รอยเตอร์ - ผู้แสวงหาที่พักพิงคนที่ 4 จากกลุ่ม 5 คนแรกที่ถูกส่งไปยังกัมพูชา ภายใต้ข้อตกลงตั้งถิ่นฐานใหม่มูลค่า 29 ล้านดอลลาร์กับออสเตรเลีย ได้เดินทางออกจากกัมพูชา เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเผยวานนี้ (27)
ผู้ลี้ภัยเพศชายที่เดินทางออกจากกัมพูชาคนล่าสุดเป็นชาวอิหร่าน ที่เดินทางมายังเขมรเมื่อเดือนมิ.ย.2558 จากศูนย์กักกันบนเกาะนาอูรู ที่อยู่ห่างไกลในแปซิฟิกใต้ เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติอีก 2 คน และชาวโรฮิงญาจากพม่าอีก 1 คน
“เขาออกเดินทางไปแล้ว แต่เราไม่มีรู้ว่าเป็นที่ไหน หรือเพราะเหตุใด” โจ ลอว์รีย์ โฆษกองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ระบุ
ลอว์รีย์ ปฏิเสธที่จะระบุว่า ชายคนดังกล่าวเดินทางไปที่ใด แต่ชาวอิหร่านอีก 2 คน และชาวโรฮิงญา 1 คนนั้น มีรายงานว่า เดินทางกลับประเทศตัวเอง
ด้านเจ้าหน้าที่ออสเตรเลีย และกัมพูชาไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้
ส่วนผู้ลี้ภัยคนสุดท้ายภายใต้โครงการปี 2557 ที่กัมพูชาตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นชาวโรฮิงญา
กัมพูชา ระบุว่า จะส่งทีมเจ้าหน้าที่ไปยังเกาะนาอูรูในเดือนหน้าเพื่อสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวอิหร่าน 2 คน ที่แสวงหาที่พักพิงตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศ ซึ่งช่วยฟื้นโครงการที่ดูเหมือนจะล้มเหลว
ออสเตรเลีย ได้ให้คำมั่นว่า จะหยุดยั้งผู้ลี้ภัยที่ล่องเรือมาจากอินโดนีเซีย และศรีลังกา และขึ้นฝั่งของประเทศ ด้วยการเข้าสกัดเรือกลางทะเล และควบคุมตัวไปยังค่ายพักในปาปัวนิวกินี และนาอูรู
กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้กล่าวประณามออสเตรเลียต่อความพยายามที่จะตั้งถิ่นฐานใหม่ให้ผู้ลี้ภัยในประเทศที่ยากจนกว่า เช่น กัมพูชา ที่มักถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีขนาดเศรษฐกิจไม่ถึง 1% ของออสเตรเลีย.