รอยเตอร์/เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้เสนอวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ สำหรับความร่วมมือด้านการป้องกันให้แก่เวียดนามเมื่อวันเสาร์ (3) ที่จะช่วยให้เวียดนามยกระดับการป้องปรามทางทหารท่ามกลางความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนึ่งในบรรดาข้อตกลงความร่วมมือ 12 ฉบับ ที่ลงนามในกรุงฮานอย ระหว่างผู้นำอินเดีย และนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุ้ก ในการเยือนเวียดนามครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีแดนภารตะในรอบ 15 ปี
อินเดีย และเวียดนามต่างมีแนวพรมแดน และปริมาณการค้าขนาดใหญ่กับจีน และมีปัญหาติดขัดกับปักกิ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทดินแดนในเทือกเขาหิมาลัย และทะเลจีนใต้ตามลำดับ
ทั้งสองประเทศกำลังเสริมแสนยานุภาพด้านการป้องกันของตนเอง และในกรณีของอินเดีย ที่มีอุตสาหกรรมการป้องกันของประเทศ กำลังส่งเสริมจรวดร่อน “บราห์มอส” ความเร็วซูเปอร์โซนิก ที่อินเดียกระตือรือร้นที่จะขายจรวดดังกล่าวให้แก่เวียดนาม และอีก 4 ประเทศ ตามรายงานของรัฐบาลที่รอยเตอร์ได้รับเมื่อเดือน มิ.ย.
ในการแถลงข่าว ผู้นำอินเดียกล่าวว่า วงเงินดังกล่าวเป็นการอำนวยความสะดวกในความร่วมมือด้านการป้องกันร่วมกัน และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่จะนำไปสู่ความมั่นคง ความปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
“ผมยินดีที่จะประกาศวงเงินด้านการป้องกันใหม่สำหรับเวียดนาม จำนวน 500 ล้านดอลลาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกในความร่วมมือด้านการป้องกันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” ผู้นำอินเดีย กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหลังการลงนามข้อตกลง
นักวิเคราะห์กล่าวว่า เวียดนามอยู่ระหว่างการเสริมแสนยานุภาพทางทหารเพื่อการป้องปราม เพื่อรักษาความปลอดภัยของเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะ 200 ไมล์ทะเล ในขณะที่จีนขยายการอ้างกรรมสิทธิ์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้
ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า เวียดนามอยู่ในตลาดเครื่องบินรบ และระบบจรวดขั้นสูง นอกเหนือไปจากเรือดำน้ำชั้นคิโล 6 ลำ ที่เวียดนามซื้อมาจากรัสเซีย ที่ลำสุดท้ายจะจัดส่งในปลายปีนี้
ข้อตกลง 12 ฉบับที่ลงนามในวันเสาร์ (3) ยังครอบคลุมถึงสาธารณสุข การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การต่อเรือ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพสหประชาชาติ และการแบ่งปันข้อมูลทางเรือ รวมทั้งข้อตกลง 5 ล้านดอลลาร์ในการสร้างอุทยานเทคโนโลยีใน จ.ญาจาง
เวียดนามกำลังผลักดันที่จะกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในภาคเทคโนโลยีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเวียดนามองไปที่การส่งออกที่แตกต่างหลากหลายนอกเหนือไปจากภาคการผลิต และการเกษตร
ผู้นำทั้งสองประเทศกล่าวว่า ความสัมพันธ์จะพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับของความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม และการค้าทวิภาคีจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2563
เวียดนามเป็นผู้นำเข้าอาวุธใหญ่ที่สุดอันดับ 8 ของโลก ระหว่างปี 2554-2558 ตามการระบุของสถาบันศึกษาสันติภาพนานาชาติแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) ปรับขึ้นจากอันดับ 43 ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น
ชาติคอมมิวนิสต์กำลังเพิ่มการมองหาหุ้นส่วนใหม่ๆ เพื่อแทนที่ หรือยกระดับอุปกรณ์ทางทหารยุคโซเวียตให้ทันสมัย รวมทั้งสหรัฐฯ ที่ยกเลิกมาตรการห้ามค้าอาวุธกับเวียดนามเมื่อเดือน พ.ค.
คาร์ล เธอเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนาม กล่าวว่า การเยือนเวียดนามของผู้นำอินเดีย เป็นวิธีของเวียดนามในการแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีเพื่อนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค.