MGRออนไลน์ -- บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น ไทยและลาว ได้ทำพิธีผันน้ำในลำน้ำเข้าสู่ระบบอุโมงค์ใต้ดิน ที่ไซต์ก่อสร้างเขื่อนน้ำเงียบ 1 ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่ขนาด 290 เมกะวัตต์ ที่การก่อสร้างกำลังคืบหน้าไปรวดเร็ว และ เมื่อเริ่มปั่นไฟตามกำหนดต้นปี 2562 จะสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาว ปีละกว่า 22 ล้านดอลลาร์ หรือ กว่า 600 ล้านดอลลาร์ ตลอดอายุสัมปทาน 27 ปี
ต่างไปจากการก่อสร้างเขื่อนอีกหลายต่อหลายแห่งในประเทศนี้ ที่ทำการก่อสร้างเขื่อนทีละซีกซ้าย-ขวา โดยผันทางน้ำไหลสลับข้างกันในฤดูแล้ง โครงการน้ำเงียบ 1 ใช้วิธีผันน้ำจากลำน้ำทั้งสาย เข้าสู่ระบบอุโมงค์คอนกรีตขนาดใหญ่ ความยาว 625 เมตร เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับก่อสร้างหน้าเขื่อน สันเขื่อน รวมทั้งโรงไฟฟ้าทั้งสองโรง ทั้งนี้เป็นรายงานในเว็บไซต์โครงการ
พิธีผันน้ำจัดขึ้นวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลัก กับ โรงไฟฟ้ารองของโครงการ เพื่อติดตั้งกังหันปั่นไฟให้แล้วเสร็จ และ เริ่มผลิตไฟฟ้าตามกำหนด ทั้งเพื่อส่งออกและสนองความต้องการภายในประเทศ
เขื่อนน้ำเงียบ 1 ตั้งอยู่ในท้องที่เมือง (อำเภอ) บอลิคัน บริเวณรอยต่อแขวงบอลิคำไซ กับแขวงไซสมบูน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครเวียงจันทน์ ดำเนินการโดยบริษัทโครงการไฟฟ้าน้ำเงียบ 1 (NNP1) ที่ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ราย ซึ่งได้แก่ บริษัทพลังงานไฟฟ้าคันไซ (Kansai Electric Power) แห่งประเทศญี่ปุ่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว (Laos Holding State Enterprise) ในสังกัดกระทรวงการเงิน การก่อสร้างเริ่มมาตั้งแต้เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว
นายโชจิ สึซูอิ (Shoji Tsutsui) รองผู้อำนวยการบริหาร บริษัทร่วมทุนแห่งนี้กล่าวว่า การผันทางน้ำดังกล่าว สามารถทำได้ก่อนกำหนดเวลา หลังจากการก่อสร้างอุโมงค์แล้วเสร็จ ตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว ก่อนกำหนดเวลาเช่นกัน จนถึงปัจจุบันงานขุดค้นเพื่อก่อสร้างเขื่อนหลัก ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แล้วเสร็จเกือบจะสมบูรณ์ก่อนกำหนด เช่นเดียวกันกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำรองที่อยู่ใต้ลงไป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับระบบอุโมงค์
โครงการประกอบด้วยเขื่อนจำนวน 2 เขื่อน กับโรงไฟฟ้า 2 หลัง โดยเขื่อนหลักเป็นแบบคอนกรีตอัดแรงสูง 148 เมตร ยาวประมาณ 530 เมตร ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาด 67 ตารางกิโลเมตร รวมประมาณ 1,192 ล้านลูกบาศก์เมตร ความลึกเฉลี่ย 74 เมตร อยู่ระหว่างสองแขวงภาคกลาง มีโรงไฟฟ้าหลักขนาด 272 เมกะวัตต์ ที่ประกอบด้วยหน่วยปั่นไฟ 2 หน่อย ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออก และ น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนใหญ่จะส่งไปอ่างเก็บน้ำสำรอง หรือ "เขื่อนเล็ก" กับโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ขนาด 18 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตใช้ในท้องถิ่น
ผู้บริหาร NNP1 เปิดเผยด้วยว่า การก่อสร้างระบบสายส่งขนาด 230 กิโลโวลต์ ความยาวประมาณ 120 กม. ไปยังสถานีย่อยแห่งหนึ่งในแขวงเวียงจันทน์ได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งที่นั่นเป็นจุดส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเพื่อจำหน่ายให้แก่ไทย
ตามรายตัวเลขของ NNP 1ลาวจะมีรายรับจากเขื่อนแห่งนี้ ในรูปภาษีพลังงาน อากรต่างๆ กับเงินปันผลสำหรับหุ้นส่วนของรัฐวิสาหากิจถือหุ้นลาว นอกจากนั้นประชาชนในท้องถิ่น ยังได้รับประโยชน์โดยตรงจากการสร้างงาน การพัฒนาชุมชน สิ่งปลูกสร้างถาวร และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมสะพาน และ ถนนหนทาง เพื่อนำสินค้าการเกษตรออกสู่ตลาดในอนาคต
.
2
ตามตัวเลขในเว็บไซต์โครงการ โครงการน้ำเงียบ 1 ทำให้ต้องอพยพราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวม้ง รวมกันประมาณ 4,000 คน ใน 5 หมู่บ้านออกจากถิ่นอาศัยที่จะถูกน้ำท่วม ไปยังที่ตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ ที่อยู่ริมลำห้วยอีกสายหนึ่ง ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นชาวเมืองห่ม แขวงไซสมบูน
บริษัท NNP1 จ่ายค่าชดเชยให้ราษฎรเหล่านี้ และ ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านเรือแห่งใหม่ ตลอดจนโครงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ในชุมชนแห่งใหม่อีกด้วย
น้ำเงียบ 1 นับเป็นเขื่อนขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในลาว เช่นเดียวกับเขื่อนใหญ่น้อยอีกหลายแห่ง ที่กำลังคืบหน้าไปพร้อมๆ กัน ในแผนการทำให้ประเทศนี้เป็น "แบตเตอรีแห่งอนุภูมิภาค" ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทย ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด
โครงการได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน ในรูปเงินกู้และเงินช่วยเหลือรวม 217 ล้านดอลลาร์ผ่านธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินชั้นนำของญี่ปุ่นจำนวน 2 แห่ง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ JBIC และ จากธนาคารพาณิชย์ของไทยอีก 4 แห่ง.
.
3
4
5