xs
xsm
sm
md
lg

พม่าปิดฉากประชุมสันติภาพยังไร้ทางออก นัดรวมตัวใหม่ 6 เดือนข้างหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>สมาชิกชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์จากรัฐชานรวมตัวถ่ายรูปที่ระลึกหน้าที่ประชุมสันติภาพในกรุงเนปีดอ โดยการประชุมได้ปิดฉากลงก่อนกำหนด 1 วัน และไม่มีข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นจากการหารือในครั้งนี้ ขณะที่ผู้จัดงานระบุว่าการประชุมครั้งถัดไปจะมีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า. -- Agence France-Presse/Romeo Gacad.</font></b>

เอเอฟพี - อองซานซูจี สรุปการประชุมครั้งสำคัญกับบรรดาแกนนำกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เมื่อวันเสาร์ (3) โดยเรียกการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นก้าวแรกของหนทางอันยากลำบากไปสู่สันติภาพ

การประชุมในกรุงเนปีดอ เมืองหลวงของพม่า เป็นการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ครั้งแรกของ ซูจี ที่จะยุติความไม่สงบที่ปะทุขึ้นทั่วรัฐชายแดนของพม่าเป็นเวลาเกือบ 70 ปี

แม้จะยังไม่มีทางแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นจากการประชุมเป็นเวลา 4 วัน ที่ให้โอกาสผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายสิบกลุ่มได้กล่าวถึงความคับข้องใจ และความปรารถนาทางการเมืองของตน แต่ความสำเร็จที่ใหญ่ที่สุดของ ซูจี คือ การนำผู้เล่นใหม่ๆ มาร่วมโต๊ะเจรจา รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธที่ยังไม่ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลชุดก่อน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ที่ยังคงต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ และกองทัพสหรัฐว้า ที่เป็นกลุ่มติดอาวุธทรงอิทธิพลที่มีฐานใกล้กับชายแดนจีน ได้เดินออกจากที่ประชุมในวันที่ 2 จากสิ่งที่รัฐบาลระบุว่าเป็นความเข้าใจผิด

“การจะบรรลุสันติภาพนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบากอย่างมาก” ซูจี กล่าวในที่ประชุมที่เต็มไปด้วยคณะผู้แทนหลายร้อยคน เมื่อวันเสาร์ (3) อันเป็นวันสุดท้ายของการประชุมหลังที่ประชุมตัดสินใจว่าไม่จำเป็นต้องมีการประชุมวันที่ 5

“นี่คือการประชุมครั้งแรก หลังจากนี้จะมีการพบหารือมากขึ้น และยังมีหลายสิ่งที่เราต้องทำในช่วงเวลาระหว่างนั้น” ซูจี กล่าว และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้าขณะที่กระบวนการสันติภาพดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ความไม่ไว้วางใจต่อกองทัพยังคงฝังลึกอยู่ในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยที่ยังมีการต่อสู้ และการปราบปราม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเต็มไปด้วยความซับซ้อนจากการต่อสู้แย่งชิง การค้ายาเสพติด อัญมณี และป่าไม้ในพื้นที่ที่กลุ่มติดอาวุธยึดครอง
.
<br><FONT color=#000033>อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สัมผัสมือกับแกนนำกลุ่มองค์กรกะฉิ่นอิสระ (KIO) หลังปิดการประชุมสันติภาพ. -- Agence France-Presse/Aung Htet.</font></b>
.

.
แม้ซูจี สนับสนุนการเรียกร้องการปกครองตนเองในถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อย แต่นับว่าเป็นความท้าทายต่อความพยายามที่จะจัดตั้งระบบสหพันธรัฐ ให้ตรงต่อความต้องการซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม และการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามต่อรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารร่างขึ้น จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากกองทัพที่ยังคงมีอิทธิพล ที่มีอำนาจในการยับยั้งการแก้ไขข้อเสนอใดๆ ก็ตาม

แม้ว่ากองทัพได้คลายการกุมอำนาจประเทศนับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554 แต่ทหารยังคงบริหารกระทรวงสำคัญ และครองที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภา

แกนนำจากแนวร่วมแห่งชาติชินที่ช่วยเหลือจัดการการประชุมสันติภาพครั้งนี้ กล่าวว่า การรวมตัวของคณะผู้แทนครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

“ความท้าทายของเราคือ การลงนามของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ” ผู้จัดการประชุม กล่าว

แกนนำจากองค์กรกะฉิ่นอิสระ (KIO) ที่ยังไม่ได้ลงนามหยุดยิง ย้ำว่า ไม่มีการบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมในการเจรจาสัปดาห์นี้

“เราสามารถแสดงข้อเสนอของเราต่อที่ประชุมนี้ แต่ไม่มีอะไรที่สำคัญเกิดขึ้น” แกนนำองค์กรกะฉิ่นอิสระ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว และว่ากลุ่มต้องการหารือเพิ่มเติมก่อนจะลงนามข้อตกลง

กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างหลากหลายจำนวนมากของพม่ามีสัดส่วนประชากรราว 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ แต่รัฐบาล และกองทัพยังเต็มไปด้วยสมาชิกที่เป็นชาติพันธุ์พม่าซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่.
กำลังโหลดความคิดเห็น