เอเอฟพี - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ กล่าวยกย่องความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม ในการเริ่มต้นการเยือนครั้งสำคัญในวันนี้ (23) เมื่ออดีตศัตรูสงครามมีความเชื่อมโยงทางการค้ามากขึ้น และมีความวิตกร่วมกันเกี่ยวกับการกระทำของจีนในน่านน้ำพิพาท
การเยือนชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีพลังในครั้งนี้เป็นการเยือนครั้งแรกของโอบามา แต่เป็นการเยือนครั้งที่ 3 ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อยู่ในตำแหน่ง นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 2518
“เรามาที่นี่เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นซึ่งเราได้สร้างขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา” โอบามา กล่าวต่อประธานาธิบดีเจิ่น ได กวาง ในกรุงฮานอย
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า หวังให้การเยือนเป็นเวลา 3 วัน จะแสดงให้ประชาชนชาวเวียดนามเห็นถึงความอบอุ่น และมิตรภาพที่มีอยู่ระหว่างสองประเทศ
สองประเทศมีประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงที่น่าประหลาดในความสัมพันธ์ระหว่างกัน จากศัตรูที่สร้างรอยแผลทั้งร่างกาย และจิตใจจากสงครามอันยาวนานนับทศวรรษ มาสู่การเป็นพันธมิตรในภูมิภาค
ในสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้นำสองประเทศได้สัมผัสมือกันก่อนร่วมประชุมหารือ ในห้องที่มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของโฮจิมินห์ วีรบุรุษนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ตั้งอยู่เบื้องหลัง
โอบามา ยังมีกำหนดร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก แต่การพบหารือที่สำคัญที่สุดจะอยู่ที่การพบกับเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในช่วงบ่าย ซึ่งเหวียน ฝู จ่อง เคยพบหารือกับโอบามา ที่ทำเนียบขาวเมื่อเดือน ก.ค.
ทั้งสองชาติได้ร่วมกันผลักดันมาเป็นเวลายาวนานสำหรับความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิด ด้วยสหรัฐฯ หวังที่จะเข้ามามีส่วนในความมั่งคั่งที่กำลังขยายตัวของชนชั้นกลางของเวียดนาม ขณะเดียวกัน ผู้นำเวียดนามก็กระหายที่จะให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากการคัดค้านต่อต้านการปกครองเผด็จการของพวกเขา
แต่วอชิงตัน และฮานอยยังมีเป้าหมายด้านความมั่นคงร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปักกิ่งยังคงเสริมแสนยานุภาพอย่างต่อเนื่องในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เวียดนามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือแนวปะการังและเกาะสำคัญ
ฝ่ายบริหารของโอบามา ระบุว่า การเยือนในสัปดาห์นี้เป็นโอกาสที่จะผลักดันความสัมพันธ์ไปเกินกว่าการกระชับมิตร ด้วยเวียดนามในเวลานี้เป็นกระดานสำคัญในการปักหมุดของอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ประเด็นหารือสำคัญจะเป็นการยกเลิกการห้ามค้าอาวุธของสหรัฐฯ ร่องรอยสุดท้ายของสงครามระหว่างสองชาติ
ผู้สนับสนุนให้เหตุผลต่อการยกเลิกการห้ามค้าอาวุธว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเวียดนามพัฒนาการป้องกันชายฝั่ง และเสริมส่วนที่ล้าสมัยที่ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ทางทหารที่มีต้นกำเนิดจากรัสเซีย เพื่อให้สามารถตอบโต้จีนได้ดียิ่งขึ้น.
.
.
.