รอยเตอร์ - เวียดนามได้เสริมกำลังทางทหารอย่างระมัดระวังในหลายเกาะของประเทศในทะเลจีนใต้ ด้วยการติดตั้งเครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่ได้ ที่สามารถโจมตีรันเวย์ และการติดตั้งทางทหารต่างๆ ของจีนทั่วเส้นทางการค้าสำคัญ ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ตะวันตก
นักการทูต และเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวต่อรอยเตอร์ว่า หน่วยข่าวกรองได้เผยว่า ฮานอยได้ส่งเครื่องยิงจรวดไปติดตั้งบนฐานทัพ 5 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มจะเพิ่มความตึงเครียดกับปักกิ่ง โดยเครื่องยิงจรวดถูกซ่อนจากการตรวจสอบทางอากาศ และยังไม่ได้ติดอาวุธ
กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามระบุว่า ข้อมูลดังกล่าว “ไม่ถูกต้อง” แต่ก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม
ด้านรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมเวียดนาม กล่าวต่อรอยเตอร์ในสิงคโปร์เมื่อเดือน มิ.ย. ว่า ฮานอยไม่มีเครื่องยิงจรวด หรืออาวุธพร้อมใช้ในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่ก็มีสิทธิที่จะดำเนินมาตรการเช่นดังที่กล่าว
“มันเป็นเรื่องภายในสิทธิอันชอบธรรมของเราที่จะป้องกันตัวเอง ในการเคลื่อนย้ายอาวุธใดๆ ก็ตามไปยังพื้นที่ใด หรือเวลาใดภายในดินแดนอธิปไตยของเรา” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม กล่าว
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้ออกแบบมาเพื่อตอบโต้การเสริมกำลังทางทหารของจีนบนเกาะ 7 แห่งที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ทางทหารของเวียดนามวิตกว่า การสร้างรันเวย์ เรดาร์ และการติดตั้งทางทหารบนเกาะเหล่านี้ทำให้การป้องกันพื้นที่ภาคใต้ และเกาะต่างๆ ของเวียดนามถูกโจมตีได้ง่ายขึ้น
นักวิเคราะห์ทางทหาร กล่าวว่า มันเป็นความเคลื่อนไหวด้านการป้องกันอย่างมีนัยสำคัญที่สุด ที่เกิดขึ้นบนเกาะที่เวียดนามครอบครองในทะเลจีนใต้ในรอบหลายสิบปี
ฮานอย ต้องการที่จะมีเครื่องยิงจรวดในพื้นที่ ด้วยคาดว่าความตึงเครียดจะเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ศาลอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยต่อจีนในคดีที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้อง ซึ่งคำตัดสินของศาลที่มีออกมาเมื่อเดือนก่อน ที่จีนยืนกรานไม่ยอมรับนั้น ระบุว่า ไม่พบพื้นฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ของจีนเหนือพื้นที่ของทะเลจีนใต้
เวียดนาม จีน และไต้หวัน ต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทั้งหมดของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน อ้างสิทธิในพื้นที่บางส่วน
“จีนมีอธิปไตยที่ไม่อาจคัดค้านได้เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ และน่านน้ำใกล้เคียง” กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
“จีนคัดค้านอย่างเด็ดขาดต่อประเทศเกี่ยวข้องที่ครอบครองบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ และแนวปะการังของจีนอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งการก่อสร้างอย่างผิดกฎหมาย และการเสริมกำลังพลบนพื้นที่บางส่วนที่ครอบครองอย่างผิดกฎหมายของหมู่เกาะสแปรตลีย์ และแนวปะการังที่เป็นของจีน”
ด้านสหรัฐฯ ระบุว่า กำลังติดตามการพัฒนาของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
“เรายังคงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่อ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการเพิ่มความตึงเครียด และดำเนินการสร้างความเชื่อมั่น และทวีความพยายามที่จะหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางการทูตอย่างสันติ” เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
เจ้าหน้าที่ต่างประเทศ และนักวิเคราะห์ทางทหารเชื่อว่า เครื่องยิงจรวดเป็นส่วนหนึ่งของระบบจรวดพื้นสู่พื้นนำวิถีระยะไกล EXTRA ที่เพิ่งได้รับมาจากอิสราเอล
จรวด EXTRA มีความแม่นยำสูงที่ระยะ 150 กิโลเมตร ด้วยขนาดหัวรบ 150 กิโลกรัม ที่สามารถบรรทุกวัตถุระเบิดความรุนแรงสูงเพื่อโจมตีเป้าหมายหลายจุดพร้อมกัน ดำเนินการร่วมกับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ที่สามารถโจมตีได้ทั้งเรือ และเป้าหมายบนพื้นดิน
นั่นทำให้รันเวย์ความยาว 3,000 เมตร และการติดตั้งต่างๆ ของจีนบนแนวปะการังซูบี เฟียรี ครอสส์ และมิสชีฟ รีฟส์ อยู่ภายในระยะทำการของเวียดนาม
ขณะที่เวียดนามมีขีปนาวุธป้องกันชายฝั่งขนาดใหญ่ และระยะไกลของรัสเซีย จรวด EXTRA ถือว่าเป็นระบบยิงจรวดเคลื่อนที่ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้เรดาร์ขนาดกะทัดรัด จึงไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการปฏิบัติการ ทำให้มีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานบนเกาะ และแนวปะการัง
“เมื่อเวียดนามได้รับระบบ EXTRA มันถูกมองเสมอว่าจะถูกนำไปติดตั้งบนสแปรตลีย์ เพราะมันเป็นอาวุธที่สมบูรณ์แบบสำหรับการนี้” นักวิจัยอาวุธอาวุโสของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณของการทดสอบยิง หรือเคลื่อนย้ายเครื่องยิงจรวดในช่วงนี้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพเรือของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกองทัพให้ทันสมัย ที่รวมทั้งการซื้อเรือดำน้ำชั้นคิโล 6 ลำจากรัสเซีย
คาร์ล เธเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของเวียดนาม จากสถาบันป้องกันประเทศของออสเตรเลีย กล่าวว่า การเสริมแสนยานุภาพทางทหารแสดงให้เห็นถึงความจริงจังมุ่งมั่นของเวียดนามในการป้องปรามทางทหารต่อจีนให้มากเท่าที่จะทำได้
“รันเวย์ และการติดตั้งทางทหารของจีนในหมู่เกาะสแปรตลีย์ เป็นความท้าทายโดยตรงต่อเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน่านน้ำ และน่านฟ้าทางภาคใต้ของประเทศ และกำลังแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเตรียมพร้อมตอบโต้ภัยคุกคามนั้น และจีนไม่น่าจะมองว่าสิ่งนี้เป็นการป้องกันเพียงอย่างเดียว และมันอาจก่อให้เกิดขั้นใหม่ของเสริมแสนยานุภาพทางทหารของหมู่เกาะสแปรตลีย์” คาร์ล เธเยอร์ ระบุ.