Su-27 เอวบางร่างน้อยที่นั่งเดี่ยว นักบินคนเดียว ได้ชื่อเป็นเครื่องบินรบอเนกประสงค์ ที่แคล่วคล่องว่องไว ทำความเร็วได้สะใจ หาตัวจับได้ยากอีกรุ่นหนึ่ง ถึงกระนั้่น Su-34 ก็ยังสามารถไล่กวดติดตาม "สอย" ได้สำเร็จ ด้วยพลังแห่งเครื่องยนต์รุ่นใหม่ แล้วประสาอะไรกับเครื่องบินรบหนักๆ รูปทรงแบบ "ต้นไม้บิน" หรือ "ก้อนอิฐบิน" ของยุโรปตะวันตกและสหรัฐ?
สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวโนวอสติ (RIA Novosti) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายอิกอร์ นาเซ็นคอฟ (Igore Nasenkov) รองผู้อำนวยการใหญ่คนที่ 1 บริษัท Radio-Electronic Technologies Concern หรือ KRET ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มเทคโนโลยีรอสเท็ค (Rostec) รัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้เปิดเผยว่า บริษัทกำลังติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ "ต่อต้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์" (Electronic Countermeasures -ECM) ใน Su-34 ของกองทัพอากาศ ซึ่งล็อตแรกจะเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้
ระบบดังกล่าวจะทำให้เรดาร์ตรวจไกลของฝ่ายตรงข้าม ไม่สามารถตรวจจับ Su-34 ที่กำลังบินเข้าหา นอกจากนั้น ECM ยังจะรบกวนระบบนำวิถีของจรวดต่อสู้อากาศ ที่ข้าศึกยิงเข้าใส่ ทำให้หลงทิศหลงทาง และพลาดเป้า ในทำนองเดียวกันระบบเตือนล่วงหน้าทางอากาศ ที่ติดตั้งบนเครื่องบิน เช่น AWACS (Airborne Warning and Control System) ของสหรัฐ ก็จะไร้ความหมาย
เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ของใหม่ เครื่องบินรบของทุกค่ายล้วนมีอุปกรณ์ ECM ของตัวเอง ด้วยประสิทธิภาพ หรือ คุณภาพสินค้าที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นระบบเรดาร์ตรวจไกลที่ก้าวหน้า ทั้งบนบก บนเรือ กระทั่งชุดที่ติดตั้งบนเครื่องบินรบยุคใหม่ ต่างก็มี "ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์/ต่อต้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์" เช่นกัน แต่การจะทำให้เรดาร์ฝ่ายตรงข้าม "มองไม่เห็น" ตามราคาคุยนั้น เป็นเรื่องทำได้ยาก นอกเสียจากจะเป็นเครื่องบินสเตลธ์ (Stealth) .. ล่องหนได้
อย่างไรก็ตาม ข่าวล่าสุดจากรัสเซีย ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ Su-34 อีกขั้นหนึ่ง
*เป็ดน้อย/ตุ่นปากเป็ด/Fullback* นาโต้เรียก Fullback (หรือ "หลังเต็ม" ตามดีไซน์ส่วนหลัง ที่แตกต่างไปจาก Su-27/30 เล็กน้อย กับในอีกความหมายหนึ่งคือ "กองหลัง" อันหมายถึงเครื่องบินทิ้งระเบิด ที่จะต้องพึ่งพาเครื่องบินขับไล่ในยามออกปฏิบัติการ) แต่ในรัสเซียเองเรียกด้วยความเอ็นดูว่า "เป็ดน้อย" (Duckling) บางคนเรียก "ตุ่นปากเป็ด" (Platypus) ทั้งนี้เนื่องจากส่วนหัว ที่มีรูปลักษณ์แบนๆ คล้ายปากเป็ด และ แตกต่างไปจากเครื่องบินรบ 2 ที่นั่งทั่วไป ที่จัดให้นักบินนั่งเป็นแถวแบบหน้า-หลัง นักบินของ Su-34 นั่งคู่กันข้างหน้าอย่างมีเอกลักษณ์ แบบเดียวกับเครื่องบินทิ้งระเบิดบางรุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่อไหน Su-34 ก็ได้ชื่อเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธวิธี ที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคปัจจุบัน โดยค่ายรัสเซีย
วิดีโอคลิปหลายชิ้นที่เผยแพร่ในช่วงข้ามเดือนมานี้ แสดงให้เห็นระบบการตรวจจับเป้าหมายเบื้องล่างที่แม่นยำ กับ ขีดความสามารถในการใช้อาวุธหลากหลายชนิดพร้อมกัน และ ถึงแม้ว่าภาพเหตุการณ์จากซีเรีย จะเป็นการโจมตีฝ่ายเดียว ไร้การต่อต้านจากพื้นดินโดยสิ้นเชิงก็ตาม วิดีโอคลิปซีรีส์ที่สื่อนำมาเผยแพร่อีกครั้ง ก็ได้แสดงให้เห็นความสามารถในการป้องกันตนเองของ Su-34 เช่นกัน
ดังที่กล่าวมาแล้ว "เปิดน้อย" ออกแบบมาเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด จึงทำจุดติดตั้งหรือ "ฮ็อตพอยต์" ตามใต้ปีกและลำตัว รวม 12 จุด ติดตั้งระเบิด/จรวดนำวิถีโจมตีภาคพื้นดิน จรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ ได้หลากหลายรุ่น ใช้ขุมพลังจากเครื่องยนต์ AL-31F M1 ที่ให้แรงบิดสูงมากจำนวน 2 เครื่อง ทำความเร็วได้สูงสุด 1,900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้สูงสุด 14,650 เมตร ปฏิบัติการได้ไกลกว่า 4,000 กม. หรือ 7,000 กม. เมื่อเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ
ตามข้อมูลของสื่อรัสเซีย Su-34 ลำแรก ขึ้นบินในเดือน เม.ย. 2533 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว แต่กว่าจะเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ก็อีก เกือบ 20 ปีต่อมา คือในปี 2552 โดยเปิดสายการผลิตที่โรงงานอากาศยานโนโวสิเบิร์สค์ (Novosibirsk) ริมฝั่งแม่น้ำอ็อบ (Ob) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นไซบีเรีย ใกล้ชายแดนคาซัคสถาน และ เริ่มส่งมอบให้กองทัพอากาศในเดือน มี.ค.2557
ตามตัวเลขของสำนักข่าวสปุตนิก จนถึงสิ้นปีที่แล้วกองทัพอากาศรัสเซียได้รับมอบ Su-34 รวมทั้งหมด 55 ลำ ในแผนการจัดซื้อทั้งหมด 120 ลำ ภายในปี 2563
.จากซีเรียสู่ตลาดโลก TASS/Sputnik1 2 3 4 5 ดูเหมือนว่า การกำเนิด Su-34 ที่ล่าช้า ทำให้นำมาสู่การผลิต Su-24 ที่เล็กกว่า บินช้ากว่า บรรทุกน้ำหนักได้น้อยกว่า ปฏิบัติการได้ไกล้กว่า ออกมาก่อน และ เพิ่งจะเข้าประจำการได้แค่ 7 ปี รัสเซียมีแผนจะปลด Su-24 ทั้งหมด ในขณะที่ยังมีอีกนับร้อยลำ ประจำการในสาธารณรัฐเพื่อนบ้าน ในเครือโซเวียตเดียวกันเมื่อครั้งอดีต
เมื่อหันมามองใกล้ตัว .. สื่อในรัสเซียทำให้โลกภายนอกรับรู้ มาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าเวียดนามได้ศึกษา Su-34 อย่างละเอียด และ เคยมีการเจรจากันหลายครั้ง ในแผนการจัดหาเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ เพื่อนำเข้าประจำการแทน Su-22 ที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ซึ่งในเวียดนามยังคงใช้บินอยู่นับร้อยลำ
เมื่อเทียบกับ Su-34 ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดยุคที่ 4 สิ่งที่เวียดนามมีอยู่คือ Su-22 ก็เป็นเครื่องบินตกยุค ที่ใช้งานมากว่า 30 ปี การอัปเกรดระบบเอวิโอนิคส์ต่างๆ ไม่คุ้ม ไม่ได้ประสิทธิภาพที่ดี ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดมากกว่านี้ ทั้งจากรัสเซียเองและจากเวียดนาม รวมทั้งยังไม่ทราบเกี่ยวกับจำนวนที่มีการเจรจาซื้อขาย
รัสเซียไม่ได้นำ Su-34 ออกโชว์ในงานดูไบแอร์โชว์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ได้ระดมสรรพกำลังโปรโมตอากาศยานปีกตรึง และ ปีกหมุนหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Su-35 เครื่องบินรบยุคที่ 4++ ที่กำลังฮ็อตในตลาดโลก และ Su-27/30 รุ่นยอดนิยมตลอดกาล เครื่องบินไอพ่นฝึก Yak-130 กับเฮลิคอปเตอร์ Mi-8 และ Mi-24 "กันชิป" ซึ่งเป็นสองพระเอกร้อนๆ จากสมรภูมิซีเรีย เช่นเดียวกันกับ Su-24 Su-25 Su-30 และ Su-34
ไม่กี่ปีมานี้รัสเซียได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์แถวหน้าของโลก นายอนาโตลี อิไซคิน (Amtoli Isaikin) ซีอีโอของโรโซโบรอนเอ็กซ์ปอร์ต (Rosoboronexport) รัฐวิสาหกิจส่งออกอาวุธของกระทรวงกลาโหม ได้เปิดเผยตัวเลขล่าสุด ที่นครรัฐดูไบว่า มูลค่าการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในต่างแดนปีนี้ ทะยานขึ้นสู่ 18,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยังมีสัญญาซื้อขายที่จะเซ็นกันอีกจำนวนหนึ่ง ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี ซึ่งอาจจะทำให้มูลค่าส่งออกอาวุธทั้งปี เพิ่มขึ้นเป็นเกือบๆ 2 หมื่นล้านดอลลาร์
นายอิไซคินให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือน ต.ค.ว่า 15 ปีที่ผ่านมา รัสเซียส่งออกอาวุธรวมเป็นมูลค่า 115,000 ล้านดอลลาร์ อาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการป้องกัน/โจมตีทางอากาศ มากที่สุดคิดเป็น 41% ทางบก 27% และ ทางเรือ 15%
ปัจจุบันรัสเซียเป็นผู้ส่งออกอาวุธใหญ่อันดับ 2 รองจากสหรัฐ แต่ในช่วงปี 2554-2557 ของรัสเซีย มีอัตราการขยายตัวสูงอย่างน่าทึ่งถึง 37% คิดเป็น 27% ของการส่งออกอาวุธทั่วทั้งโลก และ ราวร้อยละ 85 ของอาวุธส่งออกทั้งหมด ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจโรโซโบรอนเอ็กซ์ปอร์ต.