เอเอฟพี - การถือเงินสดจำนวนมากทั่วพม่าเป็นเรื่องเสี่ยง และยากลำบาก และก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับแม่บ้านอย่าง ขิ่น มี้น อู แต่ในเวลานี้มี้น อู สามารถกดส่งเงินไปให้แก่ลูกๆ ผ่านบริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือที่เริ่มให้บริการในประเทศ
เศรษฐกิจของพม่ากำลังเริ่มฟื้นตัวนับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554 แต่ระบบธนาคารของประเทศยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และคาดการณ์ว่า ร้อยละ 90 ของประชากรชาวพม่ายังไม่มีบัญชีธนาคาร ผู้นำพลเรือนของรัฐบาลใหม่กำลังทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินด้วยการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นทางลัดให้แก่ประชาชน
“ผู้คนยังเก็บเงินไว้ในกล่องที่บ้าน” ขิ่น มี้น อู ที่ย้ายมาทำงานเป็นแม่บ้านในนครย่างกุ้ง และส่งเสียลูกๆ ที่อาศัยอยู่ในรัฐชาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กล่าว
เนื่องจากไม่มีสาขาธนาคารที่อยู่ใกล้ ครอบครัวของขิ่น มี้น อู มีให้เลือกเพียง 2 ทาง คือ เดินไปที่เครื่องฝาก-ถอนเงินที่ใกล้ที่สุดซึ่งอยู่ไกลมาก หรือส่งมัดธนบัตรเก่าไปกับรถโดยสาร
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปัจจุบันพม่ามีสาขาธนาคารอยู่แค่ 1,500 แห่ง ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะตั้งสาขาธนาคารให้มากพอที่จะเข้าถึงประชากร 51 ล้านคน และหลายคนยังคงมีความทรงจำที่เลวร้ายของการปกครองของทหาร เมื่อการให้บริการของธนาคารติดขัดอยู่บ่อยครั้ง แต่การเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนนี้กำลังเริ่มต้นขึ้น
เวลานี้ ขิ่น มี้น อู ส่งเงินกลับไปให้ลูกๆ ที่บ้านในเวลาเพียงไม่กี่นาทีผ่านการบริการของ Wave Money หนึ่งในบริษัทที่ให้บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นรายแรกๆ
บริษัท Wave Money ที่เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ และธนาคารเอกชน ได้สร้างเครือข่ายร้านค้า 4,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ลูกค้าสามารถฝากและถอนเงินด้วยโทรศัพท์ ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ที่เรียกได้ว่า “เอทีเอ็มมนุษย์” ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากกว่าและมีจำนวนมากกว่าสาขาของธนาคาร ซึ่งบริษัท Wave Money ดูแลตรวจสอบสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง และจัดส่งตัวแทนเติมเงินแก่ร้านค้าที่เงินสำรองเริ่มลดน้อยลง
“ข้อดีคือใช้เวลาน้อยมากในการโอนเงิน” ขิ่น มี้น อู กล่าว
.
.
หนึ่งในความเคลื่อนไหวแรกๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนเข้าครองอำนาจในเดือน เม.ย. คือ รัฐบาลได้อนุมัติกฎระเบียบที่อนุญาตให้ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเข้าลงทุนในตลาดเงินอิเล็กทรอนิกส์ และให้บริการผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารซึ่งมีอยู่อย่างมหาศาลในประเทศ
เมื่อ 4 ปีก่อน มีชาวพม่าเพียง 10% เท่านั้นที่มีโทรศัพท์มือถือ แต่เวลานี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 60% ที่ใช้สมาร์ทโฟนกันเป็นส่วนใหญ่
“พม่าเป็นตลาดที่ทุกคนพูดถึงในที่ประชุมเกี่ยวกับการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ เพราะพม่ายังไม่เคยถูกแตะต้องมาก่อน” แบรด โจนส์ ซีอีโอบริษัท Wave Money กล่าว
ชาวเมืองดาลา ชานนครย่างกุ้ง หากต้องการฝากเงิน พวกเขามีอยู่ 2 ทางเลือก คือ นั่งเรือข้ามแม่น้ำไปธนาคารที่อยู่ในนครย่างกุ้ง หรือฝังเงินไว้ที่สวนหลังบ้าน เหมือนกับเมืองอื่นๆ ที่เหลือของประเทศที่ไม่มีทั้งธนาคาร หรือเอทีเอ็ม
“เมื่อบริการเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้น มันจะช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่าธนาคาร” ซอ ซอ อู เจ้าของร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเอทีเอ็มมนุษย์ของบริษัท Wave กล่าว.
.
.