รอยเตอร์ - จากรายงานการสำรวจสำมะโนประชากรเกี่ยวกับการจ้างงานที่เผยแพร่วานนี้ (28) พบว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 10-17 ปี ในพม่า ทุก 1 ใน 5 คน ต้องไปทำงานแทนการไปเรียนหนังสือ
รายงานด้านอาชีพและอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจสำมะโนประชากร ปี 2557 ของพม่า พบว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 10-17 ปี ราว 1.7 ล้านคน กำลังทำงาน
“ทุกวันนี้ เด็กที่มีอายุ 10-17 ปี ทุก 1 ใน 5 คน ขาดการศึกษาที่สามารถช่วยพวกเขาให้ได้งานที่ดี และมีความมั่นคงในการทำงานเมื่อพวกเขาโตขึ้น” เจเน็ท อี แจ็คสัน ตัวแทนจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำพม่า ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
หลายส่วนในชนบทของพม่ายังคงอยู่ในความยากจน และประชากรชาวพม่าประมาณ 1 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเนื่องจากภัยธรรมชาติ และความขัดแย้งภายในที่ผลักดันให้ผู้คนนับแสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ตามการระบุของสหประชาชาติ
การสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศในปี 2557 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขาดการมีส่วนร่วมของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เป็นคนไร้รัฐ และอาศัยอยู่ในสภาพคล้ายกับถูกแบ่งแยกในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ
ผลการสำรวจสำมะโนประชากรส่วนใหญ่ที่เผยแพร่ในเดือน พ.ค.2558 พบว่า ประชากรพม่ามีอยู่ราว 51.4 ล้านคน เป็นตัวเลขที่รวมการประมาณการประชากรชาวโรฮิงญาบนพื้นฐานการทำแผนที่ก่อนการสำรวจสำมะโนประชากรในรัฐยะไข่
ส่วนข้อมูลการจ้างงานย้ำให้เห็นว่า มีช่องว่างทางเพศในตลาดแรงงาน โดยประมาณครึ่งหนึ่งของหญิงชาวพม่าที่มีอายุ 15-64 ปี อยู่ในระหว่างการทำงาน หรือกำลังหางาน ในขณะที่ผู้ชายนั้นมีสัดส่วนมากถึง 85%
รายงานยังระบุว่า มากกว่าครึ่ง (52%) ของประชากรพม่า กำลังทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ซึ่งข้อค้นพบเหล่านี้เสามารถนำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้ของเกษตรกร ตามการระบุของ UNFPA ที่ช่วยเหลือรัฐบาลในการดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากร
รายงานยังพบว่า 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ยังคงทำงานอยู่ โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคการเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ที่จำเป็นต้องใช้ร่างกาย
“ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจบังคับให้หลายคนยังคงต้องทำงานใช้แรงงานหนักในวัยชราเพื่อความอยู่รอด สิ่งนี้ย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการบริการทางสังคมให้เพียงพอ และนโยบายที่จะรองรับผู้สูงอายุ” แจ็คสัน กล่าว
ข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ยังพบว่า ความยากจนหยั่งลึกในพม่า เช่น รายงานของธนาคารโลกระบุว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของครัวเรือนในพม่าที่มีไฟฟ้าใช้ และอัตราการตายของทารกอยู่ที่ 62 ต่อ 100,000 คน ขณะที่อายุโดยเฉลี่ยของประชากรชาวพม่าอยู่ที่ 66.8 ปี เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างไทยที่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 74 ปี.