MGRออนไลน์ -- เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต ได้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอย่างรุนแรง วันศุกร์ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังกลับจากลาวได้ออกโรงอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไปลงที่เครื่องบิน FA-50 "โกลเด้นอีเกิ้ล" (Golden Eagle) ที่ผู้นำฟิลิปปินส์ เข้าใจว่าซื้อจากสหรัฐ ซึ่งแท้จริงเป็นเครื่องบินฝึกไอพ่น/โจมตีขนาดเบา ความเร็วเหนือเสียง รัฐบาลชุดที่แล้วจัดหาโดยซื้อจากเกาหลี
ประเด็นนี้ไม่เป็นข่าวแพร่หลายในสื่อฟิลิปปินส์ นัยว่าเพื่อช่วยรักษาหน้าของผู้นำที่หลายคนชื่นชอบ แต่คำพูดของนายดูเตอร์เต ดังข้ามทะเลไปถึงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ "อินทรีทอง" และ เมื่อปีที่แล้วกองทัพอากาศไทย ก็สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นเดียวกันนี้ถึง 4 ลำ เพื่อใช้เป็น "บฝ." เครื่องบินฝึกขั้นต้น
รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีเบนิกโน อะคีโน สั่งซื้อเครื่องบินทั้งสองลำจากเกาหลี ในโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ การป้องกันตัวเองทางอากาศ ต่อหน้าการคุกคาม ขยายพื้นที่ทางทะเลของจีน ซึ่งเมื่อสามปีก่อนได้เข้ายึดสันทราย ในหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ที่ฟิลิปปินส์กล่าวว่า อยู่ในเขตน่านน้ำของตนตามกฎหมายระว่างประเทศ
นายดูเตอร์เต วิจารณ์ความช่วยเหลือด้านกลาโหมของสหรัฐ ที่ให้แก่ฟิลิปปินส์ว่า เครื่องไม้เครื่องมือที่อดีตเจ้าอาณานิคม ให้ไปนั้นเหมาะสำหรับใช้ "ในพิธีการ" และ มีไว้เพื่อโชว์เท่านั้น
"เราได้รับหลายสิ่งหลายอย่างจากอเมริกา ขอขอบคุณในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สิ่งที่พวกเขาให้เรามาจำนวน 2 ลำ - เครื่องบินเพียงแค่ 2 ลำ มันคือ FA-50 แต่พวกเขาไม่ได้ให้อาวุธปล่อยนำวิถี กระสุนหรือปืนใหญ่ (อากาศ) มาเพื่อให้ต่อสู้ได้ ใช้ได้สำหรับในพิธีการเท่านั้น" ปธน.ฟิลิปปินส์กล่าว
เครื่องบินไอพ่นความเร็วเหนือเสียงดังกล่าว ฟิลิปปินส์ซื้อใหม่เอี่ยมจากเกาหลี ไม่ใช่ "ได้รับ" จากสหรัฐ ตามที่นายดูเตอร์เตกล่าวถึง ทั้งสองลำส่งถึงฟิลิปปินส์ ในเดือน พ.ย.2558 จากทั้งหมด 12 ลำ โดยมีกำหนดส่งมอบไปจนถึงปี 2560
FA-50 ทั้ง 2 ลำเป็นส่วนหนึ่ง ในแผนการจัดหามูลค่าราว 18.9 พันล้านเปโซ ที่รัฐบาลนายอะคีโนเซ็นอนุมัติ ในเดือน มี.ค.2557 เพื่อพัฒนากองทัพอากาศ เครื่องบินซูเปอร์โซนิกทั้ง 12 ลำ จะเข้าประจำการแทน F-5 "ไทเกอร์" ที่ปลดประจำการไปตั้งแต่่ปี 2548 และ ฟิลิปปินส์ ไม่เคยซื้อเครื่องบินรบใดๆ อีกเลยตั้งแต่นั้น จนกระทั่งรู้ตัวว่า กำลังถูกคุกคามจากจีน
กลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรมอวกาศแห่งเกาหลี หรือ KAI (Korean Aerospace Industry) ซึ่งเป็นผู้ผลิต บรรยายสรรพคุณ FA-50 เอาไว้ว่า เป็น "เครื่องบินโจมตีขนาดเบา เป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ของเครื่องบินฝึก T-50 ที่มีความเร็วเหนือเสียง
.
2
เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นายดูเตอร์เตวิจารณ์ FA-50 มาครั้งหนึ่ง โดยระบุว่า "สูญเงินทองเปล่าๆ" เพราะ "มันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลยจริงๆ นอกจากใช้ในงานพิธี"
"เราไม่สามารถใช้มันในการต่อต้านการก่อการร้าย ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ได้ ใช้ได้เพียงบินผ่านใด้ดู บินแสดงเท่านั้น"
อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับ FA-50 ของฟิลิปปินส์นั้น แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีอะไรเลวร้ายดังที่นายดูเตอร์เตกล่าวหา สำหรับเครื่องบินรุ่นนี้ เนื่องจากเครื่องบินโจมตีขนาดเบา สามารถบรรทุกอาวุธชนิดต่างๆ ทั้งจรวดและลูกระเบิด รวมน้ำหนักถึง 4.5 ตัน ติดตั้งระบบส่องเป้าเวลากลางคืน ระบบเรดาร์ที่ทันสมัย แบบเดียวกับที่ใช้ใน T-50 กองทัพอากาศเกาหลี มีระบบยิงพลุร้อนป้องกันตัวเอง หลอกอาวุธนำวิถีด้วยอินฟราเรด หรือ ด้วยเรดาร์ ที่พุ่งเข้าหา ฯลฯ
KAI ผลิต T-50 ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือ ด้านเทคโนโลยีอากาศยาน จากบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน บริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศรายใหญ่อีกรายหนึ่งในสหรัฐ
ในเดือน พ.ค.2554 กองทัพอากาศอินโดนีเซีย เซ็นสัญญาซื้อ T-50 จาก KAI จำนวน 16 ลำ รวมมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ สองลำสุดท้ายส่งมอบในเดือน ม.ค.2557 ในนั้นตกไป 1 ลำ เมื่อปีที่แล้ว ขณะขึ้นบินแสดงในงานแอร์โชว์ในประเทศ ท่ามกลางสายตาคนนับร้อยๆ
เดือน ก.ย.2558 กองทัพอากาศไทยเซ็นซื้อ 4 ลำ เพื่อเข้าประจำการแทน L-39 "อัลบาทรอส" (Albatros) เครื่องบินฝึก ที่ใช้มาแต่ยุคสงครามเย็น โดย T-50 ชนะการประกวดราคารอบสุดท้าย กับเครื่องบินฝึกแบบ "หงตู" L-15 ที่ผลิตในจีน
ก่อนหน้านั้นในเดือน ธ.ค.2556 รัฐบาลอิรักประกาศการจัดซื้อ T-50 รวดเดียว 24 ลำ โดยกำหนดส่งมอบทั้งหมดภายใน 12 เดือน เกาหลีกำลังเจรจา ซื้อขาย กับลูกค้าอีกหลายราย รวมทั้งสเปน สหรัฐอาหรับเอมิเรตว์ อาเซอร์ไบจัน บรูไน ไต้หวัน ปากีสถาน และ เวียดนามด้วย.