xs
xsm
sm
md
lg

จีนระบุเห็นพ้องกับบรูไน-กัมพูชา-ลาว ว่าต้องไม่ทำให้ข้อพิพาททะเลจีนใต้กระทบความสัมพันธ์ปักกิ่ง-อาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ในภาพจากแฟ้มซึ่งถ่ายที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 เมษายนนี้  ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงวันนี้ (24 เม.ย.) ว่า หวัง กล่าวที่กรุงเวียงจันทน์ว่า จีนกับ บรูไน, กัมพูชา, และลาว เห็นพ้องกันว่า ไม่ควรทำให้กรณีพิพาททะเลจีนใต้ กระทบกระเทือนความสัมพันธ์จีน-อาเซียน </I>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - จีนเห็นพ้องต้องกันกับบรูไน, กัมพูชา และลาว ว่าข้อพิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลจีนใต้ไม่ควรส่งผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับสมาคมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงที่กรุงปักกิ่งในวันนี้ (24 เม.ย.)

มี 4 ประเทศจาก 10 ชาติสมาชิกของสมาคมอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนบางส่วนของทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับประเทศจีน ผู้ที่ในทางเป็นจริงแล้วได้อ้างอธิปไตยเหนือดินแดนแทบทั้งหมดของอาณาเขตทางทะเลอันทรงความสำคัญยิ่งในทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ ขณะเดียวกัน ปักกิ่งก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของชาติสมาชิกอาเซียนจำนวนมาก

ตามคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีนในวันนี้ (24) ระหว่างอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ของลาวในวันเสาร์ (23) รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ได้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า จีนได้บรรลุ “ฉันทามติอันสำคัญ” กับบรูไน, กัมพูชา และลาว

คำแถลงระบุว่า สิ่งที่เห็นพ้องกันนี้ก็คือประเทศเหล่านี้ต่างมีทัศนะว่าปัญหาพิพาทชิงดินแดนในทะเลจีนใต้ไม่ใช่เป็นปัญหาพิพาทระหว่างจีนกับสมาคมอาเซียน และ “ไม่ควรที่จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน”

ประเด็นการอ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลของจีนกลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งมากที่สุดระหว่างปักกิ่งกับหลายชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของอาเซียนพยายามดิ้นรนให้เกิดความสมดุล ระหว่างการแสดงความสนับสนุนซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิกสมาคม กับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนที่กำลังเติบโตขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสมาคมอาเซียนได้ออกคำแถลงร่วมแสดงความกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างประเทศที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในเรื่องน่านน้ำพิพาทในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ คำแถลงได้ระบุว่า การถมทะเลและการทวีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ทำให้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจบ่อนทำลายสันติภาพ, ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม คำแถลงร่วมนี้ยังคงไม่ได้มีการเอ่ยชื่อประเทศจีนออกมาตรงๆ

ทางด้านสหรัฐฯ ถึงแม้อ้างว่าตนเอง “ไม่มีจุดยืน” เข้าสนับสนุนฝ่ายใดในการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่ก็ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งที่ถมทะเลสร้างเกาะเทียมและสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขึ้นในทะเลจีนใต้ รวมทั้งได้แล่นเรือรบตลอดจนส่งเครื่องบินทหารเข้าประชิดดินแดนที่เกิดการพิพาท โดยระบุว่าเพื่อเป็นการสำแดงสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือของตนเอง นอกจากนั้น วอชิงตันยังพยายามผูกสัมพันธ์เพิ่มความร่วมมือทางทหารกับประเทศในภูมิภาค เป็นต้นว่า ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น และแม้กระทั่งพยายามเกี้ยวพาเวียดนาม ตลอดจนอินเดีย ทำให้จีนตอบโต้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าใครกันแน่ที่กำลังเพิ่มแสนยานุภาพในอาณาบริเวณแถบนี้

ในส่วนเกี่ยวกับอาเซียนนั้น จีนพยายามหาทางกีดกันไม่ให้ประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้กลายเป็นวาระในการประชุมระดับพหุภาคี โดยอ้างว่ามันเป็นเรื่องระดับทวิภาคี ซึ่งจีนกับชาติที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันควรที่จะตกลงแก้ไขกันเอง ทว่าประเทศผู้อ้างสิทธิ์รายอื่นๆ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ยังคงพยายามหยิบยกผลักดันเรื่องนี้ให้กลายเป็นประเด็นในการประชุมของสมาคมอาเซียน

กำลังโหลดความคิดเห็น