MGRออนไลน์ -- สหรัฐได้เสนอขายระบบปืนใหญ่อัตตาจร M109A5 ให้มาเลเซียถึง 24 ชุด/ระบบ ภายใต้โครงการที่เรียกว่า Excess Defense Articles หรือ การจำหน่ายจ่ายแจกอาวุธยุทโธปกรณ์เหลือใช้ให้แก่ชาติพันธมิตร ซึ่งหมายความว่า "สินค้า" ภายใต้โครงการนี้ จะเป็น "ของดีราคาถูก" แต่มาเลเซียได้เสนอกลับเพื่อการอัปเกรดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ที่เพิ่งจะเปิดเผยสัปดาห์นี้
สหรัฐเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน พ.ย.2558 แต่ฝ่ายมาเลเซียเพิ่งออกมายืนยันเป็นครั้งแรก เกี่ยวกับการตอบรับ และข้อเสนอกลับดังกล่าว
ป.อัตตาจร หรือ SPH (Self-Propelled Howitzer) ที่สหรัฐเสนอจำหน่ายให้นั้น เป็น M109A5 รุ่นแรก แต่จะอัปเกรดให้เป็น M109A5 มาตรฐานปัจจุบัน ก่อนนำเข้าประจำการในกองทัพบกมาเลเซีย ทั้งนี้เป็นรายงานในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมที่อ้างข้อมูลจาก "แหล่งข่าวอุตสาหกรรม"
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ราชา โมฮาเหม็ด นูร์ (Raja Mohamed Affandi Raja Mohamed Noor) ผู้บัญชาการกองทัพ ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งวันครบรอบปีที่ 83 ของกองทัพ ระบุว่ามาเลเซียได้เจรจาต่อรอง เพื่ออัปเกรดปืนใหญ่อย่างน้อย 20 ระบบ ขึ้นเป็น "พัลลาดิน" (Paladin) M109A6 มาตรฐาน แบบเดียวกับที่กองทัพบกสหรัฐยังใช้อยู่ พร้อมขอซื้อรถสนับสนุน (กระสุน/ชิ้นส่วน/อะไหล่) อีก 6 คัน และ แพ็กเกจฝึกอบรมบุคคลากร การเจรจายังดำเนินอยู่ในขณะนี้
ถ้าหากการเจรจาบรรลุผล ปืนใหญ่พัลลาดิน M109A6 (กับ M109A5) ทั้งหมด จะถูกนำไปประจำการในรัฐซาบาห์ ที่มีเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้ เป็นกรณีพิพาทกับจีนในปัจจุบัน
"เมื่อการจัดหาดำเนินไปแล้วเสร็จสมบูรณ์ ก็จะช่วยเพิ่มอำนาจการยิงของกองทัพบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยที่ประจำในรัฐซาบาห์" ผบ.ทบ.มาเลเซียกล่าว และ มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกองทัพบกมาเลเซีย
M109A5 เป็นระบบปืนใหญ่ 155 มม. บนแพล็ตฟอร์มตีนตะขาบ แบบเดียวกับที่มีประจำการในกองทัพบกไทยจำนวน 20 ระบบ การอัปเกรดเป็น M109A6 มาตรฐาน จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ติดตั้งระบบควบคุมทันสมัยยิ่งขึ้น ยิงได้ไกลขึ้น และ ปฏิบัติการได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยอื่น ทั้งในเรื่องการชี้เป้าหมาย การติดตามตรวจผลการยิงด้วยจีพีเอส และ UAV สอดแนม สามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้ทั้งระบบระบบดิจิตัลและระบบเสียง
.
.
.
.
.
เมื่อพัฒนาเป็นพัลลาดิน M109A6 มาตรฐาน จะสามารถใช้กระสุนสมัยใหม่ได้หลายชนิดยิ่งขึ้น รวมทั้งกระสุนยิงระยะไกลที่ใช้จรวดช่วยขับเคลื่อนรุ่นใหม่ สามารถติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เพื่อใช้กระสุนนำวิถีความแม่นยำสูง "เอ็กซ์คาลิเบอร์" (Excalibur) แบบเดียวกับ M109A7 ถึงแม้ว่าสหรัฐจะยังไม่อนุญาตให้บริษัทเรย์ธีออน (Raytheon) ผู้ผลิต ส่งออกในขณะนี้ก็ตาม
ปัจจุบันกองทัพบกสหรัฐ รวมทั้งกองกำลังป้องกันประเทศ มี M109 รุ่นต่างๆ ประจำการเป็นจำนวนหลายพันกระบอก และ ในช่วง 20 ปีมานี้ กองทัพบกทยอยปลดระวาง M109A5 นำ M109A6 เข้าประจำการแทน ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปเป็น พัลลาดิน M109A7 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด
นี่คือ M109 รุ่นที่เปลี่ยนแปลงในหลายด้าน รวมทั้งเปลี่ยนรูปโฉมของรถทั้งคัน มีความคล่องตัวขึ้น ไปได้ไกลยิ่งขึ้น และ ติดตั้งบนแชสซีเดียวกันกับยานโจมตีลำเลียงพลแบบแบรดลีย์ (M2 Bradley) รุ่นใหม่ ทำให้การซ่อมบำรุงทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ประหยัดขึ้น
สัปดาห์ที่แล้ว BAE Systems ผู้ผลิต เพิ่งเซ็นสัญญากับหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ สำหรับ M109A7 อีก 30 ระบบ กับ รถสนับสนุนอีก 30 คันรวมมูลค่า 240 ล้านดอลลาร์ มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์กระทรวงกลาโหม
M109 นับเป็นระบบปืนใหญ่ยิงสนับสนุนกำลังรบภาคพื้นดิน ที่เก่าแก่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลกตะวันตก M109 รุ่นแรก ออกงานในสนามรบครั้งแรกในสงครามเวียดนาม และ พัฒนาให้ทันสมัยมาเป็นลำดับ ผ่านสงครามตะวันออกกลางมาโชกโชน ทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน
.
4
ถึงแม้ว่าหลายปีมานี้ พันธมิตรยุโรปตะวันตกของสหรัฐหลายประเทศ รวมทั้งอังกฤษได้ "เปลี่ยนปืน" ไปมากต่อมากแล้วก็ตาม สหรัฐเองยังคงให้ BAE Systems ผู้ผลิตพัฒนาระบบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับมาเลเซีย ที่ผ่านมาไม่ค่อยสนใจข้อเสนอขายอาวุธผ่านระบบ EDA ของสหรัฐมากนัก แต่ชาติพันธมิตรสหรัฐในย่านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยและสิงคโปร์ ทราบดีว่า ระบบนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ทำให้เข้าถึงชิ้นส่วนอะไหล่อาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐได้ง่ายขึ้น
ไม่กี่ปีมานี้กองทัพบกมาเลเซีย ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณมหาศาล ในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถ มีการจัดหาระบบจรวดต่อสู้อากาศยานเพิ่มเติม และ สนับสนุนโครงการอัปเกรดรถถัง PT-91M ที่ซื้อจากโปแลนด์ แต่ประเทศก็กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเติบโตลดลง ทำให้ต้องเลื่อนการส่งมอบอาวุธหลายระบบไปอีก 1 ปี พล.อ.ราชา โมฮาเหม็ด นูร์ กล่าวในคราวเดียวกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อมองเข้าไปในกองทัพบกมาเลเซีย ก็จะพบว่า M109A5/6 ที่เจรจากับฝ่ายสหรัฐอยู่นี้ กำลังจะเป็นปืนใหญ่อัตตาจรระบบแรกของกองทัพ ประเทศนี้มี ป.155 มม.อยู่แล้ว 2 ระบบ เป็นแบบลากจูงทั้งหมด ทั้ง FH-70 ที่ซื้อจากอังกฤษ และ เดเนล G5 จากแอฟริกาใต้
สำหรับกองทัพบกไทย ระบบปืนใหญ่สนาม M109A5 กำลังจะกลายเป็นของเก่า เมื่อไทยได้เป็นเจ้าของ ทั้งระบบซีซาร์ 155 มม.จากฝรั่งเศส และ 155 มม.อัตโมส 2000 ของอิสราเอลที่นำมาผลิตเองในประเทศ และ กำลังอัปเกรด M-71 "โซลตัม" 155 มม. อีกรุ่นหนึ่งที่ซื้อจากอิสราเอลเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ขึ้นติดตั้งบนรถบรรทุกล้อยาง 6x6 เพื่อให้เป็นอัตตาจรอีกด้วย
เพียง "โซลตัม" อย่างเดียว กองทัพบกไทยมีอยู่แล้วถึง 32 ระบบ.