xs
xsm
sm
md
lg

UN ชี้ผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งของพม่าเสี่ยงถูกข่มขืน ขาดการดูแลสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 20 พ.ค. หญิงชาวมุสลิมโรฮิงญาอุ้มลูกอยู่ในค่ายพักชั่วคราวนอกเมืองสิตตเว รัฐยะไข่ ของพม่า คำแถลงของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ผู้หญิงและเด็กที่อยู่ในเขตพื้นที่ขัดแย้งเสี่ยงเผชิญกับเหตุรุนแรงทางเพศและขาดการเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

รอยเตอร์ - ผู้หญิง และเด็กที่ต้องพลัดถิ่นเนื่องจากเหตุต่อสู้ในพม่าเสี่ยงเผชิญต่อความรุนแรงทางเพศ และขาดการเข้าถึงการดูแลสุขภาพการเจริญพันธุ์ ตามการระบุของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ที่กำลังดำเนินการโครงการด้านสุขภาพสำหรับผู้หญิงและเด็กในพื้นที่เกิดเหตุขัดแย้ง

ความรุนแรงระหว่างชุมชนในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ และการต่อสู้ระหว่างกองกำลังของรัฐบาล และกบฏชาติพันธุ์ในรัฐกะฉิ่น และรัฐชาน ในภาคเหนือ ก่อให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของผู้คนเป็นจำนวนมากในพม่า ที่ผู้คนมากถึง 645,000 คน ต้องย้ายถิ่นที่อยู่ ซึ่งนับเป็นจำนวนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ขณะหลบหนี หรืออาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราว ผู้หญิงเหล่านี้มักขาดการเข้าถึงการดูแลสุขภาพทางเพศ และการเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐาน ปราศจากความช่วยเหลือด้านผดุงครรภ์ หรือการคุมกำเนิด ผู้หญิง และเด็กมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการคลอดที่ไม่ปลอดภัย” UNFPA ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง

โครงการระยะเวลา 3 ปี มูลค่า 11.8 ล้านดอลลาร์ของ UNFPA จะจัดหาการดูแลสุขภาพสำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และการดูแลฉุกเฉินสำหรับผู้หญิงที่ต้องทนทุกข์จากเหตุรุนแรง เช่น การดูแลผู้ที่ถูกข่มขืน และการให้คำปรึกษา ในรัฐยะไข่ รัฐกะฉิ่น และรัฐชาน

ในรัฐยะไข่ ชาวมุสลิมโรฮิงญาเผชิญต่อการกดขี่ข่มเหง และอาศัยอยู่ในสภาพของการแบ่งแยก ถูกจำกัดให้อยู่ในค่าย และเมือง โดยมีข้อจำกัดการเคลื่อนไหว และยังขาดแคลนอาหาร และการรักษาพยาบาล

“ลองนึกภาพผู้หญิงที่นั่นต้องการคลอดลูก แต่พวกเขาไม่วิธีขนส่ง หรือเอกสารที่จะช่วยให้เดินทางภายในพื้นที่ได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การเสียชีวิตของมารดา” ผู้เชี่ยวชาญกิจการด้านมนุษยธรรมของ UNFPA กล่าว

“พวกเขาไม่ได้ไปโรงเรียน พวกเขาไม่รู้หนังสือ พวกเขามีภาษาของตัวเอง และโชคร้ายที่มีข้อมูลน้อยมากที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญของสุขภาพโดยเฉพาะในระหว่างการตั้งครรภ์” เจ้าหน้าที่ กล่าว

โครงการสุขภาพที่ได้รับการสนับสนุนจากฟินแลนด์ และสวีเดน จะตั้งคลินิกเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทางสุขภาพเพื่อทำคลอดได้อย่างปลอดภัย และให้ชุดเครื่องมือทำคลอดแก่ผู้หญิงที่อยู่ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์

“อุปกรณ์อย่างหนึ่งในชุดเครื่องมือคือ ใบมีดที่ผ่านการฆ่าเชื้อ เพื่อใช้ในการตัดสายสะดือ เนื่องจากส่วนใหญ่พวกเขาใช้ไม้ไผ่ หรืออะไรก็ตามแต่มาตัดสายสะดือเด็ก” เจ้าหน้าที่ กล่าว

อัตราการตายของมารดาของพม่าอยู่ที่ 200 คน ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน เทียบกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 140 คน และอัตราการเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง ตามคำแถลงของ UNFPA.
กำลังโหลดความคิดเห็น