xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ : ฝันได้ไกล ไปแล้วถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.โยธิน มานะบุญ

ดร.โยธิน มานะบุญ
ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท ที.พี.ซี. เน็ตเวอร์ค จำกัด


ย้อนไปในยุค พ.ศ.2493 ถึง 2496 จะมีคนไทยในสมัยนั้นสักกี่คนจะเชื่อว่าเกาหลีใต้ ประเทศที่พึ่งพ้นจากการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1950 ทั้งยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางทหารเต็มรูปแบบจากสหรัฐอเมริกา จะเจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วเช่นทุกวันนี้ เช่นเดียวกับพัฒนาการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้มีการวางแผนและกำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจนปัจจุบัน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเกาหลีใต้จัดว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย และกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของโลกเช่นทุกวันนี้

พัฒนาการของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเกาหลีใต้

พัฒนาการของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเกาหลีใต้ไม่ได้ก้าวไปอย่างสะเปะสะปะไร้แผนงานและทิศทางในการดำเนินการ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มสนับสนุนให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีให้เกิดขึ้น และมีความเข้มแข็งขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970 โดยกำหนดนโยบายในรูปแบบของกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ปี 1973 แผนปรับปรุงกองทัพเกาหลีใต้ ปี 1974 และกฎหมายภาษีป้องกันประเทศ ปี 1975 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบให้สนับสนุนทางการเงินให้สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ โดยช่วงทศวรรษ 1970 นโยบายของรัฐบาลให้การสนับสนุนแก่อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีส่วนอย่างสำคัญในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเหล่านี้พัฒนาก้าวหน้าและเติบโตจนกลายเป็นส่วนที่สำคัญอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และก้าวหน้าจนกระทั่งกลายเป็นการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างอุตสาหกรรมการต่อเรือ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนักอื่นๆ

ในช่วงทศวรรษ 1990 อุตสาหกรรมภายในประเทศของเกาหลีใต้สามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์สนองตอบต่อความต้องการของกองทัพเกาหลีใต้ได้ถึงร้อยละ 70 ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ อุปกรณ์สื่อสาร ยานยนต์ เสื้อผ้า เครื่องใช้ ยุทธภัณฑ์และยุทธปัจจัยต่างๆ โดยมีสำนักงานจัดซื้อจัดจ้างกลาโหม (The Defense Procurement Agency : DPA) ของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ เป็นผู้รับผิดชอบการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์และยุทธปัจจัยกว่าร้อยละ 95

DPA ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างทุกอย่างสำหรับกองทัพเกาหลีใต้ รวมทั้งการจัดการส่งกำลังบำรุง การประมาณการสำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เจรจาต่อรอง กำหนดคุณลักษณะและการกำหนดมาตรฐานอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ

กองทัพเกาหลีใต้เคยพึ่งพาความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกาเต็มรูปแบบจนกระทั่งกลางทศวรรษ 1960 ในปี 1971 กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ได้จัดตั้ง DPA ทำหน้าที่เป็นสำนักงานจัดซื้อจัดจ้างแบบบูรณาการ เพื่อปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเกาหลีใต้ให้ทันสมัยเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพบกเกาหลีใต้ ในปัจจุบัน DPA จัดการงบประมาณกว่า 4 ล้านล้านวอน

การผลิตอาวุธสำหรับกองทัพเกาหลีใต้เกิดขึ้นในปี 1971 เมื่อกระทรวงกลาโหมสร้างโรงงานเพื่อผลิต ประกอบปืนเล็กกลแบบ M-16 ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยยินยอมให้ผลิตอาวุธปืนให้กองทัพบกเกาหลีใต้ได้อย่างเต็มที่ แต่ห้ามผลิตอาวุธดังกล่าวเกินกว่าจำนวนที่กองทัพบกเกาหลีใต้ต้องการโดยปราศจากความยินยอมของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทำข้อตกลงในลักษณะนี้ในการผลิตอาวุธชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระเบิดมือ กับระเบิด และปืนไร้แรงสะท้อน ตลอดจนกระสุนสำหรับอาวุธที่ผลิตให้กองทัพบกเกาหลีใต้
รถถังแบบ K-1
ในปี 1990 บริษัทเกาหลีใต้ได้รับสัญญาจากกองทัพบกเกาหลีใต้ให้ผลิตรถถัง ปืนใหญ่อัตตาจรและปืนใหญ่ลากจูง รถเกราะ 2 แบบ และเฮลิคอปเตอร์อีก 2 แบบ บริษัทฮุนไดได้รับสัญญาผลิตรถถังแบบ K-1 มีปืนใหญ่รถถังขนาด 105 mm. ซึ่งพัฒนาจากรถถัง M48A5 ที่กองทัพบกเกาหลีใต้ใช้ ซึ่งมีการนำเข้าชิ้นส่วนเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ระบบควบคุมการยิง และระบบส่งกำลัง นอกจากนั้นแล้วผลิตในเกาหลีใต้ทั้งหมด ซัมซุงได้รับสัญญาผลิตปืนใหญ่อัตตาจร 155 mm. M-109 เกียได้รับสัญญาผลิตปืนใหญ่ลากจูง KH-178 ขนาด 105 mm. และ KH-179 ขนาด 155 mm. แดวูและเอเชียมอเตอร์ได้รับสัญญาผลิตรถหุ้มเกราะลักษณะ KM-900 ที่ออกแบบโดยบริษัท FIAT (อิตาลี)
ปืนใหญ่ KH-179 ขนาด 155 mm.
ในปี 1990 บริษัทเกาหลีใต้ได้รับสัญญาจากกองทัพบกเกาหลีใต้ให้ผลิตรถถัง ปืนใหญ่อัตตาจรและปืนใหญ่ลากจูง รถเกราะ 2 แบบ และเฮลิคอปเตอร์อีก 2 แบบ บริษัทฮุนไดได้รับสัญญาผลิตรถถังแบบ K-1 มีปืนใหญ่รถถังขนาด 105 mm. ซึ่งพัฒนาจากรถถัง M48A5 ที่กองทัพบกเกาหลีใต้ใช้ ซึ่งมีการนำเข้าชิ้นส่วนเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ระบบควบคุมการยิง และระบบส่งกำลัง นอกจากนั้นแล้วผลิตในเกาหลีใต้ทั้งหมด ซัมซุงได้รับสัญญาผลิตปืนใหญ่อัตตาจร 155 mm. M-109 เกียได้รับสัญญาผลิตปืนใหญ่ลากจูง KH-178 ขนาด 105 mm. และ KH-179 ขนาด 155 mm. แดวูและเอเชียมอเตอร์ได้รับสัญญาผลิตรถหุ้มเกราะลักษณะ KM-900 ที่ออกแบบโดยบริษัท FIAT (อิตาลี)
รถหุ้มเกราะ KM-900 (FIAT6614)
KAI KT-1 Woongbi
บริษัทเบลล์เฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐและบริษัทซัมซุงร่วมกันผลิตเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1 บริษัทซิกอร์สกี้ของสหรัฐและแดวูร่วมกันผลิตเฮลิคอปเตอร์แบบ S-76 โคเรียนแอร์กลายเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานส่วนใหญ่ของกองทัพอากาศเกาหลีใต้ และกองทัพอากาศของสหรัฐฯ ได้ทำสัญญาจ้างโคเรียนแอร์ในการปรนนิบัติบำรุงเครื่องบินแบบ F-4 F15 A-10 และ C-130 ที่ประจำการในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

ห้วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 เกาหลีใต้กลายเป็นผู้ต่อเรือรายใหญ่ของโลก ทั้งเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ และแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีฮุนไดเป็นบริษัทชั้นนำ และต่อมาแดวูก็เข้ามาร่วมแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ ต่อมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำของโลก ซึ่งการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นต่ออุตสาหกรรมต่อเรือของญี่ปุ่น บริษัทต่อเรือเกาหลีจึงหันความสนใจมายังการต่อเรือรบ ซึ่งต่อมาได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการต่อเรือนำเข้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันในการต่อเรือดำน้ำแบบ U-209 ขนาด 150 ตัน ซึ่งกองทัพเรือเกาหลีใต้ได้ส่งต่อเพื่อใช้ในการป้องกันภัยคุกคามจากเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ

ปลายทศวรรษ 1990 เกาหลีใต้มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศติดอันดับโลก ด้วยงบประมาณในการจัดหาอาวุธกว่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทในประเทศเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตอาวุธส่วนใหญ่ที่ใช้ในกองทัพเกาหลีใต้ ทั้งมีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา และผลิตระบบอาวุธแบบใหม่ อีกทั้งบริษัทขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมากมีส่วนร่วมในฐานะคู่สัญญารับเหมาช่วงของบริษัทใหญ่ๆ เหล่านั้น

รัฐบาลเกาหลีใต้เองก็ต้องการปฏิรูปกองทัพเกาหลีใต้ให้มีความแข็งแกร่งในระดับเดียวกับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของตน ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีได้รับอานิสงค์จนสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
KAI T/A-50 Golden Eagle
ปัจจุบันเกาหลีใต้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง เช่น เครื่องบินฝึกแบบ KAI KT-1 Woongbi ให้กองทัพอากาศอินโดนีเซีย ตุรกี และเปรู เครื่องบินโจมตีฝึกแบบ KAI T/A-50 Golden Eagle ให้กองทัพอากาศอินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ อิรัก และ ไทย จำนวน 4 ลำ
ปืนใหญ่อัตตาจร K-9 155 mm
นอกจากเครื่องบินรบแล้ว อาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ที่ผลิตโดยเกาหลีใต้ ก็ยังเป็นที่สนใจของตลาดอาวุธอีกด้วยไม่ว่าจะเป็น ปืนใหญ่อัตตาจร K-9 155/52 mm ซึ่งมีระยะยิงมากกว่า 40 กิโลเมตร รถถังแบบ K2 Black Panther
รถถังแบบ K2 Black Panther
รถสายพานลำเลียงพล K21
รถสายพายพานลำเลียงพลแบบ K21 ติดปืนใหญ่อัตโนมัติ 40 มม. สามารถเดินทางที่ความเร็วสูงสุดถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและ 7.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในน้ำ
ขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ Haeseong
นอกจากนั้นแล้วอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ยังมีขีดความสามารถในการผลิตขีปนาวุธที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น ขีปนาวุธต่อต้านเรือรบแบบ Haeseong (SSM-700K Haeseong (C-Star) Anti-ship Missile) ซึ่งจะแทนที่ขีปนาวุธต่อต้านเรือรบแบบ Harpoon ของสหรัฐฯ และขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบ Singung (KP-SAM Shin-Gung or Shin-Kung or Chiron) ซึ่งจะแทนที่ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานแบบ Stinger ของสหรัฐฯ ในอนาคตอีกด้วย
ขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบ Singung
เมื่อย้อนกลับมาดูพัฒนาการของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของบ้านเราซึ่งไม่ได้มีการวางแผนและกำหนดนโยบายดังเช่นที่เกาหลีใต้ทำเมื่อกว่า 40 ปีล่วงมาแล้ว อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยในเชิงนโยบายจึงล้าหลังกว่าเกาหลีใต้ถึงกว่า 40 ปีเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนั้นจัดว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ และรวมถึงทวีปเอเชียเสียด้วยซ้ำไป

ทำไมเราจึงช้ากว่าเกาหลีใต้ถึงกว่า 40 ปี นับแต่ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย เราพึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาวุธเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ฉบับแรกคือ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 37 (ปร.37) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาวุธของเอกชนเพื่อใช้ออกกฎกระทรวงจนกระทั่งฉบับต่อมาคือ พระราชบัญญัติโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศฉบับที่ 2 แม้ว่า มีการจัดตั้ง สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีฐานะเป็นองค์การมหาชนแห่งแรกของกระทรวง

กลาโหม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 ก็ตาม แต่บทบาทหน้าที่การทำงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศในการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจนทุกวันนี้ ยังไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้มีพัฒนาการและเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยจำต้องพึ่งพาความสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมประเทศของกระทรวงกลาโหม ด้วยการกำหนดนโยบายที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคเอกชนไทยที่มีขีดความสามารถ ซึ่งปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรมทหารมีรายชื่อโรงงานที่มีเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงมีขีดความสามารถในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ในมือเป็นจำนวนมาก หากกระทรวงกลาโหมจะได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทหารร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) และผู้เชี่ยวชาญจากเหล่าทัพต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดขึ้น โดยสองหน่วยงานดังกล่าวทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ความเข้าใจด้านกฎระเบียบปฏิบัติของทางราชการที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยีด้านอาวุธต่างๆ แนวคิดและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เหล่าทัพต่างๆ มีความสนใจและมีความต้องการ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจในด้านการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตั้งแต่การบริหารจัดการ การตลาด ระบบโลจิสติกส์ ฯลฯ ทั้งยังจะได้ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลกลับเพื่อการปรับเปลี่ยนนโยบายและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตลอดจนระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆ ให้เอื้อต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน เปลี่ยนวิธีการควบคุมอย่างเคร่งครัดเป็นการกำกับและสนับสนุน โดยอาจจะกำหนดพื้นที่และมีการจัดระบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อความสะดวกในการสนับสนุน และกำกับดูแลต่อไป

บรรดาสิ่งที่ได้กล่าวมาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ยากที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในยุคที่รัฐบาลมีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมาจากกองทัพ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิกที่เป็นทหารและอดีตทหารอยู่เป็นจำนวนมาก หากรัฐบาล และ สนช. มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิรูปเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดขึ้นได้ และมีพัฒนาการต่อเนื่องดังเช่นเกาหลีใต้แล้ว ปัญหาในเชิงนโยบายที่กล่าวมาไม่ได้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการแต่อย่างใดเลย ทั้งจะได้เห็นถึงความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมโดยภาคเอกชนไทยซึ่งจะสามารถสนองตอบต่อความเจริญก้าวหน้าและเติบโตของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อันหมายถึงอนาคตที่รุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศโดยคนไทยต่อไปในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น