xs
xsm
sm
md
lg

“มัลดีฟส์” ออก กม.กำหนดโทษปรับ-จำคุกฐาน “หมิ่นประมาท”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี อับดุลลา ยามีน แห่งมัลดีฟส์
เอเจนซีส์ - รัฐสภามัลดีฟส์ผ่านกฎหมายอาญากำหนดโทษปรับและจำคุกสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท (defamation) วานนี้ (9 ส.ค.) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายค้านที่เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้กดขี่ผู้เห็นต่าง ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหรัฐฯ ต่างแสดงความกังวลว่าเนื้อหาของกฎหมายลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน

หมู่เกาะสวรรค์สำหรับนักเดินทางที่มีฐานะร่ำรวยแห่งนี้ต้องเผชิญภาวะปั่นป่วนทางการเมือง นับตั้งแต่ โมฮาเหม็ด นาชีด ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ถูกโค่นอำนาจเมื่อปี 2012

ร่างกฎหมายซึ่งประธานาธิบดีอับดุลลา ยามีน เดินหน้าผลักดันโดยไม่ยี่หระกับเสียงวิจารณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ กำหนดความผิดทางอาญาสำหรับการปราศรัย การแสดงความคิดเห็น ข้อเขียน หรือการกระทำรูปแบบใดๆ ก็ตามที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท รวมถึงการแสดงสัญลักษณ์ที่จาบจ้วง “หลักความเชื่อของอิสลามทุกๆ แง่มุม”

กฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยคะแนนเสียง 47-31 และจะถูกส่งให้ประธานาธิบดีลงนามรับรองในอีกไม่ช้า

สำนักข่าวบล็อกเกอร์ หรือผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่กระทำการอันเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหมิ่นประมาท จะมีโทษปรับระหว่าง 1,620-130,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนผู้สื่อข่าวที่ทำงานให้กับบริษัทสื่อที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง อาจถูกปรับเงินอีกรายละ 9,730 ดอลลาร์สหรัฐ นอกเหนือจากเงินค่าปรับที่นายจ้างจะต้องจ่าย

ทั้งนี้ หากไม่ชำระเงินค่าปรับก็จะมีโทษจำคุกระหว่าง 3-6 เดือน

กฎหมายไม่เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์จนกว่าผู้กระทำผิดจะจ่ายเงินค่าปรับเสียก่อน และยังบังคับให้สื่อมวลชนต้องเปิดเผยแหล่งข่าวด้วยในบางกรณี

องค์การสหประชาชาติได้แสดงความ “เป็นห่วงอย่างยิ่ง” ต่อการบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ วิจารณ์กฎหมายดังกล่าวว่าเป็นการ “บั่นทอนเสรีภาพด้านการแสดงออกอย่างร้ายแรง”

“โดยทั่วไปแล้วกฎหมายฉบับนี้จึงมีลักษณะลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ความมั่นคงของชาติ หรือบรรทัดฐานทางสังคม” โมนา ริชมาวี หัวหน้าฝ่ายหลักนิติธรรม ความเท่าเทียม และการไม่แบ่งแยกกีดกัน ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุ

กลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านมัลดีฟส์แถลงว่า กฎหมายใหม่จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการทำงานของนักข่าวสายสืบสวน

“กฎหมายนี้ห้ามผู้สื่อข่าวรายงานข้อกล่าวหา หากผู้ที่ถูกกล่าวหาปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ ทั้งยังห้ามเผยแพร่คำปราศรัยระหว่างการชุมนุมทางการเมือง และให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่รัฐบาลในการควบคุมสื่อมวลชน”

องค์กรเพื่อความโปร่งใสในมัลดีฟส์ (Transparency Maldives) ก็ได้ออกมาติเตียนกฎหมายฉบับใหม่นี้เช่นกัน โดยระบุว่ารัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายผ่านกระบวนการทางรัฐสภาโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านลบที่องค์กรสื่อ พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ หยิบยกขึ้นมาคัดค้าน

ซาฮีนา ราชีด บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวอิสระของมัลดีฟส์ ระบุว่า รัฐบาลตั้งใจออกกฎหมายมาปิดปากสื่อมวลชน หลังจากที่เคยใช้วิธีข่มขู่ พยายามฆ่า ขู่ฆ่า และทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวมาแล้ว

“นี่คือความพยายามครั้งสุดท้ายของรัฐบาลที่จะปิดสำนักข่าวที่ยังเหลืออยู่ พวกเราต่อสู้กันเต็มที่ และจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เราจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดเพื่อให้ศาลพิจารณาว่า กฎหมายลักษณะนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่”

กฎหมายหมิ่นประมาทผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามัลดีฟส์ ในช่วงเดียวกับที่ยูเอ็นเรียกร้องให้กรุงมาเลยกเลิกแผนประหารชีวิตนักโทษ และยึดถือประกาศพักการลงโทษประหารที่ใช้มานานหลายสิบปี

กำลังโหลดความคิดเห็น