xs
xsm
sm
md
lg

จีนมั่นใจแก้ปัญหาธุรกิจกับพม่าได้ หวังโครงการเขื่อนเดินหน้าต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อองซานซูจี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศพม่า (ขวา) พบหารือกับหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน ในกรุงเนปีดอ วันที่ 5 เม.ย. -- Xinhua/U Aung.</font></b>

รอยเตอร์ - จีนมั่นใจว่าสามารถแก้ไขความขัดแย้งทางธุรกิจกับพม่าผ่านการเจรจาหารือที่เป็นมิตร หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวหลังการพบหารือกับอองซานซูจี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศพม่า ท่ามกลางแรงกดดันจากจีนที่ต้องการฟื้นโครงการเขื่อนมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ที่ถูกระงับ

การหารือกับ หวัง อี้ ในกรุงเนปีดอ เมืองหลวงของพม่า เป็นการพบหารืออย่างเป็นทางการครั้งแรกของซูจี นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อเดือนก่อน จีนระบุว่า ต้องการที่จะผลักดันรัฐบาลใหม่ของพม่าให้ฟื้นโครงการเขื่อนที่เป็นข้อขัดแย้งให้กลับดำเนินต่ออีกครั้ง และระบุว่า สัญญาโครงการยังคงมีผลอยู่

อดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง สร้างความไม่พอใจให้แก่จีนในปี 2554 ด้วยการสั่งระงับโครงการเขื่อนมิตโสน ที่จีนลงทุน ซึ่ง 90% ของพลังงานที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้จะถูกส่งไปจีน

ส่วนโครงการอื่นของจีนในพม่าก็กลายเป็นข้อขัดแย้งเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการเหมืองทองแดงเลตปะด่อง ที่จุดชนวนการประท้วงจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และโครงการท่อส่งน้ำมัน และก๊าซที่ตัดผ่านประเทศ

ด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าที่ใกล้ชิดกันระหว่างสองประเทศ จึงเป็นธรรมดาที่จะมีปัญหาบ้าง คำแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุอ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน

“ตัวผม และรัฐมนตรีซูจีเห็นพ้องกันว่า ทุกปัญหาสามารถหาทางออกที่เหมาะสมได้ด้วยการปรึกษาหารืออย่างเป็นมิตร” หวัง อี้ กล่าว

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า หวัง อี้ และซูจี ได้หารือเรื่องโครงการเขื่อนมิตโสน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม

รัฐบาลใหม่ของพม่าต้องการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ และปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน และจีนประสงค์ที่จะลงทุนมากขึ้นในพม่า รวมทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

“เราจะแนะแนวทางต่อบริษัทจีนที่เข้าดำเนินกิจการในพม่าให้เคารพกฎหมายของพม่า เคารพขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น ให้ความสนใจต่อการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม” หวัง อี้ กล่าว

ในสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยังคงดำเนินไปด้วยดี บริษัท Guangdong Zhenrong Energy Co ของจีนได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลพม่าให้เข้าสร้างโรงกลั่น มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนกับหลายฝ่ายในประเทศ รวมทั้งกระทรวงพลังงานพม่า

จีนพยายามอย่างมากที่จะทำให้แน่ใจว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดก่อนหน้านี้กับผู้ปกครองทหารของพม่ายังคงดำเนินต่อไปภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลการเยือนของหวัง อี้

โกลบอล ไทม์ส สื่อที่มีอิทธิพลของจีน รายงานในบทบรรณาธิการฉบับวันพุธ (6) ว่า จีนหวังให้เขื่อนมิสโสน กลับมาดำเนินการอีกครั้ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น