รอยเตอร์ - สำหรับผู้ลี้ภัยจากพม่าที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในไทย การเลือกตั้งครั้งสำคัญในบ้านเกิดก่อให้เกิดความรู้สึกผสมปนเปหลากหลาย ด้วยความหวังว่ารัฐบาลที่เกลียดชังจะพ่ายแพ้ แต่ก็มีความรู้สึกหวาดกลัวถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
โก ชิต อายุ 45 ปี อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลา ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดจากทั้งหมด 9 แห่ง ที่เป็นบ้านของผู้คนนับแสน ระบุว่า เขาต้องการให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้ง วันที่ 8 พ.ย. แต่กังวลว่า หากพรรค NLD ชนะก็อาจเป็นผลให้เขาถูกส่งกลับไปพม่า ในขณะที่พม่ายังไม่ปลอดภัย
“สถานการณ์ยังไม่มั่นคง เราไม่สามารถเดินทางกลับไปได้เพราะการสู้รบ และการกดขี่ข่มเหง หากไม่มีหน่วยงาน NGO ให้การสนับสนุนพวกเราที่นั่น อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยคงจะดีกว่า” โก ชิต กล่าว
สำหรับหลายคนที่พูดคุยกับรอยเตอร์ เริ่มแสดงความรู้สึกหวาดกลัวว่า หากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งจะทำให้ไทยประกาศว่าพม่าปลอดภัยให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับ และปิดค่ายผู้ลี้ภัย
ผู้ลี้ภัยบางส่วนอาศัยอยู่ในค่ายนานกว่า 30 ปี โดยเกือบ 80% เป็นชาวกะเหรี่ยงจากภาคตะวันออกของพม่าที่หลบหนีการต่อสู้ และมักถูกกดขี่ข่มเหงจากกองทัพในระหว่างการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร
ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐบาลพม่าไม่ได้มาอย่างง่ายดาย รัฐบาลกึ่งพลเรือนครองอำนาจอยู่ในตอนนี้ หลังรัฐบาลทหารยกอำนาจให้ในปี 2554 ที่นำมาซึ่งการปฏิรูป แต่บุคคลอาวุโสส่วนใหญ่ในพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ต่างเป็นอดีตนายพล นอกจากนั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญของพม่า ทหารครองที่นั่งร้อยละ 25 ในรัฐสภาไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร และกองทัพยังคงควบคุมอำนาจที่เกี่ยวข้องต่อความมั่นคงของประเทศ
ไม่มีใครในค่ายผู้ลี้ภัยสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่สิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้คือ ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศที่ลงนามกันระหว่างรัฐบาลพม่า และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม เมื่อเดือนก่อน
.
.
“การสิ้นสุดการสู้รบ การถอนกำลังทหาร และความปลอดภัยของการถือครองที่ดิน สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงื่อนไขบางส่วนที่ผู้ลี้ภัยต้องการหากผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศ แต่ไม่มีพรรคไหนสามารถรับประกันได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้นี้” แซลลี่ ทอมป์สัน ผู้อำนวยการบริหารองค์กร The Border Consortium องค์กรเอ็นจีโอที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย-พม่า ที่ประสานงานในค่ายผู้ลี้ภัย กล่าว
สำหรับผู้ลี้ภัย การเดินทางกลับประเทศนั้นไม่ใช่ตัวเลือก อย่างน้อยก็สำหรับตอนนี้
“เรากลัว เราไม่มีที่ให้กลับไป กองทัพยังอยู่ในหมู่บ้าน” อู เซ ฮา อายุ 66 ปี ที่อาศัยอยู่ในค่ายแม่ลา กล่าว
ไทยไม่มีกรอบระยะเวลาสำหรับการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัย ตามการระบุของโฆษกรัฐบาลไทย
“เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งพม่า ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร หากประเทศสงบสุข เราจะสนับสนุนให้พวกเขาเดินทางกลับ” โฆษกรัฐบาลไทย กล่าว
ไทยยังไม่ได้ลงนามสนธิสัญญาเจนีวา 1951 ที่เกี่ยวข้องต่อสถานะของผู้ลี้ภัย หรือกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย แต่เมื่อพม่าเปิดประเทศ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับด้วยเป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผล
เพียงไม่กี่เดือนหลังรัฐบาลทหารขึ้นบริหารประเทศในปี 2557 ไทยระบุว่า จะส่งผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยกลับประเทศ อันเป็นความเคลื่อนไหวที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า อาจนำมาซึ่งความวุ่นวาย
หัวหน้าองค์กรป้องกันตนเองแห่งชาติกะเหรี่ยง ที่เป็นกองกำลังของ KNU ที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐกะเหรี่ยง กล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าข้อตกลงหยุดยิงที่กลุ่มได้เข้าร่วมลงนามด้วยนั้นจะหยุดชะงัก แต่ชี้ว่าหากผู้ลี้ภัยกลับเข้ามาในพม่า และมีบางอย่างเกิดขึ้นก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนเหล่านั้นที่จะย้ายออกไปอีก.