xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่า 5 คนถูกจับปรับ 1 ล้านจ๊าต ฐานตีพิมพ์ปฏิทินโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>แฟ้มภาพเอเอฟพีเดือนมี.ค. 2556 พนักงานชาวพม่ากำลังควบคุมแท่นพิมพ์ที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมและปรับเงินผู้ตีพิมพ์ปฏิทินโรฮิงญาเนื่องจากทางการถือว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาไม่ได้เป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ 135 กลุ่มที่รัฐบาลให้การยอมรับ กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎหมายการพิมพ์ของพม่าห้ามตีพิมพ์วัสดุที่อาจสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงและการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประเทศ. -- Agence France-Presse/Soe Than Win.</font></b>

เอเอฟพี - ชายชาวพม่า 5 คน ถูกปรับเงินฐานละเมิดกฎหมายการพิมพ์ เนื่องจากจัดพิมพ์ปฏิทินที่ระบุว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ชายทั้ง 5 คน ถูกจับกุมตัวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ในนครย่างกุ้ง และถูกปรับเงินคนละ 800 ดอลลาร์ (ประมาณ 28,500 บาท) เมื่อวันจันทร์ (23) หลังยอมรับความผิดต่อการกระทำที่มีโทษจำคุกถึง 2 ปี

รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของประเทศ และยืนยันว่า ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ไม่ได้เผชิญต่อการกดขี่ข่มเหง

“พวกเขายอมรับสารภาพเร็วมาก และศาลได้สั่งปรับเงินพวกเขาคนละ 1 ล้านจ๊าต (ประมาณ 800 ดอลลาร์)” ขิ่น หม่อง เลต ตำรวจเมืองปะซุนด่อง กล่าว

โทษปรับนี้นับเป็นเงินจำนวนไม่น้อยในประเทศที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ประมาณ 1,200 ดอลลาร์

ขิ่น หม่อง เลต กล่าวว่า ตำรวจได้รับการแจ้งเตือนครั้งแรกเกี่ยวกับปฏิทินผ่านทางเฟซบุ๊ก และได้เข้าจู่โจมโรงพิมพ์ที่ชานนครย่างกุ้งในเวลาต่อมา

“ภายในปฏิทินมีคำ และรูปภาพที่กล่าวว่า ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของพม่า ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย และกิจกรรมดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อการรักษากฎหมาย และความสงบเรียบร้อยของประเทศ” ขิ่น หม่อง เลต กล่าว

กฎหมายการพิมพ์ของพม่าห้ามตีพิมพ์วัสดุที่อาจสร้างความเสียหายต่อความมั่นคง และการรักษากฎหมาย และความสงบเรียบร้อยของประเทศ

ชาวโรฮิงญา เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกกดขี่ข่มเหง และถูกโจมตีอย่างหนักจากเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนในชาติที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในช่วงเวลาที่ความรู้สึกชาตินิยมทางศาสนากำลังขยายตัว

สหประชาชาติ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ได้ประณามการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่เผชิญต่อข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งการจ้างงาน และการเดินทาง และชาวโรฮิงญาจำนวนหลายแสนคนไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งสำคัญเมื่อต้นเดือนหลังสถานะพลเมืองของพวกเขาถูกยกเลิก

รัฐบาลพม่า ระบุว่า ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ความจริงมีหลายคนใช้ชีวิตอยู่ในพม่ามานานหลายรุ่นแล้วก็ตาม

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนต้องหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ข้ามทะเลมุ่งหน้าไปขึ้นฝั่งที่มาเลเซีย ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า และจากเหตุปะทะรุนแรงในปี 2555 ในรัฐยะไข่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200 คน และอีกราว 140,000 คน กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ขณะที่ความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิมเกิดขึ้นไปทั่วประเทศจากการขยายตัวของกลุ่มชาตินิยมชาวพุทธหัวรุนแรง

ไม่มีพรรคการเมืองหลักพรรคใด รวมทั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของอองซานซูจี ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งชาวมุสลิมลงแข่งขันในการเลือกตั้ง แม้ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนร้อยละ 5 ของประชากรในประเทศก็ตาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น