รอยเตอร์ - จีน เห็นพ้องกับบรูไน กัมพูชา และลาว ว่าข้อขัดแย้งดินแดนในทะเลจีนใต้ไม่ควรที่จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างจีน และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุในวันนี้ (24)
4 ประเทศสมาชิกในอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ได้อ้างสิทธิในพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้กับจีน ที่กล่าวอ้างว่าน่านน้ำในทะเลจีนใต้ทั้งหมดเป็นของตน ซึ่งจีนนั้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดกับหลายชาติในอาเซียน
หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว เมื่อวันเสาร์ (23) ว่า จีนได้บรรลุฉันทามติสำคัญกับบรูไน กัมพูชา และลาว
ปัญหาทะเลจีนใต้ไม่ใช่ข้อขัดแย้งระหว่าง “จีน-อาเซียน” และไม่ควรส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์จีน-อาเซียน ตามการระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีน
การอ้างสิทธิทางทะเลของจีนเป็นประเด็นปัญหาที่โต้เถียงกันมากที่สุดของอาเซียน เมื่อชาติสมาชิกพยายามที่จะรักษาสมดุลการสนับสนุนซึ่งกันและกันกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นกับจีน
ในกลุ่มที่ประกอบด้วย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย และพม่า ได้แสดงความเห็นในเดือน ก.พ. ว่า มีความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อความตึงเครียดระหว่างประเทศที่ขยายตัวขึ้นเกี่ยวกับประเด็นน่านน้ำพิพาท
การถมที่และกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ยกระดับความตึงเครียด และอาจบ่อนทำลายความสงบสุข ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค อาเซียนระบุในคำแถลงในช่วงเวลานั้น
ฝ่ายสหรัฐฯ ได้วิพากษ์วิจารณ์การสร้างเกาะเทียม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของจีน และส่งเรือรบแล่นเข้าใกล้ดินแดนพิพาทเพื่อยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือ
จีน พยายามที่จะแยกปัญหาทะเลจีนใต้ออกจากวาระการประชุมพหุภาคี แต่ประเทศที่อ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนบางส่วนของทะเลจีนใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ ต้องการที่จะยกประเด็นปัญหาขึ้นหารือในที่ประชุมอาเซียน ซึ่งข้อพิพาทนี้ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกในอาเซียน
กัมพูชา ที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของจีน ถูกกล่าวหาว่าสร้างความแตกแยกในกลุ่มในปี 2555 เมื่อปฏิเสธที่จะระบุถึงการกระทำของจีนในทะเลจีนใต้ลงในร่างคำแถลงร่วมตามธรรมเนียมหลังจบการประชุมอาเซียน จนทำให้กลุ่มไม่สามารถออกคำแถลงได้เป็นครั้งแรก.