xs
xsm
sm
md
lg

แฟนๆ แปลกใจเฟซบุ๊ก “ฮุนเซน” มีแต่ต่างชาติกดไลก์เกือบครึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>นับตั้งแต่ยอมรับว่าเริ่มใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ยอดไลค์เพจเฟซบุ๊กของผู้นำเขมรก็เพิ่มพรวดจนแซงหน้าคู่แข่งคนสำคัญทางการเมืองไปไกลลิบ และส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเกือบครึ่ง สร้างความฉงนสงสัยต่อที่มาที่ไปของยอดไลค์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน สื่อท้องถิ่น หรือแม้แต่บรรดาแฟนๆ เองก็ตาม.</font></b>

เอเอฟพี - หน้าเพจเฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ที่เต็มไปด้วยการถ่ายทอดการกล่าวปราศรัย การแสดงความเห็นที่ดุเดือด หรือโพสต์รูปถ่ายในภารกิจต่างๆ มีคนกดไลก์ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้นำกัมพูชามากถึง 5 ล้านคน 

แต่บรรดาไลก์ที่เห็นว่าเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วมาจากประเทศต่างๆ รวมทั้งอินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อให้เกิดการตั้งประเด็นกล่าวหาว่า ผู้นำเขมรซื้อไลก์มาจาก “คลิกฟาร์ม”

นายกรัฐมนตรีวัย 64 ปี  ที่ครั้งหนึ่งยอมรับว่าเป็นคนโลว์เทค ได้เริ่มใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กในปีที่ผ่านมา หลังฝ่ายตรงข้ามใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนุ่มสาว

ฮุนเซน ให้คำมั่นว่าจะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปจนกระทั่งอายุ 74 ปี ในการเลือกตั้งครั้งหน้าซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2561 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ฮุนเซน ต้องการการสนับสนุนจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ของกัมพูชา ประชากรที่เป็นผู้ชำนาญในการใช้เทคโนโลยี ที่ลงคะแนนเสียงให้ฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะเบื่อหน่ายต่อปัญหาทุจริต การละเมิดสิทธิ และการปราบปรามทางการเมือง ที่ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองของฮุนเซน

ด้วยการควบคุมสื่อกระแสหลักเกือบทั้งหมดของประเทศ ฮุนเซน หันมาระมัดระวังสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น แม้ว่าผู้นำเขมรจะเปิดรับบรรยากาศของโลกออนไลน์ แต่ก็ดำเนินคดีต่อผู้ที่แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์เช่นกัน

หน้าเพจของฮุนเซนมีข้อมูลทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่การถ่ายทอดสดการกล่าวสุนทรพจน์ และการพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน ไปจนถึงการโพสต์ภาพในช่วงเวลาส่วนตัวขณะอยู่ในชุดคลุมอาบน้ำ แต่ความสำเร็จของยอดผู้ติดตามเพจ มาพร้อมกับข้อกล่าวหาที่ว่า กลุ่มแฟนจำนวนมากเหล่านี้มาจากการใช้บริการเพิ่มยอดไลก์

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กลุ่มฝ่ายค้าน สื่อท้องถิ่น นักวิเคราะห์ และแม้แต่ผู้ติดตามเฟซบุ๊กของฮุนเซนเองก็สงสัยถึงความผิดปกติของยอดไลก์ที่พุ่งพรวดในเพจของผู้นำเขมร

การวิเคราะห์ข้อมูลผู้กดติดตามเฟซบุ๊กของฮุนเซนโดยเอเอฟพี ในช่วง 6 เดือนล่าสุดโดยใช้ข้อมูลจาก SocialBakers.com เผยให้เห็นว่า มี 2 ช่วงเวลาที่ยอดไลก์จากต่างชาติเพิ่มขึ้นมาก

จากจำนวนผู้ติดตามเฟซบุ๊ก 5 ล้านคน มีเพียง 55% ที่เป็นบัญชีผู้ใช้งานจากในประเทศ หลายคนที่คลิกไลก์เฟซบุ๊กฮุนเซน มีต้นทางจากประเทศที่อื้อฉาวในเรื่องของการเป็นแหล่งปั๊มไลก์ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

.

.
ในทางตรงกันข้าม ผู้ติดตามเฟซบุ๊กของสม รังสี ที่เป็นนักการเมืองฝ่ายค้านคนสำคัญของประเทศ กลับเป็นชาวกัมพูชามากถึง 82% ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้สม รังสี ที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส กล่าวหาว่า ฮุนเซนซื้อไลก์ โดยให้เหตุผลว่าเพราะฮุนเซนต้องการเพิ่มความนิยมของตัวเองบนเฟซบุ๊ก เพื่อแก้ต่างให้แก่นโยบายการปราบปรามของตัวเอง

ในตอนนี้ อินเดียครองสัดส่วนใหญ่ที่สุดของบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวต่างชาติที่ชื่นชอบเพจของฮุนเซน ด้วยจำนวน 562,000 คน หรือ 11.4%

ในเดือน มี.ค. และ เม.ย. ชาวอินเดียคลิกไลก์เฟซบุ๊กฮุนเซนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จาก 175,000 คนเป็น 517,000 คน และตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. อัตราการคลิกไลก์ลดลงเล็กน้อย และกลับมาเพิ่มพรวดอีกครั้งในระหว่างวันที่ 4 ก.ค. ถึง 1 ส.ค. เป็น 560,000 คน

รูปแบบยอดไลก์ที่เพิ่มขึ้นพรวดพราดในลักษณะเช่นนี้ ยังเกิดขึ้นกับแฟนๆ จากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยในระหว่างวันที่ 15 ก.พ. ถึง 9 พ.ค. ชาวอินโดนีเซียคลิกไลก์เพิ่มขึ้นมากถึง 3 เท่า จาก 42,000 คน เป็น 150,000 คน และหยุดลง ก่อนที่เพจฮุนเซนจะเรียกยอดไลก์ได้อีกครั้งถึง 35,000 คน ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนไลก์จากฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน จนกระทั่งกลางเดือน ก.ค. ยอดไลก์จากฟิลิปปินส์ก็เพิ่มขึ้นจาก 207,000 คน เป็น 259,000 คน

อย่างไรก็ตาม ฮุนเซน ปฏิเสธมาตลอดต่อข้อกล่าวหาว่าแฟนเพจเหล่านี้ถูกซื้อมา

“ผมคิดว่ามันเป็นความภาคภูมิใจของชาติที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจต่อตัวผู้นำรัฐบาลของเราผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย” โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา กล่าว

“หากเรามีเงิน เราจะนำไปสร้างถนน บ่อน้ำ และศูนย์สุขภาพให้แก่ประชาชน เราจะไม่ใช้เงินไปกับการซื้อยอดไลก์บนเฟซบุ๊ก” โฆษกพรรคกล่าวเสริม และว่าข้อกล่าวหา การปั๊มไลก์ถูกปั่นขึ้นมาจากนักการเมืองฝ่ายค้านที่อิจฉา

เพจของฮุนเซนเองได้กลายเป็นความภูมิใจส่วนตัว ที่ผู้นำเขมรมักอ้างถึงความสำเร็จ และข้อที่ว่าเขามีความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าสม รังสี และโพสต์ของฮุนเซนมักแสดงภาพให้เห็นว่าเป็นคนที่ประชาชนเข้าถึงได้

อู วิรัค นักวิเคราะห์การเมืองอิสระระบุว่า มีคำอธิบายที่เหมาะสมอยู่จำกัดมากต่อเหตุการณ์ที่ว่าทำไมบัญชีเฟซบุ๊กของฮุนเซนถึงมียอดไลก์จากชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะบรรดานักการเมืองต่างหลั่งไหลเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์เพื่อไล่ตามผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมาถึงในปี 2561.

.
<br><FONT color=#000033>เซลฟี่กับแฟนๆ.</font></b>
.
กำลังโหลดความคิดเห็น