MGRออนไลน์ -- การก่อสร้างเขื่อนใหญ่ขนาด 260 เมกะวัตต์ กั้นฮูสะโฮงในเขตนทีสี่พันดอน เมืองโขงทางตอนใต้สุดของลาวคืบหน้าไปอีกขั้น ภาพล่าสุดที่เผยแพร่โดยสื่อทางการไม่กี่วันมานี้ แสดงให้เห็นการเริ่มขุดเพื่อก่อสร้างฐานรากโรงไฟฟ้า บนดอน (เกาะ) ซึ่งตามแผนการจะให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ในขณะเดียวกันราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ กลับแสดงความพึงพอใจในแหล่งอาศัยทำกินแห่งใหม่ และ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งยังหาปลาได้มากขึ้นอีกด้วย
ดอนสะโฮงเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าในลำน้ำโขง ที่ถูกต่อต้านมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากองค์กรภาคเอกชนไม่สังกัดรัฐบาลระหว่างประเทศ ที่ระบุว่าเขื่อนแห่งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการอพยพโยกย้ายประจำฤดูของปลานานาชนิดในแม่น้ำ และ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้านๆ ในหลายประเทศที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่ง
แต่มีราษฎรได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนใหญ่นี้ เพียง 14 ครอบครัวเท่านั้น ปัจจุบันคนทั้งหมดได้รับเงินชดเชย โยกย้ายไปยังที่จัดสรรแห่งใหม่ ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชุมชนใหม่มีระบบสาธารณูปโภค ลูกหลานมีโรงเรียน ทุกครอบครัวมีแหล่งทำการผลิต ได้ฝึกอบรมความรู้เรื่องการเกษตร ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ หนังสือพิมพ์ปะเทดลาว รายงาน
นายด่อง เพ็ดบุนมา ราษฎรบ้างหางสะดำ (เกาะสะดำ) ที่ถูกโยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ กล่าวว่าทุกคนได้รับการช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน มีงานทำ มีที่ทำกิน มีถนนหนทาง มีสิ่งอำนวยความสะดวก จับปลาส่งขายตลาดในเมืองได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันปลาที่จำหน่ายในตลาดดาวเรือง เมืองปากเซ ส่วนใหญ่จับไปจากเมืองโขงแห่งนี้ ตลาดอื่นๆ ก็เช่นกัน
นายด่องให้ความเห็นว่า การจับปลาได้มากขึ้นในปีนี้ น่าจะแสดงให้เห็นว่า โครงการผลิตไฟฟ้าดอนสะโฮง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการขึ้นลงของปลาแต่อย่างไร
นายบุนเฮือง ชาวประมงอีกคนหนึ่ง บอกหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า การพัฒนาโครงดอนสะโฮง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก มีงานทำ มีอาชีพ มีทุน มีเมล็ดพันธุ์ ได้เรียนรู้วิชาการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และ อีกมากมาย ทุกคนยังคงทำมาหากินเป็นปรกติ ตอนนี้ยังจับปลาได้มากขึ้นอีกต่างหาก อย่างต่ำได้วันละ 7-8 กิโลกรัม บางวันได้ 20-30 กก.ก็มี
.
2
โครงการมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยเขื่อแบบฝายน้ำล้น ที่ไม่เก็บกักน้ำ แต่ปล่อยไปตามทางน้ำไหลที่กำหนด บริษัทเมกะเฟิร์ส (MegaFirst Corp) จากมาเลเซียถือหุ้นใหญ่ 80% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวถือ 20% มีเครื่องปั่นไฟ 4 หน่วย ผลิตเฉลี่ยกว่า 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี อายุสัมปทาน 25 ปี ไฟฟ้าทั้งหมดจำหน่ายให้แก่ ฟฟล ซึ่งจะนำไปใช้ในแขวงภาคใต้ของประเทศ กับส่วนหนึ่งจำหน่ายแก่ประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งเจ้าของโครงการ และ เจ้าหน้าที่รัฐต่างออกยืนยันว่า เขื่อนแห่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อปลาและสัตว์น้ำต่างๆ เนื่องจาก ฮูสะโฮงมิใช่ทางน้ำไหลหลักในเขตสี่พันดอน แต่มี "ฮู" หรือ ทางน้ำไหลขนาดใหญ่อื่นๆ อีกหลายสาย เช่น ฮูสะดำ ฮูช้างเผือก ที่อยู่ติดกัน และ อื่นๆ อีกหลายฮูที่ปลาสามารถแวกว่าย ขึ้นลงสะดวกสบาย
"ໂຄງການກໍ່ສ້າງດັ່ງກ່າວ ກໍໄດ້ມີການຂະຫຍາຍຮູຂຶ້ນລົງຂອງປາໃຫ້ກວ້າງອອກ, ດັດ-ປັບ-ຂຸດ-ເຈາະໃຫ້ເລິກລົງກວ່າເກົ່າ ທຳລາຍເຄື່ອງຫາປາຂະໜາດ ໃຫຍ່ທີ່ຜິດກົດໝາຍ, ທີ່ມີຜົນກະທົບຕໍ່ການຂຶ້ນລົງຂອງປາ ເປັນຕົ້ນເຄື່ອງຫາປາປະເພດ ຫລີ່ ແລະລວງຂັງ ທັງນີ້, ເພື່ອຮັບປະກັນເຮັດໃຫ້ປາ ຂຶ້ນລົງ ໄດ້ສະດວກສະບາຍ" นายสมพอน พิมมะนีวง หัวหน้าหน่วยติดตามการปะมง ที่ระบุว่า โครงการได้ขยายทางน้ำให้กว้างออก และ ขุดให้ลึกลงไปอีก ทั้งยังกำจัดเครื่องมือหาปลาผิดกฎหมาย ชนิดต่างๆออกไปทั้งหมดด้วย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ฝูงปลา
ก่อนหน้านี้บริษัทเมกะเฟิร์สได้ทำการสำรวจและศึกษา เพื่อป้องกันผลกระทบ ต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติและสังคม ตามมาตรฐานสากล และ เขื่อนแห่งนี้ จะสนองพลังงานไฟฟ้า แก่ภาคส่วนการผลิตกสิกรรมเป็นสินค้า และ ครัวเรือนต่างๆ ในเขตภาคใต้ของลาว อย่างเพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นายสมพอนกล่าว
หลังจากเลื่อนมาหลายครั้ง โครงการดอนสะโฮง ได้เริ่มงานปรับผิวดินในเดือน ต.ค.2558 ปัจจุบันแล้วเสร็จไปประมาณ 8% หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันรายงาน.
.
ราษฎรที่ถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่โครงการบอกว่า ปีนี้จับปลาในเขตสี่พันดอนได้เยอะมาก ไม่เชื่อว่าเขื่อนดอนสะโฮง ที่กำลังก่อสร้างจะส่งผลอะไรต่อ เส้นทางเคลื่อนย้ายของฝูงปลาในแม่น้ำ บางคนบอกว่าปลาที่ขายในตลาดเมืองปากเซ กับตลาดต่างๆ ในย่านนี้ ส่วนใหญ่จับไปจากเวินแม่น้ำโขง ในเขตเมืองโขงแห่งนี้ทั้งสิ้น. -- ขอขอบคุณภาพจากประชาคมออนไลน์ชาวลาว. |
3
4
5
6
7
8