xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเนินมะปรางร้อง กสม.ค้านร่าง พ.ร.บ.เหมืองแร่ ละเมิดสิทธิหนักเอื้อเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มอนุรักษ์เนินมะปรางยื่นร้อง กสม. ค้านร่าง พ.ร.บ.เหมืองแร่ ชี้ละเมิดสิทธิมากที่สุด ร้ายแรงกว่า พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 เปรียบเสมือนอาวุธชีวภาพทำลายประเทศ เหตุไม่มีการสงวนหวงห้ามป่าต้นน้ำ ให้อำนาจนายทุนของอาชญาบัตรทำเหมืองแร่ทับที่ ปชช. ย้อนจะสร้างผลกระทบสุขภาพ ปชช.แบบที่เคยเกิด ปูดบริษัทข้ามชาติจ้องอยู่ ฉะ พ.ร.บ.แร่ควรเป็นสัญญารัฐ-ปชช. ไม่ใช่จับมือเอกชน

วันนี้ (28 มี.ค.) กลุ่มอนุรักษ์เนินมะปราง ประมาณ 100 คน เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านนายบุญเกื้อ สมนึก รองเลขาธิการ กสม. เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.เหมืองแร่ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งมีหลายมาตราที่อาจละเมิดสิทธิชุมชน พร้อมมีการชูป้ายข้อความ “หยุดร่าง พ.ร.บ.แร่ ฮุบทองเข้ากระเป๋านายทุน”

โดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ ตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ กล่าวว่า การยื่นเรื่องร้องเรียนครั้งนี้ เพราะมองว่าร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ละเมิดสิทธิประชาชนร้ายแรงยิ่งกว่า พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 เปรียบเสมือนอาวุธชีวภาพที่จะทำลายประเทศไทย เพราะการทำเหมืองที่ผ่านมาประเทศได้ โดยในมาตรา 12-13 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่มีการสงวนหวงห้ามป่าต้นน้ำทั้งสิ้น ทั้งที่ พ.ร.บ.แร่ฉบับเดิมมีการสงวนพื้นที่ดังกล่าวไว้ และยังมีการให้อำนาจนายทุนของอาชญาบัตรทำเหมืองแร่ทับที่ของประชาชนได้เลย โดยที่ประชาชนไม่รู้ และสามารถตกลงกับรัฐเพื่อสัมปทานพื้นที่ทำเหมืองแร่ได้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้กฎหมายกระทบสิทธิต่อประชาชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในมาตรา 29 ยังระบุว่าในเขตเหมืองแร่นั้นห้ามไม่ให้ใครเข้าไปในพื้นที่นอกจากผู้ที่ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งแสดงว่าคนที่มีอาชญาบัตรจะสามารถฟ้องขับไล่ประชาชนในพื้นที่ออกไปได้ รวมทั้งในมาตรา 82 ระบุว่าในการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA นั้นนายทุนสามารถจัดประชุมและจ่ายเงินให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ

นางวันเพ็ญกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเคยมีตัวอย่างการทำเหมืองแร่และส่งผลกระทบต่อพื้นที่และประชาชนให้เห็นแล้วในจังหวัดพิจิตร ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการทำเหมืองไม่สามารถฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้ เพราะมีการใช้สารไซยาไนด์ปีละกว่า 2,000 ตัน ในการทำเหมือง ทำให้ประชาชนเจ็บป่วย ประชาชนกว่า 1,000 คน พบสารพิษและโลหะหนักในร่างกาย ดังนั้น หาก พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ผ่านลีการประกาศใช้ ก็จะทำให้เกิดเหมืองแร่ทองคำที่สร้างผลกระทบเหมือนในจังหวัดพิจิตรเกิดขึ้นอีกใน 31 จังหวัด ซึ่งจะทำให้พื้นดินในพื้นที่เกิดการปนเปื้อนสารพิษ ส่งผลต่อประชาชนในพื้นที่และภาคเกษตรกรรม และขณะนี้ทราบมาว่าบริษัทในกลุ่มคิงเกต จากประเทศออสเตรเลีย มีการยื่นขออาชญาบัตรการทำเหมือนแร่ทองคำไว้ล่วงหน้าแล้วในพื้นที่หลายจังหวัด และมีการนำอัตราทองคำที่มีในพื้นที่ไปเป็นข้อมูลอ้างอิงในตลาดหลักทรัพย์ เท่ากับว่าบริษัทข้ามชาติได้ตีตราความเป็นเจ้าของทองคำในประเทศไทยไปแล้ว

“ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่เป็นสิ่งที่น่ากลัว และเป็นสิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนมากที่สุด เพราะเป็น พ.ร.บ.ที่รัฐเป็นผู้บริหารจัดการการทำเหมืองแร่ร่วมกับเอกชน แต่ประชาชนเข้าไม่ถึง ทั้งที่ พ.ร.บ.แร่ควรเป็นสัญญาประชาคมระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่ควรเป็นการจับมือระหว่างรัฐกับเอกชน ดังนั้น หาก พ.ร.บ.แร่ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็จะเป็นเหมือนเครื่องปรุงอาหารที่ให้ต่างประเทศกิน แต่คนไทยได้กินแค่เศษกระดูก และคนในพื้นที่ต้องสังเวยด้วยชีวิต จึงอยากให้ กสม.ตรวจสอบเรื่องนี้” นางวันเพ็ญกล่าว











กำลังโหลดความคิดเห็น