รอยเตอร์ - ทหารกัมพูชากำลังสืบสวนแผนการทำรัฐประหารโค่นล้มนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมวันนี้ (20) ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงในกัมพูชา
การสืบสวนของกองทัพพุ่งเป้าไปที่ชายคนหนึ่งที่ประกาศแผนการจะโค่นล้มนายกรัฐมนตรีฮุนเซนลงบนเฟซบุ๊ก และยูทูป พร้อมทั้งเรียกร้องให้คนอื่นๆ เข้าร่วม ตามการระบุของ ชุม สุเชต โฆษกกระทรวงกลาโหม
“ทางการกำลังสืบสวน และหาตัวชายคนดังกล่าว” ชุม สุเชต กล่าว โดยระบุว่า ชายต้องสงสัยมีชื่อว่า วิเจีย สม แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม
ข่าวเกี่ยวกับแผนโค่นล้มนี้มีขึ้นหนึ่งวันหลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้คู่แข่งทางการเมืองของเขมรหันมาเจรจาท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายลงทุกขณะ
ในคลิปวิดีโอของชายคนที่กระทรวงกลาโหมระบุว่า ชื่อ วิเจีย สม นั้น เผยให้เห็นว่า วิเจีย สม อยู่ในชุดสูทผูกเนกไท โดยมีพื้นหลังลายพรางซึ่งมองเห็นได้จากในภาพ
แม้ชายในคลิปจะไม่ได้ระบุตัวตน แต่ได้กล่าวหารัฐบาลฮุนเซน และพรรคประชาชนกัมพูชาว่า อยู่เบื้องหลังการยึดที่ดินขนาดใหญ่ในประเทศ และยังกล่าวหาว่า รัฐบาลเป็นผู้สังหารบุคคลมีชื่อเสียง และละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ในอนาคตอันใกล้กองกำลังทั้งหมดโปรดพร้อมต่อต้านระบอบเผด็จการ” ชายในคลิปวิดีโอ กล่าว โดยไม่ได้ระบุเจาะจงเรียกร้องให้ทำรัฐประหาร หรือข่มขู่ว่าจะทำรัฐประหารในคลิปวิดีโอ
ยังไม่ชัดเจนว่าชายคนนี้ถ่ายคลิปมาจากสถานที่ใด แต่เขากล่าวว่า เขาเป็นคนของ “หน่วย” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา
ในหน้าเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ วิเจีย สม ปรากฏรูปบุคคลคนเดียวกันกับในคลิป แต่ไม่มีการตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นที่ส่งผ่านทางเฟซบุ๊ก
ฮุนเซน ปกครองประเทศมานานกว่า 30 ปี เอาชนะทุกความท้าทายต่ออำนาจการบริหาร แต่เวลานี้ฮุนเซนต้องเผชิญต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนุ่มสาวที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นระหว่างฮุนเซน และฝ่ายค้านที่หวังท้าทายอำนาจในมือในการเลือกตั้งท้องถิ่นปีหน้า และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2561
สมาชิกของฝ่ายค้าน และนักเคลื่อนไหวหลายคนถูกจำคุก เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นการปราบปรามของรัฐบาลเพื่อให้นักวิจารณ์เงียบเสียงก่อนการเลือกตั้ง และเมื่อวันที่ 10 ก.ค. แกม เล นักเคลื่อนไหวชื่อดัง และมักวิจารณ์ฮุนเซน ถูกสังหารในกรุงพนมเปญ
ผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมตัว และตำรวจเชื่อว่า แกม เล ถูกฆ่าเพราะปัญหาหนี้สิน แต่บรรดานักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ เชื่อว่าเป็นเรื่องการเมือง
สหรัฐฯ เรียกร้องการสืบสวนที่เชื่อถือได้ในคดีนี้ ขณะที่สหภาพยุโรป และสหประชาชาติแสดงความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการเมืองในกัมพูชา.