xs
xsm
sm
md
lg

ลาวเลือกนายใหม่ "บุนยัง" รั้งผู้นำพรรค "จูมมาลี-ทองสิง" เกษียน ลุ้น "ทองลุน" นั่งนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>ตามลำดับไหล่ .. พล.ท.จูมมาลี ไซยะสอน นายทองสิง ทำมะวง นายบุนยัง วอละจิต นางปานี ยาทอตู่ พล.ต.อาซาง ลาวลี นายทองลุน สีสุลิด กับ นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด นำคณะผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมใหญ่ครั้งที่ 10 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว เลือกกรรมการศูนย์กลางพรรคชุดใหม่ วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เลขาธิการใหญ่พรรคพร้อมกรรมการกรมการเมืองอาวุโสอีก 3 คนได้วางมือ ทำให้มองเห็นผู้นำพรรคและประธานประเทศคนต่อไป เช่นเดียวกับประธานสภาแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี. </b>

MGRออนไลน์ -- พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเลือกตั้งคณะกรรมการศูนย์กลางพรรคชุดใหม่ ในการประชุมวันพฤหัสบดี 24 มค.นี้ และ ผู้นำระดับสูงชุดเดิมจำนวน 4 คน คือ พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน นายทองสิง ทำมะวง พล.ต.อาซาง ลาวลี กับ นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด ไม่มีชื่ออยู่ด้วย อันแสดงให้เห็นว่า ผู้นำอาวุโสรุ่นที่สามที่อยู่ในอำนาจมานาน 10 ปี ได้ วางมือ "เกษียน" ออกไป ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล ทั้งในระดับรัฐและรัฐบาลในช่วงเดือนข้างหน้า

อันดับที่ 1 ในรายชื่อคณะกรรมการกลางพรรคชุดที่ 10 ที่ "MGRออนไลน์" ได้รับตอนค่ำวันเดียวกัน คือ นายบุนยัง วอละจิต ซึ่งบ่งบอกว่า รองประธานประเทศคนปัจจุบันกำลังจะขึ้นเป็น "เบอร์ 1" คือ เลขาธิการใหญ่พรรคที่จะเลือกกันในวันศุกร์นี้ พร้อมตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ที่มีแนวทางสังคมนิยม ภายใต้อุดมการณ์ของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน

มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ นายบุนยังจะควบตำแหน่งประธานประเทศ เช่นเดียวกับ พล.ท.จูมมาลี อันเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา ตั้งแต่ 25 ปีที่แล้ว ในยุคของนายไกสอน พมวิหาน ผู้นำแห่งการปฏิวัติของประเทศ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนตัวบุคคลในภาครัฐ และรัฐบาล จะมีขึ้นหลังการเลือกตั้งวันที่ 20 มี.ค.2559 เมื่อสภาแห่งชาติชุดใหม่เปิดประชุม

ผู้แทนสมาชิกพรรคทั่วประเทศจำนวน 685 คน ได้เลือกคณะกรรมการศูนย์กลางพรรคชุดที่ 10 จำนวน 77 คน เพิ่มขึ้นจาก 61 คนในชุดที่แล้ว ทั้งนี้เป็นกรรมการทีมีอำนาจเต็ม 69 คน กรรมการสำรองอีก 8 คน ผลการเลือกตั้งยังเผยให้เห็น บรรดาผู้นำที่จะอยู่ในศูนย์กลางอำนาจต่อไปตลอดวาระ 5 ปี ซึ่งได้แก่ นางปานี ยาทอตู่ กรรมการกรมการเมืองสตรี เพียงคนเดียวของพรรคตั้งแต่สมัยที่แล้ว อยู่ในอันดับที่ 2 ซึ่งบ่งชี้ว่านางปานีถูกเลือก เพื่อเตรียมนั่งเก้าอี้ประธานสภาแห่งชาติต่อไปอีกสมัย

อันดับ 3 คือ นายทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งบ่งบอกว่า ดร.ทองลุน เตรียมจะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำรัฐบาล สืบต่อจากนายทองสิงในเดือนข้างหน้า

สำหรับหลายคน การวางมือของนายทองสิง เป็นเรื่องที่ทำให้แปลกใจ เพราะว่าเมื่อวันที่ 18 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมใหญ่พรรค นายกรัฐมนตรีของลาวได้รับเลือกจากคณะกรรมการศูนย์กลางพรรค ให้เป็นผู้นำเสนอเอกสารสำคัญที่สุดของพรรค ที่เรียกกันในภาษาของชาวคอมมิวนิสต์ว่า "รายงานการเมือง" อันหมายถึง เอกสารแสดงผลงานในสมัยที่ผ่านมา กับการกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม แห่งการเมืองแห่งชาติใน 5-10 ปีข้างหน้า
.

.

.

.
ตามประเพณีของชาวคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติกันมาแต่เนิ่นนาน โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตรัสเซียในอดีตเป็นแบบฉบับนั้น บุคคลที่ขึ้นนำเสนอ "รายงานการเมือง" ต่อสมัชชาพรรค มักจะเป็นผู้นำคนต่อไปเสมอมา ซึ่งทำให้หลายคนเชื่อว่า "ลุงทองสิง" ในวัย 70 ต้นๆ กำลังจะขึ้นเป็นผู้นำพรรคคนใหม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายทองสิงนำเสนอในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 10 นี้ ไม่ใช่ "รายงานการเมือง" อีกต่อไป หากเป็นเอกสารที่มีชื่อยาวๆ ว่า "รายงานเกี่ยวกับวิสัยทัศน์จนถึงปี 2030, ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ 2016-2025 และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมแห่งชาติ 5 ปี ครั้งที่ 8 (2016-2020)" ซึ่งเป็นชื่อที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจของชาติ ตามที่รัฐธรรมฉบับแก้ไขปี 2558 ระบุให้เป็น "เศรษฐกิจตลาดภายใต้อุดมการณ์สังคมนิยม"

สำหรับนายบุนยัง การขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคและรัฐคนใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือการคาดเดา รองประธานประเทศอยู่ในความสนใจของผู้คนมาโดยตลอด นักวิเคราะห์จำนวนมากยังเชื่อกันว่า ผู้นำพรรคประชาชนปฏิวัติลาวคนต่อไป จะต้องมีภูมิหลังทางการทหาร เนื่องจากที่ผ่านมาผู้นำทุกคนล้วนคลุกคลีอยู่กับการปฏิวัติยึดอำนาจเป็นเวลาหลายทศวรรษ และ ผู้นำอาวุโสเพียงคนเดียวที่มีคุณสมบัตินี้ ก็เหลือเพียง "พันเอกบุนยัง วอละจิต" อดีตนายทหารคนสนิทของอดีต "ประธานไกสอน"

ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานประเทศ หลายสิบปีมานี้นายบุนยัง ได้ผ่านตำแหน่งผู้นำองค์กรระดับชาติมามากมาย รวมทั้งประธานแนวลาวสร้างชาติ และ นายกรัฐมนตรี 1 สมัยด้วย

ส่วน พล.ต.อาซาง ที่เคยดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงภายใน (มหาดไทย) เมื่อก่อน และ ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงและความสงบภายในมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ไม่ต่างจากนายสมสะหวาด ที่กำกับดูแลงานด้านเศรษฐกิจมหาภาคตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศมาถึง 2 สมัยก่อนหน้านั้น ผู้นำทั้งสองเกษียนจากการเมืองด้วยสูงอายุ
.
<br><FONT color=#00003>พล.ท.จูมมาลี ไซยะสอน เลขาธิการใหญ่พรรค และประธานประเทศ ระหว่างปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาครั้งที่ 10 ในวันแรก เรียกร้องให้ทั่วทั้งพรรค ทั่วทั้งปวงชน เพิ่มความสามัคคี มุ่งหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของชาติ พล.ท.จูมมาลีได้วางมือจากพรรควันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่ยังรักษาตำแหน่งประมุขแห่งรัฐต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งบุคคลใหม่.</b>
2
<br><FONT color=#000033>ลุงทองสิง ได้รับมอบหมายจากกรรมการศูนย์กลางพรรคชุดที่ 9 ให้นำเสนอ รายงานการเมือง ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวคอมมิวนิสต์ การวางมือจากพรรค ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องแปลกใจ นายทองสิงจะยังทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคนใหม่ หลังการเลือกตั้งทั่วไป 20 มี.ค.ศกนี้. </b>
3
<br><FONT color=#000033>การประชุมใหญ่หรือการประชุมสมัชชาครั้งที่ 10 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว กำลังจะปิดฉากลงวันศุกร์ 22 ม.ค.นี้ พร้อมสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐและรัฐบาล กรรมการศูนย์กลางพรรคชุดใหม่จะประชุมนัดแรก เพื่อเลือกกรรมการกรมการเมือง และ คณะกรรมการอีกหลายชุด รวมทั้งคณะเลขาธิการ ที่ดูแลงานประจำวันของพรรคด้วย. </b>
4
สำหรับ ดร.ทองลุน ดูเหมือนพรรคจะจองตัวล่วงหน้ามาเป็นเวลานานนับปี ด้วยสำเร็จการศึกษาจากสหภาพโซเวียต พูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา เติบโตมาในกระทรวงการต่างประเทศและในวงการทูต เป็นผู้นำลาวอีกคนหนึ่งที่โลกรู้จักดีที่สุด นอกจากนั้นยังได้แสดงบทบาทสำคัญยิ่ง ภายในกลุ่มอาเซียน ซึ่ง 2559 นี้ ลาวได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำของกลุ่ม

ลาวมีนโยบายและวิสัยทัศน์อันชัดเจน ที่จะเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคนี้และทั่วโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมก็ยิ่งทำให้ ดร.ทองลุน เป็นตัวเลือกดีที่สุดสำหรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาล เมื่อประธานประเทศเสนอชื่อต่อสภาแห่งชาติชุดใหม่ให้พิจารณารับรอง

การขยับขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำรัฐบาลของ ดร.ทองลุน เตรียมการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายภายในกระทรวงการต่างประเทศ 2 ระลอก นับเป็นการสัญญาณเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นก็คือ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2558 มีการ "ปลด" ดร.ทองลุน พ้นจากตำแหน่งเลขาพรรคสาขากระทรวง ซึ่งเป็นตำแหน่งคู่กับเจ้ากระทรวง โดยมีพิธีมอบโอนตำแหน่งนี้ให้แก่ นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รมช. ที่เคยเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรลาวประจำสหประชาชาติ ขณะที่ ดร.ทองลุน เองยังอยู่ในตำแหน่ง รมว.ต่อมาจนปัจจุบัน

ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่กรรมการกรมการเมืองคนหนึ่ง จะพ้นจากตำแหน่งเลขาพรรคของหน่วยงานใต้สังกัด หากมิใช่เพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใหญ่โตกว่า

ก่อนหน้านั้นในเดือน ก.ค. นายทองลุนได้ถ่ายโอนตำแหน่ง "หัวหน้าคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ศูนย์กลางพรรค" ที่ครองคู่ตำแหน่งรัฐมนตรีมาหลายปี ให้แก่นางสุนทอน ไซยะจัก รมช.อาวุโส ซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตประจำเวียดนาม ทั้งยังเป็นกรรมการศูนย์กลางพรรคอยู่ก่อนแล้ว

นายสะเหลิมไซ ได้ขึ้นเป็นกรรมการศูนย์กลางพรรคครั้งแรก ในการเลือกตั้งวันพฤหัสบดีนี้่ โดยอยู่ในอันดับที่ 50 ถัดจากนางสุนทอนไป 12 อันดับ ก็ยิ่งตอกย้ำชัดเจนยิ่งขึ้นว่า นี่คือ รมว.ต่างประเทศคนใหม่ของลาว หลังการเลือกตั้ง 20 มี.ค. และ หลังจากได้รับการรับรองจากสภาแห่งชาติ
.

<br><FONT color=#00003>ปลายเดือน ส.ค.2558 ดร.ทองลุน สีสุลิด ทำพิธีส่งมอบตำแหน่งเลขาพรรคกระทรวงการต่างประเทศ อันเป็นตำแหน่งของเจ้ากระทรวง ให้นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รมช.ขึ้นรักษาการ ซึ่งบ่งชี้ว่านี่คือ รมว.ต่างประเทศลาวคนต่อไป นายสะเหลิมไซ ได้รับเลือกเป็นกรรมการศูนย์กลางพรรคครั้งแรกวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา.   </b>
5
<br><FONT color=#00003>ก่อนหน้านั้นในเดือน ก.ค.2558 ดร.ทองลุน ได้ส่งมอบตำแหน่งหัวหน้าคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ศูนย์กลางพรรคให้แก่นางสุนทอน ไซยะจัก รมช.อาวุโส อดีตเอกอัครราชทูตประจำเวียดนาม แสดงให้เห็นการวางมือจากงานต่างประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อเตรียมรับตำแหน่งสูงกว่า.  </b>
6
กรรมการศูนย์กลางพรรคชุดที่แล้วไม่มีกรรมการสำรอง (Alternate Member) แต่ที่ประชุมสมัชชาครั้งที่ 10 ได้แก้ไขกฎระเบียบพรรคจำนวนหนึ่ง รวมทั้งการกลับมาสถาปนากรรมสำรองฯ ซึ่งเป็นกรรมการฯ ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมการประชุมครบคณะ (Plenum) แต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง บางครั้งจึงเรียกกันว่า Non-Voting Member นั่นเอง

ในกรณีที่กรรมการศูนย์กลางพรรคคนใดคนหนึ่งถึงแก่กรรมไปกลางสมัย หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ กรรมการสำรองฯ ก็พร้อมจะได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นกรรมการฯ สมบูรณ์ (Full Member) เพื่อเข้าแทนที่

รายชื่อกรรมการศูนย์กลางพรรคชุดใหม่ ยังแสดงให้เห็นการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง รวมทั้งเจ้าแขวง/เลขาพรรคแขวงอาวุโส โดยมีเจ้าแขวงคนใหม่ ที่ได้รับแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งเมื่อปีที่แล้วในหลายแขวง เข้าแทนที่ นอกจากนั้นก็ยังมีการเลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหน้าใหม่จำนวนหนึ่ง เป็นกรรมการศูนย์กลางพรรคครั้งแรก ซึ่งรวมทั้งนางเวียงทอง สีพันดอน หัวหน้าองค์การการตรวจสอบแห่งรัฐ กับ นายคำมะนี อินทิลาด รมว.กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่

ในสายความมั่นคง กรรมการศูนย์กลางพรรคหน้าใหม่ ยังรวมทั้ง พล.ต.วิไล หล้าคำฟอง หัวหน้ากรมใหญ่การเมือง กองทัพประชาชน กับ พล.ต.ดร.สินทะวง ไซยะกอน รมช,กระทรวงป้องกันความสงบคนที่ 1

บุคคลที่ก้าวขึ้นสู่จุดสูงในพรรค ยังรวมทั้ง ดร.ไซสมพอน พมวิหาน รองประธานสภาแห่งชาติ บุตรชายอดีตผู้นำสูงสุดของประเทศ โดยอยู่ในอันดับที่ 9 ซึ่งมีโอกาสจะได้เป็นหนึ่งในบรรดากรรมการกรมการเมืองชุดใหม่อีกด้วย

รั้งท้ายกรรมการศูนย์กลางพรรคชุดที่ 10 เป็นคนในครอบครัว "พมวิหาน" อีกคนหนึ่ง นายสันติภาพ พมวิหาน เป็นอดีต รมช.กระทรวงการเงิน ที่ถูกแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งรองเจ้าแขวงสะหวันนะเขต อันเป็นบ้านเกิดของบิดาเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรก ที่ลาวมีรองเจ้าแขวงเป็นระดับกรรมการศูนย์กลางพรรค

กรณีของนายสันติภาพ ยังอาจจะเป็นการบ่งชี้ว่า ต่อไปนี้แขวงขนาดใหญ่อื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งรวมทั้งนครเวียงจันทน์ แขวงจำปาสัก กับหลวงพระบาง อาจจะมีกรรมการศูนย์กลางพรรคประจำถึง 2 คน โดยแยกตำแหน่งเลขาพรรคแขวง กับเจ้าแขวงออกจากกัน อันเป็นระบบบริหารท้องถิ่นแบบเดียวกับที่ใช้ในเวียดนาม เช่นเดียวกับที่มีมาแล้วในกระทรวงหลักในส่วนกลาง

แต่ในอีกทางหนึ่ง การดึงนายสันติภาพเข้าสู่คณะกรรมการศูนย์กลางพรรค ก็อาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่า แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากที่สุดในประเทศ กำลังจะมีผู้บริหารสูงสุดคนใหม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น