาด 57 มม. 1 กระบอก เป็นอาวุธหลัก กับปืน 30 มม. สำหรับยิงเป้าหมายระยะประชิดอีก 2 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยาน RIM-116 หรือ Rolling Air Frame (RAM) อีก 1 ระบบ มียานดำน้ำเพื่อภารกิจสำรวจใต้น้ำอัตโมัติอีก 1 ลำ เรือยางท้องแข็งอีก 2 ลำ
เหตุที่ต้องทำคอนฟิกูเรชั่นออกมาแบบนี้ ก็เพราะต้องการความเร็ว ซึ่งเรือชั้นฟรีดอมทำความเร็วสูงสุดได้กว่า 40 น็อต (กว่า 70 กม./ชม.) เป็นเรือรบที่แล่นได้เร็วที่สุดในขณะนี้ ชั้นอินดีเพนเดนซ์ช้ากว่าอยู่เล็กน้อย แต่เสถียรมากกว่าด้วย รูปทรงไทรมารัน นอกจากนั้นเรือ LCS ทุกลำ ยังจะต้องคงขีดความสามารถ กับความคล่องตัวในการปฏิบัติงานเขตน้ำตื้นเป็นหลัก
หากเทียบกับเรือฟริเกตชั้นโอลิเวอร์ ฮาซาร์ด เพอร์รี (Oliver Hazard Perry) ที่เพิ่งปลดระวาง เรือ LCS ทั้งสองแบบ มีขนาดเล็กกว่าอยู่เล็กน้อย จนหลายคนอยากจะเรียกเป็นเรือคอร์แว็ต สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นเรือโจมตีขนาดเล็ก พร้อมเฮลิคอปเตอร์แบบ SH-60 หรือ MH-60 "ซีฮอว์ก" (Sea Hawk) 2 ลำ หรือ จะเปลี่ยนเป็นโดรนปีกหมุนแบบ "ลูกเสือไฟ" (Fire Scout) 1 ลำ แบบเดียวกับบนเรือ LCS3 ก็ได้
.
3
แต่เมื่อมีเสียงวิจารณ์หนาหู ในปลายปี 2547 กองทัพเรือสหรัฐก็ได้ประกาศแผนการอัปเกรดเรือ LCS ที่กำลังจะต่อออกมาทั้งหมดให้ติดอาวุธหนัก ในขณะที่ลดจำนวนสั่งต่อลง จาก 52 เหลือเพียง 40 ลำ และ ในปี 2561 จะมีการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ลดเรือชนิดนี้ลงเหลือเพียงชั้นเดียวเท่านั้น ไม่ฟรีดอม ก็อินดีเพนเดนซ์
ไม่กี่เดือนมานี้กองทัพเรือสหรัฐ ได้พิจารณาหลายทางเลือก ในการติดอาวุธเรือโจมตีชายฝั่งทั้งสองแบบ ทั้งหมดเป็นจรวดนำวิถียิงระยะไกล หลังเส้นของฟ้า และ เป็นที่ชัดเจนในขณะนี้ว่า จรวดฮาร์พูนอาจจะถูกเลือกสำหรับเรือชั้นอินดิเพนเดนท์ และ จรวด NSM คองส์เบิร์ก สำหรับเรือฟรีดอม ยังมีจรวดกริฟฟินยิงระยะไกล อีกรุ่นหนึ่งด้วย
นอกจากนั้นยังอาจจะมีการติดตั้ง จรวดเฮลไฟร์ลองโบว์ (Longbow Hellfire Missile) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นโจมตีระยะไกล บนเรือทั้งสองชั้น หรือ ชั้นใดชั้นหนึ่ง เป็นจรวดที่มีความคล่องตัวในการใช้งานมากกว่า เหมาะสำหรับตอบโต้ในกรณี ถูกโจมตีจากเรือเร็วขนาดเล็กของศัตรูจากระยะไกล หลายสิบกิโลเมตร รวมทั้งสามารถใช้ร่วมกับจรวดกริฟฟิน กรณีที่ถูกรุมโจมตีจากเรือเล็กของข้าศึกหลายๆ ลำพร้อมกัน
จากที่ติดตั้งระบบปืนยิงเร็วระยะประชิด "ซีวีส" หรือ CIWS (Close-in Weapon System) กับระบบจรวดต่อสู้อากาศยาน RIM116 RAM เรือ LCS ทุกลำจะเปลี่ยนไปใช้ระบบจรวด Sea RAM คือ จากปืนยิงเร็วขนาด 20 มม. กลายเป็นจรวด ที่พ่วงเข้ากับระบบเรดาร์/เซ็นเซอร์ของ CIWS สำหรับยิงทำลายทั้งอากาศยาน และ จรวดโจมตีของข้าศึก ในระยะห่างออกไปจากเรือมากกว่าเดิม
.
.
แผนการติดเขี้ยวหรือ LCS ดำเนินมาตั้งแต่เดือน ก.ย.2558 และ มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งหมายความว่า การติดตั้งบนเรือที่ต่อออกมาในห้วงเวลานี้ทั้งหมด คือ LCS1-5 และ LCS2-6 จะต้องแล้วเสร็จ ภายในปลายปี
อาวุธปล่อยยิงเรือทั้งหมด ล้วนมีระยะปลอดภัย (Stand-off) คือ "ปล่อย" จากระยะห่าง ที่ทำให้ฝ่ายข้าศึกไม่สามารถยิงสวนกลับมา ยังจุดยิงต้นทางได้ การมีอาวุธทันสมัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้เรือรบขนาดเล็กที่สุดของกองทัพ มีศักยภาพสูงขึ้นในการป้องกันทางอากาศ และ เมื่อติดอาวุธยิงเรือทันสมัย ก็ทำให้น่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ป้องปราม ป้องกัน กระทั่งใช้โจมตีข้าศึกเมื่อจำเป็น
ตามรายงานในเว็บไซต์กองทัพเรือสหรัฐ จรวด LRASM ซึ่งบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน (Lockheed-Martin) เร่งพัฒนาอยู่ในขณะนี้ มีทั้งแบบปล่อยจากอากาศยาน และ จากดาดฟ้าเรือรบได้ ซึ่งเรือ LCS เป็นหนึ่งในบรรดาเรือเป้าหมายในแผนการด้วย
จรวด LRASM ออกแบบให้มีรูปลักษณ์ล่องหน (Stealth) สามารถค้นหา และ ยิงทำลายเรือข้าศึกอย่างจำแนกได้ ด้วยตัวเอง มีระบบต่อต้านการรบกวนอีเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบดิจิตัล และ หลบเลี่ยงการยิงต่อต้านด้วยอาวุธยิงระยะประชิดได้ ทำให้การหวังผลสูงเกือบ 100% บริษัทผู้ผลิตได้ทดสอบต้นแบบ ที่ยิงจากอากาศยานเมื่อไม่นาน และ มีแผน ติดตั้งบนเครื่องบิน B-1B กองทัพอากาศในปี 2561 และ F/A-18 กองทัพเรือในปีถัดไป การติดตั้งบนดาดฟ้าเรือรบ จะตามมาหลังจากนั้น
.
.
จนถึงวันนี้ เรือ LCS ยังไม่ใช่เรือรบที่สมบูรณ์แบบในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่ออกแล่นทดสอบ มาจนถึงออกปฏิบัติการใช้งานจริงในย่านนี้ กองทัพเรือสหรัฐได้พบปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกจำนวนมาก
เมื่อปี 2557 เรือ LCS1 "ฟรีดอม" ประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง จนกระทั่งใช้การไม่ได้ ขณะไปช่วยเหลือกู้ภัยเหยื่อไต้ฝุ่นลูกหนึ่ง ที่พัดเข้าฟิลิปปินส์ ส่วนเรือ LCS3 จอดนิ่งที่ฐานทัพเรือชางงี สิงคโปร์ มาตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีนี้ หลังจากระบบหล่อลื่นของระบบเกียร์ล้มเหลว จนใช้การไม่ได้ แต่อันหลังนี้เกิดจากความบกพร่องของผู้บังคับการเรือ ซึ่งต่อมาถูกถอดออกจากตำแหน่ง
กรณีล่าสุดเกิดขึ้นกับเรือมิลวอคี (USS Milwaukee,LCS5) เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ขณะออกแล่นทดสอบในทะเลแอตแลนติก นอกชายฝั่งตะวันออก และ เกิดเครื่องยนต์ดับ การตรวจสอบได้พบเศษโลหะเล็กๆ สะสมในระบบกรองน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ระบบเซ็นเซอร์สั่งเครื่องยนต์หยุดทำงาน ต้องลากเรือไปยังฐานทัพเรือแห่งหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนีย เพื่อตรวจซ่อม
ปัจจุบันเรือมิลวอคีได้ไปประจำยัง "บ้าน" แห่งแรกคือ ฐานทัพเรือซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ทางฝั่งแปซิฟิกแล้ว ซึ่งหมายความว่า LCS5 อาจจะเป็นอีกลำหนึ่งที่มีโอกาสมาประจำ ในย่านแปซิฟิกตะวันตก-ทะเลจีนใต้ในวันข้างหน้า
แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ทุกอย่างกำลังได้รับการแก้ไขมาเป็นลำดับ ระบบอาวุธที่กำลังจะติดตั้งทั้งหมด กำลังจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ และ เปลี่ยนฐานะเรือรบขนาดเล็กที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐครั้งใหญ่ ทั้งในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี แบบไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีก.
.
4
.
.
5